แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ที่ดินของโจทก์ทั้งห้าเป็นที่ดินมือเปล่า ซึ่งได้ครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องจากผู้ครอบครองเดิมตลอดมาก่อน ประมวลกฎหมายที่ดินฯใช้บังคับ แต่โจทก์ทั้งห้ามิได้แจ้งการครอบครองไว้ แม้ภายหลังจะมีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ออกมายกเลิกความใน มาตรา 5 วรรคสองแห่ง พระราชบัญญัติ ให้ใช้ ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 แต่ก็ไม่มีผลบังคับย้อนหลัง โจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีสิทธิครอบครองขึ้นมาใหม่เว้นแต่จะเข้าหลักเกณฑ์ตาม มาตรา 58 ทวิ,59 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินฯ และระเบียบของคณะกรรมการจัดสรรที่ดินแห่งชาติฉบับที่ 2(พ.ศ. 2515) หมวด 2 ข้อ 4 ซึ่งเป็นกรณีมีเหตุสมควรและไม่มีเจตนาฝ่าฝืน เมื่อโจทก์ทั้งห้าอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของตนซึ่งได้ครอบครองต่อเนื่องจากผู้ครอบครองเดิมตลอดมา แม้มิได้แจ้งการครอบครองไว้แต่ก็ยังมีสิทธิครอบครองอยู่ตาม ประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 58 ทวิและ 59 ทวิ และได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยเพื่อขอให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งห้า จำเลยทั้งสามโต้แย้งว่าที่ดินโจทก์ทั้งห้าครอบครองเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและไม่ยอมออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งห้าย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งห้าแล้วโจทก์ทั้งห้าจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม
ย่อยาว
คดีห้าสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 โจทก์สำนวนที่สองว่าโจทก์ที่ 2โจทก์สำนวนที่สามว่า โจทก์ที่ 3 โจทก์สำนวนที่สี่ว่า โจทก์ที่ 4 และโจทก์สำนวนที่ห้าว่า โจทก์ที่ 5
โจทก์ทั้งห้าสำนวนฟ้องเป็นใจความทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งห้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินมือเปล่า ซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ 7ตำบลนอกเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ต่อเนื่องกันจากผู้ครอบครองเดิมซึ่งครอบครองมาเป็นเวลาหลายปีก่อนพระราชบัญญัติการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่า พ.ศ. 2478 และประมวลกฎหมายที่ดินพ.ศ. 2497 ใช้บังคับโจทก์ทั้งห้าขอให้จำเลยที่ 3 ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งห้า จำเลยที่ 3 ไม่ยอมออกให้โจทก์ทั้งห้าจึงขอให้จำเลยที่ 2 ออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งห้าจำเลยที่ 2 ไม่ยอมออกให้ ต่อมาจำเลยทั้งสามร่วมกันออกคำสั่งให้โจทก์ทั้งห้าออกไปจากที่ดินโดยอ้างว่าที่ดินของโจทก์ทั้งห้าอยู่ในเขตทุ่งทำเลเลี้ยงสัตว์นับเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งห้า ขอให้พิพากษาว่า ที่ดินตามฟ้องเป็นของโจทก์ทั้งห้า ให้จำเลยทั้งสามออกเอกสารสิทธิในที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งห้า ให้ขับไล่จำเลยทั้งสามและห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ทั้งห้า
จำเลยทั้งสามให้การและฟ้องแย้งทั้งห้าสำนวนเป็นใจความว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของทุ่งทำเลเลี้ยงสัตว์ป่าหนองพลวงหนองโดนสุด หนองโกดกง อันเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกันพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่เคยอนุญาตให้โจทก์ทั้งห้าหรือผู้หนึ่งผู้ใดเข้าจับจองครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ทั้งห้ามิได้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาททั้งมิได้แจ้งการครอบครองที่ดินภายใน 180 วัน นับแต่ประมวลกฎหมายที่ดินฯ ใช้บังคับ ขอให้ยกฟ้อง และขับไล่โจทก์ทั้งห้าและบริวารออกจากที่ดินพิพาท ให้โจทก์ทั้งห้าจัดการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และการทำประโยชน์ต่าง ๆ ออกไปจากที่ดินด้วย
โจทก์ที่ 1, ที่ 2, ที่ 3 และที่ 5 ให้การแก้ฟ้องแย้งเป็นใจความว่า จำเลยทั้งสามมิได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่า ที่สาธารณะทุ่งทำเลเลี้ยงสัตว์มีประกาศลงวัน เดือน ปีใด มีอาณาเขตติดต่ออย่างไร มีเนื้อที่เท่าใด และตั้งอยู่ตำบลใดในเขตอำเภอเมืองสุรินทร์ จึงเป็นฟ้องแย้งที่เคลือบคลุม ไม่เคยมีประกาศให้ที่ดินพิพาทเป็นทุ่งทำเลเลี้ยงสัตว์ จำเลยทั้งสามจึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้งให้ขับไล่โจทก์ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสาม
โจทก์ที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ที่ 1, ที่ 3 และที่ 5ถึงแก่ความตายศาลชั้นต้นอนุญาตให้นางขจี สุทธิโยธา นายภูริญาณยวงทอง และนางวรรณี สติมั่น เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ดังกล่าวตามลำดับ
ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ 2 ปาก เห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้จึงมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยแล้ววินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ แม้โจทก์ทั้งห้าจะครอบครองที่ดินมาก่อนประมวลกฎหมายที่ดินฯ ใช้บังคับแต่โจทก์ทั้งห้ามิได้แจ้งการครอบครองภายในกำหนดเวลาที่พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินฯมาตรา 5 บัญญัติไว้ โจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทโดยชอบ ไม่อาจอ้างการครอบครองใช้ยันจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐได้ โจทก์ทั้งห้าไม่มีอำนาจฟ้องและฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสามย่อมตกตามไปด้วย พิพากษายกฟ้องของโจทก์ทั้งห้าและยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสาม
โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์ทั้งห้าและจำเลยทั้งสามต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เบื้องต้นว่า โจทก์ทั้งห้าฟ้องว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าเป็นของโจทก์ทั้งห้าซึ่งได้ครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องจากผู้ครอบครองเดิมตลอดมาก่อนประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ใช้บังคับแต่โจทก์ทั้งห้ามิได้แจ้งการครอบครองไว้ โจทก์ทั้งห้าได้ยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 2และที่ 3 ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งห้าแต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ยอมออกให้ ต่อมาจำเลยทั้งสามกลับร่วมกันออกคำสั่งให้โจทก์ทั้งห้าออกไปจากที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าที่ดินของโจทก์ทั้งห้าอยู่ในเขตทุ่งทำเลเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นที่สาธารณประโยชน์ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสามฎีกาในประการแรกว่าเมื่อโจทก์ทั้งห้าไม่แจ้งการครอบครองที่ดินตามที่กฎหมายกำหนดจึงถือว่าโจทก์ทั้งห้าเจตนาสละการครอบครองที่ดินนั้น แม้ภายหลังจะมีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 ลงวันที่29 กุมภาพันธ์ 2515 ออกมายกเลิกความในมาตรา 5 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ก็ตามก็ไม่มีผลบังคับย้อนหลัง โจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีสิทธิครอบครองขึ้นมาใหม่ โจทก์ทั้งห้าจะมีสิทธิในที่ดินได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ทั้งห้าอยู่ในหลักเกณฑ์ตามมาตรา 58 ทวิ, 59 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินและระเบียบของคณะกรรมการจัดสรรที่ดินแห่งชาติ ฉบับที่ 2(พ.ศ. 2515) หมวด 2 ข้อ 4 เท่านั้น ซึ่งระบุไว้ว่าการไม่แจ้งการครอบครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินพ.ศ. 2497 มีเหตุอันสมควรและไม่มีเจตนาฝ่าฝืนกฎหมายแต่ประเด็นนี้พยานโจทก์เบิกความขัดต่อเหตุผลและข้อเท็จจริงแสดงว่าโจทก์มีเจตนาฝ่าฝืนกฎหมายไม่แจ้งการครอบครองที่ดินตามแบบ ส.ค.1จึงน่าเชื่อว่าที่พิพาทมิใช่ที่ดินของโจทก์ทั้งห้าแต่เป็นทุ่งทำเลเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์จึงไม่มีสิทธิใด ๆในที่ดินพิพาทนั้น ปัญหานี้ ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 5 วรรคสอง ซึ่งใช้อยู่ในขณะที่โจทก์ทั้งห้ามิได้แจ้งการครอบครองที่ดินพิพาท บัญญัติว่าถ้าผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินซึ่งมีหน้าที่แจ้งการครอบครองที่ดิน ไม่แจ้งภายในระยะเวลาตามที่ระบุไว้ในวรรคแรก ให้ถือว่าบุคคลนั้นเจตนาสละสิทธิครอบครองที่ดิน รัฐมีอำนาจจัดที่ดินดังกล่าวตามบทแห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ศาลฎีกาเห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวเป็นแต่เพียงกำหนดให้รัฐมีอำนาจจัดที่ดินของผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับซึ่งมีหน้าที่แจ้งการครอบครองที่ดิน แต่ไม่แจ้งการครอบครองภายในกำหนดก็เพื่อให้รัฐเข้าไปจัดที่ดินตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายที่ดินได้โดยผู้ครอบครองและทำประโยชน์ดังกล่าวไม่อาจยกการครอบครองและทำประโยชน์ดังกล่าวขึ้นยันรัฐหรือยันบุคคล ผู้ได้สิทธิมาจากรัฐในการจัดที่ดินเท่านั้น การไม่แจ้งการครอบครองที่ดินหาทำให้ผู้ครอบครองเสียไปซึ่งสิทธิครอบครองไม่ ตราบใดที่รัฐยังมิได้เข้าจัดที่ดินนั้นแล้วผู้นั้นย่อมมีสิทธิครอบครองอยู่ ครั้นต่อมามีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดินโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2515 มาตรา 58 ทวิ และมาตรา 59 ทวิได้บัญญัติให้ผู้ครอบครองที่ดินมาก่อนใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน แต่มิได้แจ้งการครอบครองไว้ รวมทั้งผู้ครอบครองต่อเนื่องจากบุคคลดังกล่าวมีสิทธิขอให้ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้เมื่อมีการเดินสำรวจรังวัดในท้องที่นั้นหรือเมื่อมีความจำเป็นก็อาจขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นการเฉพาะรายก็ได้ฉะนั้นเมื่อโจทก์ทั้งห้าในคดีนี้ฟ้องอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของตนซึ่งได้ครอบครองต่อเนื่องจากผู้ครอบครองเดิมตลอดมาแม้มิได้แจ้งการครอบครองไว้แต่ยังมีสิทธิครอบครองอยู่จึงได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยเพื่อให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งห้า จำเลยทั้งสามโต้แย้งว่าที่ดินที่โจทก์ทั้งห้าครอบครองเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและไม่ยอมออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งห้า เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งห้าแล้ว โจทก์ทั้งห้าจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามได้ ประกอบกับคดีนี้ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่ศาลชั้นต้นจะต้องวินิจฉัยต่อไปอีก ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งห้าไม่มีอำนาจฟ้องและพิพากษาคดีไปนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้นโดยไม่ต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาข้ออื่นอีกต่อไป”
พิพากษายืน