คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6905/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น อาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท แสดงว่า การแบ่งปันทรัพย์มรดกสามารถทำได้ 2 วิธี คือ ทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท ได้ความว่าผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกพยายามแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินทั้งเจ็ดแปลงให้แก่ทายาท แต่ตกลงกันไม่ได้ว่าทายาทคนใดจะได้รับที่ดินแปลงใด จึงแจ้งให้ทายาทไปรับมรดกที่ดินทั้งเจ็ดแปลงตามสัดส่วน โดยการใส่ชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินตามสัดส่วนที่ทายาทแต่ละคนมีสิทธิได้รับตามพินัยกรรม แสดงว่าผู้ร้องยังสามารถแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินทั้งเจ็ดแปลงโดยการให้ผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 และทายาทอื่นเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นสัดส่วนโดยการใส่ชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินตามสัดส่วนตามสิทธิที่แต่ละคนจะได้รับได้ โดยอาจขอให้ศาลมีคำสั่งให้ใส่ชื่อผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 และทายาททุกคนถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินทรัพย์มรดก หากผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 หรือทายาทอื่นไม่ไป ให้ถือเอาคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาได้ กรณีจึงยังไม่เป็นเหตุให้ต้องขายทอดตลาดที่ดินทั้งเจ็ดแปลงเพื่อนำเงินมาแบ่งปันกัน

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายเจษฎ์ ผู้ตาย ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ต่อมาผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากผู้จัดการมรดก คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเพื่อนำเงินมาแบ่งปันกันในระหว่างทายาท
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาวอุบลวรรณ ยื่นคำคัดค้านว่า นางสาวอุบลวรรณ เคยอยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ตายโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ระหว่างอยู่กินด้วยกันผู้ตายซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 166 พร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ 6 ห้อง และที่ดินโฉนดเลขที่ 326, 348 และ 349 นางสาวอุบลวรรณจึงมีกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์สินดังกล่าว ซึ่งนางสาวอุบลวรรณได้ฟ้องร้องเรียกคืนเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.5430/2558 ของศาลชั้นต้น คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา ขอให้งดการขายทอดตลาดที่ดินทั้งสี่แปลงดังกล่าวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องนำที่ดินโฉนดเลขที่ 343, 351 และ 355 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งปันกันในระหว่างทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดก ส่วนที่ดินที่เหลืออีกสี่แปลง ให้รอการขายไว้ก่อนจนกว่าคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.5430/2558 ของศาลชั้นต้นจะถึงที่สุด
ผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ขายทอดตลาดโดยไม่ได้ไต่สวนก่อนเป็นการไม่ชอบหรือไม่ เห็นว่า ผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 คัดค้านการขายทอดตลาดที่ดินทรัพย์มรดก โดยผู้คัดค้านที่ 1 ให้เหตุผลว่า การแบ่งปันทรัพย์มรดกยังสามารถทำได้โดยวิธีอื่น เช่น การประเมินราคาทรัพย์แล้วนำมาแลกเปลี่ยนกันในระหว่างทายาท การขายทอดตลาดทรัพย์มรดกจะทำให้กองมรดกได้รับความเสียหาย ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 ให้เหตุผลว่า ทายาททุกคนเคยประชุมตกลงกันว่าจะแลกเปลี่ยนการถือครองที่ดินตามพินัยกรรมที่ได้รับระหว่างที่ดินที่ถนนข้าวสารกับที่ดินที่จังหวัดปทุมธานีและมูลค่าหุ้นของบริษัทเจษฎ์พัฒนา จำกัด แต่ไม่ได้ข้อยุติเนื่องจากผู้ร้องประเมินราคาที่ดินไม่เป็นธรรมและเอาเปรียบทายาท ที่ประชุมจึงตกลงให้ประเมินราคาที่ดินใหม่แล้วมาประชุมกันอีกครั้ง แต่ผู้ร้องเรียกประชุมทายาทโดยไม่ได้ประเมินราคาที่ดินใหม่และขอนำที่ดินออกขายทอดตลาด ผู้คัดค้านที่ 2 จึงไม่เห็นด้วย ซึ่งข้อโต้แย้งของผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ดังกล่าว ผู้ร้องและผู้คัดค้านได้นำพยานเข้าเบิกความในชั้นขอถอนผู้ร้องจากผู้จัดการมรดกจนสามารถรับฟังได้ว่า ผู้ร้องและทายาทตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกกันไม่ได้เพราะแต่ละฝ่ายไม่เห็นพ้องกับราคาประเมินที่อีกฝ่ายจัดหามา เมื่อเป็นเช่นนี้ศาลชั้นต้นย่อมรับฟังข้อเท็จจริงในสำนวนที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 นำสืบในชั้นขอถอนผู้จัดการมรดกได้อยู่แล้ว ศาลชั้นต้นย่อมมีคำสั่งได้โดยไม่ต้องไต่สวนพยานหลักฐานซ้ำอีก ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ประการต่อไปว่า คำสั่งให้ขายทอดตลาดทรัพย์มรดกชอบหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น อาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท แสดงว่า การแบ่งปันทรัพย์มรดกสามารถทำได้ 2 วิธี คือ ทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท ได้ความว่าผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกพยายามแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินทั้งเจ็ดแปลงให้แก่ทายาท แต่ตกลงกันไม่ได้ว่าทายาทคนใดจะได้รับที่ดินแปลงใด จึงแจ้งให้ทายาทไปรับมรดกที่ดินทั้งเจ็ดแปลงตามสัดส่วน โดยการใส่ชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินตามสัดส่วนที่ทายาทแต่ละคนมีสิทธิได้รับตามพินัยกรรม แสดงว่าผู้ร้องยังสามารถแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินทั้งเจ็ดแปลงโดยการให้ผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 และทายาทอื่นเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นสัดส่วนโดยการใส่ชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินตามสัดส่วนตามสิทธิที่แต่ละคนจะได้รับได้ โดยอาจขอให้ศาลมีคำสั่งให้ใส่ชื่อผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 และทายาททุกคนถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินทรัพย์มรดก หากผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 หรือทายาทอื่นไม่ไป ให้ถือเอาคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาได้ กรณีจึงยังไม่เป็นเหตุให้ต้องขายทอดตลาดที่ดินทั้งเจ็ดแปลงเพื่อนำเงินมาแบ่งปันกัน ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งให้ผู้ร้องนำที่ดินโฉนดเลขที่ 343, 351 และ 355 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งปันกันในระหว่างทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดก ส่วนที่ดินที่เหลืออีกสี่แปลงให้รอการขายไว้ก่อนจนกว่าคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.5430/2558 ของศาลชั้นต้นจะถึงที่สุด ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share