คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1119/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยได้รับอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์มา 2 ครั้งแล้วจำเลยไม่ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนด หลังจากครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ 2 วันทนายจำเลยมายื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เป็นครั้งที่ 3อ้างว่า วันสุดท้ายที่ครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ทนายจำเลยได้เขียนอุทธรณ์เสร็จแล้วในตอนเช้าและเกิดท้องร่วงกะทันหัน แพทย์ให้พักรักษาตัว2 วัน ไม่สามารถติดต่อจำเลยและเสมียนทนายจำเลยได้ โดยไม่ปรากฏว่าทนายจำเลยได้แนบสำเนาอุทธรณ์มาด้วยเพื่อเป็นหลักฐานแสดงต่อศาลว่าได้ทำอุทธรณ์เสร็จแล้วจริง ทั้งปรากฏว่าตามคำร้องฉบับดังกล่าวได้ขออนุญาตให้ศาลขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 3 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งอนุญาต จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าทนายจำเลยยังทำอุทธรณ์ไม่เสร็จในวันครบกำหนด อีกทั้งปรากฏว่าคดีนี้ยังมีทนายจำเลยอีกคนหนึ่งซึ่งสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ กรณีของทนายจำเลยดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่ามีเหตุสุดวิสัย จึงไม่สามารถขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากตึกแถว และเรียกค่าเสียหาย จำเลยให้การต่อสู้ว่ายังไม่ครบกำหนดอายุสัญญาเช่าและเป็นสัญญาเช่าต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2533 ให้ขับไล่จำเลยและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งจะครบกำหนดอุทธรณ์ในวันที่28 มกราคม 2534
ก่อนครบกำหนดอุทธรณ์ ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์รวม 2 ครั้ง อ้างเหตุว่าคำพิพากษายังพิมพ์ไม่เสร็จ ศาลอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์มีกำหนดครั้งละ 10 วัน และจะครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2534 ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์หยุดราชการ จำเลยจึงมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2534ได้เป็นวันสุดท้าย ต่อมาวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2534 ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์อีกเป็นครั้งที่สาม อ้างว่าป่วย
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่าที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลาอุทธรณ์นั้นชอบหรือไม่ พิเคราะห์แล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23การขยายหรือย่นระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จะกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ และคู่ความมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย กรณีของจำเลยนี้จำเลยได้ยื่นขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เป็นครั้งที่สามภายหลังจากได้รับอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์มาแล้ว 2 ครั้งและในการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่สามนี้ จำเลยได้ยื่นเมื่อพ้นระยะเวลาที่ศาลได้อนุญาตให้ขยายในครั้งที่สองแล้วซึ่งตามปกติจะให้ขยายระยะเวลาไม่ได้เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยที่จำเลยไม่สามารถยื่นคำร้องนั้นได้ก่อนสิ้นกำหนดระยะเวลาเดิมที่ได้รับอนุญาตให้ขยายไว้ กรณีของจำเลยจะเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัยหรือไม่ได้ความจากการนำสืบชั้นไต่สวนคำร้องของจำเลยว่า นายอุทัยทนายความของจำเลยได้เขียนอุทธรณ์เสร็จแล้ว แต่ในตอนเช้าของวันที่ 18กุมภาพันธ์ 2534 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ตามระยะเวลาอุทธรณ์ที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ขยายมา นายอุทัยทนายจำเลยท้องร่วงกระทันหันได้เข้าไปให้แพทย์ที่บุญวิสุทธิ์คลีนิกรักษาแพทย์ให้พักรักษาตัว 2 วัน ทนายจำเลยจึงยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2534 โดยอ้างว่า ช่วงระหว่างวันที่ 18-19นั้น ทนายจำเลยไม่สามารถติดต่อเสมียนทนายหรือจำเลยได้ เพราะคนทั้งสองไปต่างจังหวัด เห็นว่าทนายจำเลยอ้างว่าท้องเสียในตอนเช้าแสดงว่ายังเหลือเวลาอีกเต็มวันที่จะดำเนินการเกี่ยวกับการยื่นอุทธรณ์ หรือยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ และอาการป่วยของทนายจำเลยก็เพียงท้องเสีย แพทย์แนะนำให้พักผ่อนเท่านั้น มิใช่ถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อซึ่งทนายจำเลยก็เบิกความว่าได้ติดต่อเสมียนทนายและตัวจำเลย แต่บุคคลทั้งสองไปต่างจังหวัด ประกอบกับปรากฏว่าคดีเรื่องนี้จำเลยได้แต่งตั้งนายณรงค์ อินทร์เสวียด ทนายความสำนักงานเดียวกันกับทนายจำเลยนี้เป็นทนายจำเลยอีกคนหนึ่งด้วยนายณรงค์จึงสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาต่อศาลได้ แม้นายอุทัยจะไม่สามารถติดต่อจำเลยและเสมียนทนายจำเลยได้ก็ตาม นอกจากนี้นายอุทัยทนายจำเลยก็อ้างตนเองเบิกความเป็นพยานเพียงปากเดียวเท่านั้น มิได้นำเสมียนทนายและนายณรงค์หรือบุคคลอื่นใดในสำนักงานมาเบิกความสนับสนุนข้ออ้างของตน ที่อ้างว่าได้ทำอุทธรณ์เสร็จแล้วตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2534 เมื่อพิจารณาคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่สามฉบับลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2534 ก็ไม่ปรากฏว่ามีสำเนาอุทธรณ์แนบมาด้วยเพื่อเป็นหลักฐานแสดงต่อศาลว่าได้ทำอุทธรณ์เสร็จแล้วจริง ทั้งปรากฏว่าคำร้องฉบับดังกล่าวได้ขออนุญาตขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 3 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตแทนที่จะขอยื่นอุทธรณ์ในวันนั้นเลยทีเดียว เป็นการแสดงให้เห็นว่าทนายจำเลยยังทำอุทธรณ์ไม่เสร็จในวันครบกำหนด ฟังไม่ได้ว่าเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัย
พิพากษายืน

Share