แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นบุคคลต่างด้าวสัญชาติอเมริกัน โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทให้กลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 ดังเดิม และเรียกค่าเสียหายหากไม่สามารถทำได้ก็ขอให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ไม่ใช่ฟ้องขอให้โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท แม้ตามฟ้องโจทก์จะบรรยายถึงกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในที่ดินพิพาทและโจทก์เป็นคนต่างด้าวก็ตาม โจทก์ก็มีสิทธิในส่วนของตน เพราะตามประมวลกฎหมายที่ดินมิได้ห้ามขาดไม่ให้คนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน เป็นแต่เพียงต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและวิธีการซึ่งกำหนดโดยกฎกระทรวงและต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น และในกรณีที่คนต่างด้าวได้ที่ดินมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้คนต่างด้าวนั้นจัดการจำหน่ายภายในเวลาที่อธิบดีกำหนดให้ถ้าไม่จำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่กำหนด ให้อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้นตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 94แสดงว่าแม้จะเป็นคนต่างด้าวก็สามารถมีสิทธิในที่ดินได้โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง โจทก์กับจำเลยที่ 1 อยู่ระหว่างการทดลองใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน ต่อมาได้มีพิธีสมรสตามประเพณีไทย แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรส ถือว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ซื้อที่ดินพิพาท โดยเงินส่วนหนึ่ง ญาติผู้ใหญ่ให้ไว้ในวันแต่งงานเงินดังกล่าวได้มาขณะอยู่ร่วมกัน โจทก์ย่อมมีส่วนด้วยอีกส่วนหนึ่งยืมจากมารดาโจทก์ และเงินอีกส่วนหนึ่งกู้ยืมจากธนาคาร โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้ โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ซึ่งโจทก์ช่วยผ่อนชำระแก่ธนาคารจนหมดแล้ว ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่เกิดจากการทำมาหากินร่วมกัน โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรวมแม้จำเลยที่ 1จะมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดแต่ผู้เดียว จำเลยที่ 1ก็ไม่มีอำนาจขายโดยโจทก์ไม่ยินยอม การที่จำเลยที่ 1 แจ้งข้อความแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่าจำเลยที่ 1 เป็นหญิงหม้ายเจ้าพนักงานที่ดินจึงจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2ถึงที่ 4 โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยที่ 2 อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาตั้งแต่ปี 2515 และจดทะเบียนสมรสเมื่อปี 2519จำเลยที่ 5 เป็นเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี สาขาธัญบุรีจำเลยที่ 6 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย สังกัดกระทรวงมหาดไทยโดยมีจำเลยที่ 7 เป็นอธิบดีซึ่งมีอำนาจกระทำการแทน ระหว่างที่โจทก์และจำเลยที่ 1 อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาโจทก์ประกอบอาชีพรับจ้างมีรายได้เดือนละหลายหมื่นบาท ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 8 ไร่ เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 24898ตำบลบึงยี่โถ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ซึ่งมีเนื้อที่40 ไร่ โจทก์จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกันซื้อมาเมื่อปี 2515 ในราคา700,000 บาท โดยจดทะเบียนโอนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ เนื่องจากโจทก์มิได้สัญชาติไทยไม่สามารถถือเอากรรมสิทธิ์ที่ดินได้ ต่อมาเมื่อประมาณต้นปี 2531 จำเลยที่ 1ถึงที่ 5 ได้ร่วมกันฉ้อฉลโจทก์โดยจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ผู้ซื้อและได้ระบุข้อความอันเป็นเท็จว่า จำเลยที่ 1 เป็นหม้าย ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการที่จะต้องขอความยินยอมจากโจทก์ จำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไป 8 ไร่ ต่ำกว่าราคาที่แท้จริงเป็นเงิน 2,400,000 บาท ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเป็นเงิน 400,000 บาท จำเลยที่ 6 ในฐานะที่เป็นต้นสังกัดของจำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 7 ฐานะผู้บังคับบัญชาโดยตรงของจำเลยที่ 5 จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาท โดยให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวกลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 ดังเดิม กับให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 400,000 บาท หากไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกลับคืนมายังจำเลยที่ 1 ได้ก็ให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน1,000,000 บาท
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากโจทก์เป็นบุคคลต่างด้าว ไม่สามารถถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทได้การที่โจทก์ใส่ชื่อบุคคลอื่นถือกรรมสิทธิ์แทนจึงหาก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์แต่อย่างใดไม่ จำเลยที่ 1 และโจทก์ได้จดทะเบียนสมรสกันในปี 2519 แต่ก่อนหน้านั้นโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงทดลองใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน แต่มิได้แสวงหาทรัพย์สินมาเป็นสมบัติร่วมกัน กล่าวคือต่างฝ่ายต่างประกอบอาชีพและมีรายได้ของตนโดยไม่ต้องเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 24898เป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ที่ร่วมกับบุคคลผู้มีชื่อซื้อมาเมื่อปี 2515 การจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4จึงไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ การบันทึกการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมจะระบุว่าจำเลยที่ 1 เป็นหม้ายหรือไม่ จึงหาใช่สาระสำคัญไม่ ทั้งเป็นการเข้าใจผิดของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากขณะนั้นจำเลยที่ 1 กำลังฟ้องหย่าขาดกับโจทก์ที่ศาลจังหวัดธัญบุรีอยู่ การจดทะเบียนโอนขายได้ดำเนินการไปโดยชอบด้วยกฎหมายและสุจริตแล้ว จำเลยที่ 1 ขายที่ดินในราคาท้องตลาดและเป็นราคาพอสมควรแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซื้อที่พิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต ชำระราคาตามราคาท้องตลาดในขณะนั้น และได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว จึงไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแต่เพียงผู้เดียว โจทก์ซึ่งเป็นตัวการจึงย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตนั้นด้วย การที่โจทก์ปล่อยให้จำเลยที่ 1 แสดงตนเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทเพียงคนเดียว จึงทำให้เกิดเหตุคดีนี้ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ให้การว่า การจดทะเบียนนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาทคดีนี้ จำเลยที่ 5 มิได้ดำเนินการ แต่เป็นเจ้าหนี้ที่ผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการและจากการตรวจสอบกรรมสิทธิ์โฉนดที่ดินพิพาทปรากฏว่าเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1การจดทะเบียนทำโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายจำนวน 1,000,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยุติว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1รู้จักกันเมื่อประมาณปี 2510 ขณะนั้นจำเลยที่ 1 เรียนจบชั้นปริญญาตรี ส่วนโจทก์เป็นเพื่อนกับอาจารย์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ไปศึกษาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โจทก์เข้าศึกษาต่อเช่นกันจึงติดต่อกันตลอดมาและรักใคร่กันฉันชู้สาวจนกระทั่งในปี 2514จำเลยที่ 1 จบการศึกษาแล้วเดินทางกลับประเทศไทย ครั้นเมื่อวันที่14 กรกฎาคม 2515 โจทก์เดินทางมาประเทศไทยและเข้าพิธีสมรสกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 22 เดือนเดียวกัน ต่อมาในวันที่ 14ธันวาคม 2515 ได้มีการซื้อที่ดินตามโฉนดที่ดินหลายแปลงรวมทั้งที่ดินพิพาท สำหรับที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2530 ในราคาไร่ละ200,000 บาท รวม 8 ไร่ เป็นเงิน 1,600,000 บาท โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนสมรสกับเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2519และอยู่ด้วยกันโดยปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมา มีบุตรด้วยกัน2 คน หลังจากคลอดบุตรสาวคนที่สองแล้วโจทก์กับจำเลยที่ 1 ก็ทะเลาะกันตลอดมาและต่างก็แยกกันอยู่จนกระทั่งปัจจุบัน คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 เพียง 2 ข้อ คือ(1) อำนาจฟ้อง และ (2) โจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทและโจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของในที่ดินพิพาทหรือไม่ ที่จำเลยที่ 1ฎีกาในประเด็นข้อ 1 ว่า โจทก์เป็นบุคคลต่างด้าวสัญชาติอเมริกันโจทก์มิได้มีสัญชาติไทย ไม่สามารถถือกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ การที่โจทก์จดทะเบียนใช้ชื่อผู้อื่นแทนโจทก์จึงหาก่อให้โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาทแต่ประการใดไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทให้กลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 ดังเดิม และเรียกค่าเสียหาย หากไม่สามารถทำได้ก็ขอให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ หาใช่ฟ้องขอให้โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทไม่ แม้ตามฟ้องโจทก์จะบรรยายถึงกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในที่ดินพิพาทและโจทก์เป็นคนต่างด้าวก็ตาม โจทก์ก็มีสิทธิในส่วนของตนเพราะตามประมวลกฎหมายที่ดินมิได้ห้ามขาดไม่ให้คนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน เป็นแต่เพียงต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและวิธีการซึ่งกำหนดโดยกฎกระทรวง และต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น และในกรณีที่คนต่างด้าวได้ที่ดินมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้คนต่างด้าวนั้นจัดการจำหน่ายภายในเวลาที่อธิบดีกำหนดให้ ถ้าไม่จำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่กำหนดให้อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้นตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 94 แสดงว่าแม้จะเป็นคนต่างด้าวก็สามารถมีสิทธิในที่ดินได้โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
สำหรับประเด็นข้อ (2) จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1ซื้อที่ดินพิพาทมาก่อนทำการจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ และด้วยเงินของจำเลยที่ 1 เอง ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทนั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงได้ความว่า ได้มีการซื้อที่ดินพิพาทขณะที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 อยู่กินด้วยกันแล้ว แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าเป็นการทดลองใช้ชีวิตคู่ร่วมกันเพื่อศึกษาดูนิสัยว่าสามารถจะอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้หรือไม่ก็ตาม แต่ก็ได้มีพิธีสมรสตามขนบธรรมเนียมประเพณีกันแล้ว เพียงแต่ยังมิได้จดทะเบียนสมรสเท่านั้นจึงถือว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1เป็นสามีภริยากันโดยมิได้จดทะเบียนสมรสก่อนการซื้อที่ดินพิพาทแล้ว ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากการทำมาหากินร่วมกัน โดยส่วนหนึ่งในการชำระค่าที่ดินจำนวน 100,000 บาทญาติผู้ใหญ่ให้ในวันแต่งงาน ซึ่งจำเลยที่ 1 อ้างว่าญาติให้จำเลยที่ 1 โดยเสน่หาเพื่อซื้อที่ดินถึงอย่างไรก็ตาม เงินจำนวนดังกล่าวเป็นการได้มาขณะอยู่ร่วมกัน โจทก์ย่อมมีส่วนด้วย เงินอีกจำนวน 25,000 บาท เหรียญสหรัฐอเมริกา ยืมจากมารดาโจทก์และมีเงินส่วนที่กู้จากธนาคารกรุงเทพ จำกัด เพื่อให้ได้เงินมาในการชำระค่าที่ดิน โดยจำเลยที่ 1 จะเป็นผู้กู้ โจทก์ก็เป็นผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมซึ่งโจทก์ช่วยผ่อนชำระเงินแก่ธนาคารจนหมดสิ้นแล้ว จึงแสดงว่าโจทก์มีส่วนร่วมรับผิดในการกู้ยืมเงินดังกล่าว ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรวม แม้จำเลยที่ 1 จะมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดแต่ผู้เดียว จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีอำนาจขายโดยโจทก์ไม่ยินยอม การที่จำเลยที่ 1 แจ้งข้อความแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่าจำเลยที่ 1 เป็นหญิงหม้าย เจ้าพนักงานที่ดินจึงจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
พิพากษายืน