คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1603/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คพิพาท เนื่องจากโจทก์มิได้ปฏิบัติตามข้อตกลงในเรื่องหนี้สินที่ให้ไว้กับจำเลยยังถือไม่ได้ว่า จำเลยกระทำโดยเจตนาทุจริต การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 จำคุกหนึ่งปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยออกเช็คสั่งจ่ายเงินให้โจทก์รวม 5 ฉบับ เป็นการชำระหนี้ค่าหุ้น ของบริษัทประมงยานนาวา จำกัด เช็ค 3 ฉบับแรก โจทก์นำเข้าเรียกเก็บเงินเรียบร้อยแล้ว เช็คพิพาทในคดีนี้คือเช็คที่เหลือตามเอกสารหมาย จ.3 เป็นเช็คของธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาบางนา จำนวนเงิน 500,000 บาท สั่งจ่ายวันที่ 1 เมษายน 2527 โจทก์นำเข้าเรียกเก็บเงินเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2527 ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโดยอ้างเหตุว่ายังไม่มีการตกลงกับธนาคาร มีปัญหาในชั้นนี้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ โจทก์เบิกความว่า จำเลยจ่ายเช็คพิพาทให้เพื่อชำระหนี้ค่าหุ้นบริษัทประมงยานนาวาจำกัด สำหรับเช็คพิพาทนี้เมื่อถึงกำหนดวันสั่งจ่าย โจทก์นำเข้าเรียกเก็บเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยให้เหตุผลว่ายังไม่มีการตกลงกับธนาคาร ได้ความจากนายวิสุทธิ์ เหลี่ยมรังสี ผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาบางนา พยานโจทก์ว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดสิทธิพรเอ็นจิเนียริ่ง ของจำเลยเป็นลูกหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด หากนำเช็คตามเอกสารหมาย จ.3 มาเรียกเก็บเงินหรือถอนเงินจากธนาคาร ถ้าจำเลยยินยอมให้จ่ายเงินตามเช็คดังกล่าวได้ ธนาคารก็จะจ่ายเงินตามเช็คให้ เพราะธนาคารมีเครดิตพิเศษ ที่จะจ่ายเงินให้ตามบัญชีของห้างจำเลยเพราะจำเลยเป็นลูกค้าที่ได้รับความเชื่อถือจากธนาคาร ขณะที่มีการนำเช็คเอกสารหมาย จ.3 มาเรียกเก็บเงินกับธนาคาร ทางธนาคารสอบถามไปยังจำเลยแต่จำเลยไม่ยินยอมให้จ่ายเงินตามเช็คดังกล่าว โดยอ้างว่ายังตกลงกันในเรื่องหนี้สินไม่เรียบร้อยจึงฟังได้ว่าเหตุที่ธนาคารไม่ยอมจ่ายเงินตามเช็คพิพาทนั้น มิใช่เงินในบัญชีจำเลยไม่มีหรือมีไม่พอจ่าย จำเลยมีสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคาร ที่ธนาคารไม่ยอมจ่าย จำเลยมีสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคาร ที่ธนาคารไม่ยอมจ่ายเงินเพราะจำเลยสั่งระงับการจ่ายไว้ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คพิพาทนั้นจำเลยกระทำโดยทุจริตหรือไม่ จำเลยเบิกความว่า โจทก์ขายหุ้นให้จำนวน1,998 หุ้น เป็นเงิน 3,998,000 บาท และโจทก์บอกว่าการค้าของโจทก์กำลังมีกำไรดี ลูกหนี้ของบริษัทมีทั้งหมดประมาณ 5,700,000 บาทเศษโดยโจทก์จะติดตามทวงหนี้ให้ เพราะเป็นคนเก่าแก่ทั้งนั้น จำเลยคำนวณแล้วว่าบริษัทโจทก์มีทรัพย์สินเป็นเงินประมาณ 7,000,000 บาทเศษแต่มีหนี้สินอยู่ประมาณ 800,000 บาทเท่านั้น โจทก์นำรายการทรัพย์สินลูกหนี้เจ้าหนี้ตามเอกสารหมาย ล.4 มาให้ดูด้วย ซึ่งทรัพย์สินของโจทก์มีเพียงบัญชีเจ้าหนี้ โจทก์รับว่าจะเรียกหนี้ให้เพราะเป็นคนที่โจทก์รู้จักดี เมื่อซื้อหุ้นแล้วโจทก์ไม่ติดตามเก็บหนี้ให้จำเลยคิดจะเลิกสัญญา แต่โจทก์ว่าจะช่วยจัดการเรื่องเงินและช่วยสอนงานให้บุตรจำเลย ต่อมาการเงินติดขัดจำเลยคิดจะขายหุ้นโจทก์นำนายชาญชัย (ไม่ทราบนามสกุล) และนายเทียม คูเกษมรัตน์มาซื้อหุ้น ของจำเลยทั้งหมด โดยโจทก์รับว่าจะจัดการเรื่องเงินค่าหุ้นและเมื่อรับเงินค่าหุ้นดังกล่าวแล้ว โจทก์จะคืนเช็คพิพาทกับเงินส่วนที่เหลือให้จำเลย แต่โจทก์ไม่ยอมคืนเช็คดังกล่าวโดยอ้างว่านายชาญชัยและนายเทียม ยังไม่จ่ายเงินให้ ในที่สุดพลตำรวจโทจำรัส มังคลารัตน์ เข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยให้ได้ ตกลงกันว่านายชาญชัยและนายเทียมจะจ่ายเงินให้โจทก์เป็นของโจทก์1,000,000 บาท ส่วนที่เหลือโจทก์จะมอบให้จำเลย เมื่อมีการตกลงดังกล่าวแล้วจำเลยจึงแจ้งธนาคารไม่ให้จ่ายเงินตามเช็คพิพาทเพราะการคิดบัญชียังไม่เรียบร้อย ได้ความจากพลตำรวจโทจำรัส มังคลารัตน์พยานจำเลยว่า พยานเคยพบนายเทียมและนายชาญชัย คนทั้งสองบอกว่าได้รับโอนหุ้น จากจำเลยแล้ว แต่ยังไม่ได้ชำระเงินค่าหุ้นโจทก์เคยบอกพยานว่านายเทียมและนายชาญชัย เป็นผู้มีความสามารถในการบริหารงานให้บริษัทต่อไปได้ จึงแนะนำให้มาซื้อหุ้นจากจำเลยและโจทก์จะจัดการเกี่ยวกับเรื่องเงินค่าหุ้นให้เรียบร้อย ทางพิจารณาได้ความว่าเมื่อจำเลยซื้อหุ้นบริษัทประมงยานนาวา จำกัด แล้ว โจทก์ยังคงเกี่ยวข้องกับบริษัทดังกล่าวตลอดมาจนกระทั่งเกิดเหตุคดีนี้เชื่อว่าในการที่จำเลยรับซื้อหุ้นจากโจทก์ เนื่องจากบริษัทดังกล่าวมีทรัพย์สินประมาณ 7 ล้านบาทเศษจริง แต่หาได้มีทรัพย์สินเป็นเงินสดไม่ คงมีแต่จำนวนเงินตามบัญชีที่บริษัทเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้อยู่ตามรายการในเอกสารหมาย ล.4 จึงเชื่อว่าถ้าโจทก์ไม่ให้คำรับรองว่าจะจัดการเรียกเก็บหนี้สินตามบัญชีดังกล่าวให้แล้ว จำเลยคงไม่ยอมซื้อหุ้นโจทก์ แต่ในที่สุดโจทก์ก็จัดการเรียกหนี้ให้ไม่ได้ต่อมาโจทก์จัดการขายหุ้นบริษัทดังกล่าวของจำเลยให้นายเทียมและนายชาญชัยก็เก็บเงินค่าหุ้นให้จำเลยไม่ได้อีกถือว่าโจทก์มิได้ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ให้ไว้ ทำให้จำเลยเสียหายเพราะเรียกหนี้สินตามบัญชี เอกสารหมาย ล.4 ไม่ได้ และเรียกเงินค่าหุ้นจากนายเทียมและนายชาญชัยก็ไม่ได้อีก ดังนั้น การที่จำเลยห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คพิพาทนั้น ยังถือไม่ได้ว่า จำเลยกระทำโดยเจตนาทุจริตการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามโจทก์ฟ้องที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share