คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2994/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่จะพิจารณาว่าพนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนหรือไม่จะต้องพิจารณาข้อบังคับทั้งหลายซึ่งว่าด้วยอำนาจและหน้าที่ของตำรวจประกอบด้วย ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 16เมื่อตามระเบียบกรมตำรวจและประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องกำหนดหน่วยงานและเขตอำนาจการรับผิดชอบฯของหน่วยราชการในกรมตำรวจ ระบุไว้ในข้อ 7ว่า กองกำกับการ 7 มีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีอาญาต่าง ๆ ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ฯลฯทั่วราชอาณาจักรซึ่งเป็นข้อบังคับว่าด้วยอำนาจ และ หน้าที่ของตำรา ดังนั้น พนักงานสอบสวน ในกองกำกับการ 7 กองปราบปรามจึงมีอำนาจสอบสวนคดี ความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งเหตุเกิดที่จังหวัดเชียงใหม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเฮโรอีนไฮโดรคลอไรด์อันเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรงในประเภท 1 ชนิดผงอัดก้อนจำนวน 4 ก้อน และชนิดผงบรรจุอยู่ในถุงพลาสติก 4 ถุงน้ำหนักรวม 2,285.6 กรัมคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก 1,785 กรัมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เหตุเกิดที่ตำบลป่าตันอำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยเฮโรอีนดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8,15, 66, 67, 102 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2528 มาตรา 4 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 2(พ.ศ. 2522) เรื่องระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ลงวันที่17 กันยายน 2522 ข้อ 1(1) ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง,66 วรรคสอง ให้ประหารชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเพราะจำนนต่อหลักฐาน ไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาไม่มีเหตุบรรเทาโทษจึงไม่ลดโทษให้ ริบเฮโรอีนของกลาง จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลดโทษจำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52(1)ให้จำคุกจำเลยตลอดชีวิต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาข้อแรกว่าพนักงานสอบสวนกองปราบปราม ไม่มีอำนาจสอบสวนคดีนี้เพราะจำเลยมีภูมิลำเนาและถูกจับกุมในท้องที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่าการที่จะพิจารณาว่าพนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนหรือไม่ จะต้องพิจารณาข้อบังคับทั้งหลายซึ่งว่าด้วยอำนาจและหน้าที่ของตำรวจประกอบด้วยดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 16คดีนี้โจทก์มีร้อยตำรวจเอกศรกฤษณ์ แก้วผลึก พนักงานสอบสวนมาเบิกความว่า พยานรับราชการตำแหน่งรองสารวัตรแผนก 3กองกำกับการ 7 กองปราบปราม มีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนจับกุมผู้กระทำผิดเกี่ยวกับพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษทั่วราชอาณาจักร ตามระเบียบกรมตำรวจและประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องกำหนดหน่วยงาน และเขตอำนาจการรับผิดชอบฯ ของหน่วยราชการในกรมตำรวจ ตามเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งระบุไว้ในข้อ 7 ว่ากองกำกับการ 7 มีอำนาจหน้าที่สืบสวน สอบสวนคดีอาญาต่าง ๆตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ฯลฯ ทั่วราชอาณาจักรซึ่งเป็นข้อบังคับว่าด้วยอำนาจและหน้าที่ ของตำรวจ ดังนั้นร้อยตำรวจเอกศรกฤษณ์ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนในกองกำกับการ 7กองปราบปราม จึงมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ โจทก์มีอำนาจฟ้องฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share