แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คำฟ้องในข้อหาฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานเมื่อโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดตลอดทั้งข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆอีกทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องคือเจ้าหน้าที่แผนกบัตรประจำตัวประชาชนที่ว่าการอำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งพอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้วแม้จะไม่ได้ระบุชื่อของเจ้าพนักงานผู้รับแจ้งมาในฟ้องด้วยก็ไม่ทำให้เป็นฟ้องเคลือบคลุม จำเลยเป็นคนญวนยื่นคำร้องขอมีบัตรประจำตัวประชาชนต่อเจ้าหน้าที่แผนกบัตรประจำตัวโดยอ้างว่าเป็นบุคคลสัญชาติไทยแม้ผู้รับแจ้งจากจำเลยเป็นลูกจ้างชั่วคราวแต่ก็ได้นำเรื่องเสนอต่อช. และว. ซึ่งเป็นปลัดอำเภอทำหน้าที่ฝ่ายบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อตรวจหลักฐานแล้วดำเนินการส่งต่อไปยังกองบัตรประจำตัวประชาชนถือว่าจำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานอันเป็นความผิดตามป.อ.มาตรา137แต่การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามป.อ.มาตรา267เพราะผู้ที่รับแจ้งจากจำเลยและเป็นผู้จดข้อความตามที่จำเลยแจ้งเป็นลูกจ้างชั่วคราวมิใช่เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นบุคคลเชื้อชาติญวน สัญชาติญวน กระทำผิดกฎหมายหลายบท หลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ
ก. เมื่อระหว่างวันที่ 22 เมษายน 2519 เวลากลางวันถึงวันที่14 มีนาคม 2523 เวลากลางวัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยซึ่งไม่มีสิทธิเข้ารับราชการทหารและไม่มีสิทธิได้รับใบสำคัญแสดงสถานะทางทหารแบบ สด.9 ได้ปลอมเอกสารใบสำคัญแสดงสถานะทางทหารแบบ สด.9 ที่ 450 แทนฉบับชำรุดสูญหาย อันเป็นเอกสารราชการของที่ว่าการเขตดุสิตกรุงเทพมหานคร ขึ้นทั้งฉบับโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อหัวหน้า เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร และสัสดีเขตดุสิตกรุงเทพมหานคร และเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารราชการอันแท้จริง เหตุเกิดที่ตำบลใดไม่ปรากฏชัดในเขตดุสิต กรุงเทพมหานครและที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมาเกี่ยวพันกัน
ข. เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2519 เวลากลางวันจำเลยซึ่งประสงค์จะขอมีบัตรประจำตัวประชาชนไว้ใช้เป็นพยานหลักฐานว่าตนเป็นบุคคลมีสัญชาติไทย ได้นำข้อความที่จำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นความเท็จแจ้งต่อเจ้าหน้าที่แผนกบัตรประจำตัวประชาชนของที่ว่าการอำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมาว่า จำเลยเป็นบุคคลเชื้อชาติไทยสัญชาติไทยมีบิดาชื่อนายพรหมา มารดาชื่อนางศูนย์ และอ้างเอกสารสำเนาทะเบียนบ้านเลขที่ 238 ถนนจอมพล ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมาของจำเลย อันเป็นเอกสารราชการที่จำเลยได้แจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จว่า จำเลยเป็นบุคคลสัญชาติไทย ชื่อนายทองดี บุญเพิ่ม มีบิดาชื่อนายพรหมา มารดาชื่อนางศูนย์ ลงในเอกสารราชการดังกล่าวเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานว่า จำเลยเป็นบุคคลสัญชาติไทย แล้วยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนต่อเจ้าหน้าที่แผนกบัตรประจำตัวประชาชนซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจออกบัตรประจำตัวประชาชนหลงเชื่อในความเท็จที่จำเลยแจ้งและเอกสารสำเนาทะเบียนบ้านที่จำเลยอ้างจึงได้จดข้อความอันเป็นเท็จลงในแบบพิมพ์คำขอมีหรือเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชน(แบบ บป.1) และแบบพิมพ์ใบรับคำขอมีหรือเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชน(แบบ บป.2) ซึ่งเป็นเอกสารราชการของที่ว่าการอำเภอเมืองนครราชสีมาและดำเนินการจนได้ออกบัตรประจำตัวประชาชน เลขที่ 2 นม.1-110360ให้กับจำเลยในเวลาต่อมา ความจริงจำเลยมีเชื้อชาติญวน สัญชาติญวนชื่อนายหวานหรือหาญ แซ่เล เป็นบุตรนายเกอ นางฟาน แซ่เล ซึ่งมีเชื้อชาติญวน สัญชาติญวน จำเลยจึงไม่มีสิทธิมีบัตรประจำตัวประชาชนการกระทำของจำเลยทำให้อำเภอเมืองนครราชสีมาและกองบัตรประจำตัวประชาชน กระทรวงมหาดไทยเสียหาย เหตุเกิดที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา
ค. เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2522 เวลากลางวันจำเลยซึ่งประสงค์จะมีบัตรประจำตัวประชาชนไว้เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานว่าตนมีสัญชาติไทยได้นำข้อความที่จำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นความเท็จแจ้งต่อเจ้าหน้าที่แผนกบัตรประจำตัวประชาชนของที่ว่าการอำเภอเมืองนครราชสีมาจังหวัดนครราชสีมา ว่าจำเลยมีเชื่อชาติไทย สัญชาติไทย เป็นบุตรนายพรหมา นางศูนย์ และอ้าเงอกสารสำเนาทะเบียนบ้านเลขที่ 238ถนนจอมพล ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมาของจำเลยดังกล่าวในฟ้องข้อ ข. แล้วยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนแทนบัตรประจำตัวประชาชน ฉบับเลขที่ 2 นม. 1-110360 ซึ่งจำเลยอ้างว่าสูญหาย เจ้าหน้าที่แผนกบัตรประจำตัวประชาชนอำเภอเมืองนครราชสีมาจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจออกบัตรประจำตัวประชาชนหลงเชื่อในความเท็จที่จำเลยแจ้ง และเอกสารสำเนาทะเบียนบ้านที่จำเลยอ้าง จึงได้จดข้อความอันเป็นเท็จนั้นลงในแบบพิมพ์คำขอมีหรือเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชน (แบบ บป.1) และแบบพิพม์ใบรับคำขอมีหรือเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชน (แบบ บป.2) ซึ่งเป็นเอกสารราชการของที่ว่าการอำเภอเมืองนครราชสีมา และดำเนินการจนได้ออกบัตรประจำตัวประชาชนเลขที่ 3 นม. 1-068557 ให้จำเลย ซึ่งความจริงบัตรประจำตัวประชาชนเลขที่ 2 นม. 1-110360 มิได้สูญหายและจำเลยก็เป็นบุคคลเชื้อชาติญวนสัญชาติญวน ไม่มีสิทธิมีบัตรประจำตัวประชาชนการกระทำของจำเลยทำให้อำเภอเมืองนครราชสีมา และกองบัตรประจำตัวประชาชน กระทรวงมหาดไทยเสียหาย เหตุเกิดที่ตำบลในเมืองอำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา
ง. เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2523 เวลากลางวัน จำเลยอ้างใบสำคัญแสดงสถานะทางทหารแบบ สด.9 ที่ 450 แทนฉบับชำรุดสูญหายซึ่งเป็นเอกสารปลอมตามฟ้องข้อ ก. และบัตรประจำตัวประชาชน เลขที่2 นม.1-110360 ของจำเลยซึ่งเป็นเอกสารราชการที่ทางราชการออกให้เนื่องจากจำเลยแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จว่า จำเลยมีสัญชาติไทยดังกล่าวในฟ้องข้อ ข. อ้างต่อร้อยตำรวจเอกบรรเจิดศักดิ์ เปรมปรีดิ์ รองสารวัตรปกคอรงป้องกันสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครราชสีมาเพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าตนเป็นบุคคลสัญชาติไทย ซึ่งน่าจะทำให้หัวหน้าเขตดุสิต กรุงเทพมหานครสัสดีเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร อำเภอเมืองนครราชสีมา และกองบัตรประจำตัวประชาชน กระทรวงมหาดไทยเสียหาย และเพื่อให้ร้อยตำรวจเอกบรรเจิดศักดิ์ เปรมปรีดิ์หลงเชื่อว่าเป็นเอกสารราชการอันแท้จริง เหตุเกิดที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมาจังหวัดนครราชสีมา ขอให้ลงโทศตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 265,267, 268, 91 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน2514 ข้อ 2 ริบบัตรประจำตัวประชาชนเลขที่ 3 นม. 1-068557 ของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265 ตามฟ้องข้อ ก. กระทงหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา137, 267, 90 ลงโทษตามมาตรา 267 ซึ่งเป็นบมหนักตามฟ้องข้อ ข.กระทงหนึ่ง ตามฟ้องข้อ ค. กระทงหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268ตามฟ้องข้อ 2. อีกกระทงหนึ่ง สำหรับความผิดตามมาตรา 265 ตามฟ้องข้อ ก. และความผิดตามมาตรา 268 ตามฟ้องข้อ ง. ให้ลงโทษตามมาตรา268 ตามฟ้องข้อ ง. แต่กระทงเดียว ให้ลงโทษจำเลยเรียงกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้ลงโทษจำเลยกระทงแรกและกระทงที่สอง (ตามฟ้องข้อ ข. และข้อ ค.) จำคุกกระทงละหกเดือน กระทงที่สาม(ตามฟ้องข้อ ก. และง.) จำคุกหนึ่งปีรยมสามกระทงจำคุกสองปี
จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์เห็นว่าฟ้องโจทก์ข้อหาแจ้งความและให้จดข้อความเท็จเคลือบคลุม พยานโจทก์ไม่พอฟังว่าจำเลยปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอมพิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาข้อแรกโจทก์ฎีกาว่า ฟ้องข้อ ข. และข้อ ค. บรรยายข้อเท็จจริงและรายละเอียดครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว ไม่จำต้องระบุชื่อเจ้าพนักงาน ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องข้อ ข. และข้อ ค.ถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด มีข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องคือเจ้าหน้าที่แผนกบัตรประจำตัวประชาชนของที่ว่าการอำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งพอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้วแม้จะมิได้ระบุชื่อของเจ้าพนักงานก็เป็นเรื่องที่จะนำสืบกันในชั้นพิจารณาต่อไป ฟ้องข้อ ข. และข้อ ค.จึงถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158 (5) แล้วที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา ว่า ฟ้องข้อ ข. และข้อ ค. เคลือบคลุมศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น”
ส่วนปัญหาว่า จำเลยกระทำผิดฐานปลอมเอกสารใบสำคัญแสดงสถานะทางทหารแบบสด.9 ที่ 450 แทนฉบับชำรุดสูญหาย เอกสารหมาย ล.1 ตามฟ้องข้อ ก. หรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า “โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอันใดแสดงว่า จำเลยปลอมเอกสารดังกล่าวข้อเท็จจริงฟังได้เพียงว่า จำเลยนำเอกสารฉบับนี้ไปแสดงแก่พันตำรวจตรีบรรเจิดศักดิ์ เปรมปรีดิ์เท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยในข้อหานี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
สำหรับปัญหาที่ว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137267 ตามฟ้องข้อ ข. หรือ ค. หรือไม่ “ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า จำเลยเป็นบุคคลสัญชาติไทยชื่อนายทองดี บุญเพิ่มหรือเป็นคนญวนอพยพชื่อนายหวานหรือหาญ เซ่เล โจทก์มีพันตำรวจเอกสมัครเกิดสว่างเนตร รองผู้บังคับการตำรวจภูธร 5 ซึ่งเคยรับราชการเป็นผู้บังคับกองสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองอุบลราชธานี มีหน้าที่ควบคุมคนญวนอพยพ พันตำรวจตรีธวัชชัย เศรษฐมาตย์ ซึ่งเคยรับราชการที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองอุบลราชธานี มีหน้าที่ทำทะเบียนคนต่างด้าวและคนฐวนอพยพ พันตำรวจตรีบุญช่วย สินค้า ซึ่งเคยรับราชการที่กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี มีหน้าที่ควบคุมคนญวนอพยพเบิกความสอดคล้องต้องกัน หลังจากดูภาพถ่ายจำเลยในบัตรประจำตัวประชาชนเอกสารหมาย จ.6 ว่าจำเลยคือนายหวานหรือหาญ แซ่เล เป็นคนญวนอพยพอยู่ในท้องที่อำเภอเมืองอุบลราชธานีจำเลยมีตำหนิที่เห็นได้ชัดเจนคือหูขวาขาด พันตำรวจเอกสมัครเบิกความว่า จำเลยหลบหนีออกนอกเขตไปประกอบอาชีพที่อำเภอเมืองนครราชสีมาถูกเจ้าพนักงานตำรวจท้องที่จับกุมส่งตัวจำเลยคืนมา จำเลยได้ทำทัณฑ์บนไว้โดยจะไปรายงานตัวทุก 7 วัน ปรากฏตามเอกสารหมาย ป.จ.1 ว่าจำเลยให้ถ้อยคำไว้ว่า จำเลยถูกจับกุมมาจากบ้านเลขที่ 1669 ถนนจอมพล ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2507 ปรากฏตามสำเนาทะเบียนบ้านหลังนี้เอกสารหมาย ป.จ.12 ไม่มีชื่อนายหวานหรือหาญ แซ่เล มีแต่ชื่อนายทองดี บุญเพิ่ม พันตำรวจตรีธวัชชัยเบิกความว่าในปี พ.ศ. 2513 พยานพบจำเลยตั้งร้านค้าวิทยุอยู่ที่บ้านเลขที่ 1959 ถนนจอมพล ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมาจึงรายงานผู้บังคับบัญชาผู้บังคับบัญชาสั่งให้พยานตรวจสอบหลักฐานเกี่ยวกับจำเลยที่จังหวัดอุบลราชธานีพยานได้ตรวจสอบหลักฐานพบเรื่องจำเลยขอย้ายภูมิลำเนาไปอยู่จังหวัดอุดรธานีทางการอนุมัติแต่ไม่มีหลักฐานตอบรับว่าจำเลยย้ายไปอยู่จังหวัดอุดรธานีแล้ว พยานจึงรายงานผู้บังคับบัญชาให้ทราบ ร้อยตำรวจเอกสุภร สุภรัตน์พนักงานสอบสวนกองปราบปรามเบิกความว่า จำเลยสมคบกับนายกรานต์ บุญเพิ่ม และนายสมกำนันตำบลบัวลาย ทำหลักฐานให้จำเลยแจ้งย้ายเข้าไปอยู่บ้านเดียวกับนายกรานต์ บุญเพิ่ม และจำเลยเป็นบุตรนายพรหมา นางศูนย์ บิดามารดาเดียวกับนายกรานต์ ข้อนี้นายกรานต์ นางอาน เจริญตาซึ่งเป็นบุตรของนายพรหมา นางศูนย์เบิกความตรงกันว่า ไม่มีพี่น้องชื่อทองดีบุญเพิ่ม เมื่อจำเลยย้ายภูมิลำเนาเข้าไปอยู่ในบ้านนายกรานต์แล้วได้มีการแจ้งย้ายออกในวันเดียวกันแล้วแจ้งย้ายไปอยู่ในที่ต่าง ๆ จนกระทั่งไปอยู่ในบ้าน เลขที่ 1959 ถนนจอมพล ซึ่งทางการได้เปลี่ยนเลขบ้านเป็นเลขที่ 238 ภายหลัง ยิ่งกว่านั้นเมื่อนำลายพิมพ์นิ้วมือจำเลยไปเปรียบเทียบกับลายพิมพ์นิ้วมือของนายเหวียนหรือหาญ แซ่แลก็ปรากฏว่าเป็นลายพิมพ์นิ้วมือของบุคคลเดียวกันปรากฏตามเอกสารหมาย ป.จ.2 และเอกสารหมาย ป.จ.6 แม้โจทก์จะมิได้นำเจ้าหน้าที่ผู้พิสูจน์นิ้วมือมาเบิกความ แต่ก็มีบันทึกของร้อยตำรวจเอกประพนธ์บุญเอี่ยม สารวัตรแผนกทะเบียนประวัติ ยืนยันผลการตรวจพิสูจน์ลายพิมพ์นิ้วมือดังกล่าวเป็นทางราชการไปยังสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครราชสีมา และเมื่อเปรียบเทียบลายพิมพ์นิ้วมือเอกสารในทั้งสองฉบับดูแล้ว ลายพิมพ์นิ้วมือของบุคคลทั้งสองเหมือนกันทุกนิ้วพยานหลักฐานของโจทก์เชื่อได้ว่า จำเลยคือนายหวานหรือหาญแซ่เล คนญวนอพยพมิใช่บุคคลสัญชาติไทย
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นคนญวนอพยพชื่อนายหวานหรือหาญ แซ่เลมิใช่บุคคลสัญชาติไทยชื่อทองดี บุญเพิ่มแล้ว การที่จำเลยไปยื่นคำร้องขอมีบัตรหรือเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชนต่อเจ้าหน้าที่แผนกบัตรประจำตัวประชาชนอำเภอเมืองนครราชสีมาทั้งสองครั้ง โดยอ้างว่า จำเลยเป็นบุคคลสัญชาติไทยชื่อนายทองดี บุญเพิ่ม มีบิดาชื่อนายพรหมา มารดาชื่อนางศูนย์ จึงเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน แม้ผู้ที่รับแจ้งจากจำเลยเป็นลูกจ้างชั่วคราว แต่ก็ได้นำเรื่องเสนอนายชรินทร์ สุขนิรันดร และนายวิทยา เกษคุปต์ ซึ่งเป็นปลัดอำเภอเมืองนครราชสีมาทำหน้าที่ฝ่ายบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อตรวจหลักฐานแล้วดำเนินการส่งต่อไปยังกองบัตรประจำตัวประชาชนถือได้ว่าจำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานอันเป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 แล้ว แต่โดยที่ผู้รับแจ้งจากจำเลยและเป็นผู้จดข้อความตามที่จำเลยแจ้งเป็นลูกจ้างชั่วคราว มิใช่เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 และเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ตามฟ้องข้อ ข. ซึ่งจำเลยกระทำผิดเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2519 โจทก์นำมาฟ้องเมื่อวันที่ 24 มีนาคม2525 พ้นกำหนดห้าปีแล้ว จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95 (4) ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาสุดท้าย จำเลยกระทำความผิดฐานใช้เอกสารปลอมใบสำคัญแสดงสถานะทางทหารแบบ สด.9 หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าร้อยตำรวจเอกสุภร และพันตำรวจตรีบรรเจิดศักดิ์พยานโจทก์เบิกความตรงกันว่าใบสำคัญแสดงสถานะทางทหาร เอกสารหมาย ล.1 ที่โจทก์อ้างว่าปลอมนั้นเป็นแบบพิมพ์ของทางราชการ แม้ร้อยตำรวจเอกสุภรจะเบิกความว่าเอกสาร สด.9 เป็นเอกสารปลอมเพราะถ้าจำเลยเป็นบุตรนายพรหมานางศูนย์จริงจะต้องมีภูมิลำเนาทหารอยู่ที่อำเภอเลิงนกทา ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของบิดามารดา และจำเลยพึ่งย้ายเข้าไปอยู่บ้านเลขที่128 ถนนราชวิถี แขวงถนนพญาไท กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 14กันยายน 2507 แต่เอกสาร สด.9 ออกให้ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2501ก็ตาม โจทก์มิได้นำสืบว่า ตัวหนังสือ ลายมือชื่อหรือดวงตราที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่งปลอม เมื่อปรากฏในเอกสารซึ่งเป็นแบบพิมพ์ของทางราชการมีลายมือชื่อผู้ลงชื่อแทนนายอำเภอประทับตราประจำตำแหน่งเป็นสำคัญ มีข้อความรับรองถูกต้องด้านหลังลงลายมือชื่อและตำแหน่งสัสดีอำเภอ และปรากฏตามเอกสารหมาย จ.13ซึ่งเป็นหนังสือหัวหน้าเขตดุสุิตแจ้งว่า เอกสารหลักฐานทางทหารได้ชำรุดสูญหายไปหมดแล้ว ไม่มีหลักฐานที่จะตรวจสอบให้ได้ ไม่อาจคัดสำเนาใบสำคัญแบบ สด.9 ที่ทางเขตดุสิตออกให้ได้ จึงไม่อาจฟังได้ว่าเอกสารหมาย ล.1 เป็นเอกสารปลอมอาจเป็นเอกสารที่แท้จริงซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นตามที่มีผู้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จให้จดลงไว้ก็ได้ เมื่อฟังไม่ได้ว่า เอกสารหมาย ล.1 เป็นเอกสารปลอมการที่จำเลยนำเอกสารดังกล่าวไปใช้จึงไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารปลอมที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหานี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา137 ลงโทษจำคุกหกเดือน ริบบัตรประจำตัวประชาชนของกลางนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”.