คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 776/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้รับอนุญาตให้ตั้งโรงรับจำนำจะถือเอาประโยชน์จากพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ.2480 ได้ก็ต่อเมื่อเป็นการรับจำนำทรัพย์ไว้ในราคารายละไม่เกินสี่ร้อยบาทหากรับจำนำไว้เกินสี่ร้อยบาท ก็เป็นเรื่องที่ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ในกรณีที่ผู้รับจำนำซึ่งไม่ได้รับความคุ้มครองจากพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ รับจำนำทรัพย์ไว้โดยสุจริตจากบุคคลที่เช่าซื้อทรัพย์มานั้นผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และทำการโดยสุจริตมีสิทธิติดตามเอาคืนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 6/2506)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นางวิไลเช่าซื้อจักรเย็บผ้าของโจทก์ แล้วทุจริตเอาไปจำนำไว้กับจำเลย ณ โรงรับจำนำฮะสูนเป็นเงิน 3,000 บาทโดยจำเลยรับจำนำไว้ด้วยความประมาท ไม่สอบสวนได้รู้ความอันควรจะรู้ว่าจักรนั้นนางวิไลได้มาโดยการกระทำผิด และไม่มีหลักฐานอันสมควรจะแสดงกรรมสิทธิ์ได้ ได้ขอให้จำเลยคืนจักร จำเลยไม่คืนจึงขอให้ศาลบังคับ

จำเลยให้การว่า จำเลยมีอาชีพและได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงรับจำนำได้รับจำนำจักรไว้เป็นเงิน 3,000 บาท ด้วยความระมัดระวังปราศจากความประมาท และปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำกับระเบียบข้อบังคับของเจ้าพนักงานแล้ว จักรนี้ไม่มีรูปพรรณตรงกับรูปพรรณของหาย จำเลยไม่รู้และไม่มีเหตุที่จะรู้ได้ว่าจักรนี้ได้มาจากการกระทำผิดกฎหมาย ย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2480 มาตรา 25โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกคืน นอกจากจะชำระค่าไถ่และดอกเบี้ยแก่จำเลย

ก่อนสืบพยาน จำเลยรับว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์จักรรายพิพาทและมีผู้เช่าซื้อจักรรายนี้มาจากโจทก์ โดยผู้เช่าซื้อยังชำระราคาไม่ครบ จักรยังไม่ตกเป็นของผู้เช่าซื้อ ซึ่งข้อเท็จจริงที่จำเลยรับนี้จำเลยไม่รู้มาก่อนหรือในขณะรับจำนำ

ศาลแพ่งเห็นว่า กรรมสิทธิ์ในจักรยังคงเป็นของโจทก์พระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2480 มาตรา 25 จะคุ้มครองเฉพาะการรับจำนำซึ่งจำนวนเงินไม่เกิน 400 บาทเท่านั้นจักรรายนี้จำเลยรับจำนำไว้เป็นราคา 3,000 บาท จึงไม่ได้รับความคุ้มครองจากพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ นางวิไลไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ผิดสัญญาเช่าซื้อ โจทก์มีสิทธิเรียกจักรคืนจากนางวิไลได้ จำเลยผู้รับโอนจากนางวิไลไม่มีสิทธิดีกว่านางวิไลผู้โอน จำเลยจึงต้องคืนจักรแก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ พิพากษาให้จำเลยคืนจักรให้แก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยรับจำนำจักรไว้ด้วยความสุจริต และไม่ประมาทจำเลยชอบที่จะยึดของจำนำไว้ได้จนกว่าจะได้รับชำระค่าไถ่ฉะนั้น โจทก์จะเอาจักรคืนก็ต้องชำระค่าไถ่ให้จำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 757, 758 พิพากษาแก้ให้จำเลยคืนจักรแก่โจทก์ตามขอ โดยให้โจทก์ชำระค่าไถ่แก่จำเลย

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาประชุมปรึกษาคดีนี้โดยที่ประชุมใหญ่แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของจักรดังกล่าวในฟ้อง เมื่อ 23 พฤษภาคม 2502 นางวิไลได้ทำสัญญาเช่าซื้อและรับมอบจักรเย็บผ้ารายนี้ของโจทก์ไป ครั้นรุ่งขึ้นวันที่ 24 พฤษภาคม 2502 นางวิไลได้เอาจักรเย็บผ้ารายนี้ไปจำนำไว้ที่โรงรับจำนำของจำเลย ขณะจะรับจำนำนายกิมกุย ผู้จัดการโรงรับจำนำได้ให้เสมียนตรวจดูบัญชีรูปพรรณของหายที่ทางตำรวจส่งมาก็ไม่มีปรากฏในใบแจ้งรูปพรรณของหายและกรณีแวดล้อมต่าง ๆ ทำให้ผู้มีหน้าที่ในโรงรับจำนำของจำเลยและจำเลยเชื่อโดยสุจริตว่า จักรรายนี้เป็นของนางวิไล คดีฟังได้ว่าจำเลยรับจำนำจักรไว้โดยสุจริตฝ่ายโจทก์ก็ใช้สิทธิติดตามทรัพย์ของตนโดยสุจริตเช่นเดียวกัน

การรับจำนำจักรรายนี้กระทำเมื่อ 24 พฤษภาคม 2502 แม้บัดนี้จะมีพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 ประกาศใช้แล้วก็ตาม ก็ต้องนำพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2480 ซึ่งใช้อยู่ในขณะนั้นมาใช้บังคับ ตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2480 มาตรา 6 บัญญัติว่า “บุคคลใดรับจำนำทรัพย์สิ่งของเป็นประกันเงินกู้ซึ่งมีจำนวนไม่เกินสี่ร้อยบาทก็ดีรับหรือซื้อทรัพย์สิ่งของโดยใช้หรือทดลองเงินให้สำหรับสิ่งของนั้นเป็นจำนวนเงิน ไม่เกินสี่ร้อยบาทก็ดี โดยมีข้อตกลงหรือเข้าใจกันโดยตรง หรือโดยปริยายตามพฤติการณ์ว่าทรัพย์สิ่งของนั้น ๆ ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนจะได้ไถ่คืนภายหลัง ถ้าได้ทำการที่ว่านี้เป็นปกติธุระ ก็ให้ถือว่าบุคคลนั้นตั้งโรงรับจำนำตามความหมายแห่งพระราชบัญญัตินี้ ” จึงเห็นได้ว่าพระราชบัญญัตินี้มุ่งประสงค์ให้ผู้รับอนุญาตตั้งโรงรับจำนำแล้ว จะถือเอาประโยชน์ตามพระราชบัญญัตินี้ได้ต้องเป็นการรับจำนำทรัพย์ไว้ในราคารายละไม่เกินสี่ร้อยบาท ถ้ารับจำนำไว้ในราคาเกินสี่ร้อยบาทก็ไม่เข้าอยู่ในลักษณะจำนำตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำและไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำด้วย เรื่องนี้ รับจำนำจักรไว้เกินสี่ร้อยบาทจึงไม่ได้รับความคุ้มครองเป็นเรื่องที่ต้องบังคับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อเช่นนี้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในจักรรายนี้ และเป็นผู้กระทำการโดยสุจริตก็มีสิทธิที่จะติดตามเอาคืนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 และจำเลยจะอ้างสิทธิไม่คืนทรัพย์ที่จำนำให้แก่เจ้าของโดยจะให้เจ้าของเสียค่าไถ่และดอกเบี้ยตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2480 มาตรา 25 หาได้ไม่ เพราะจำเลยไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำเสียแล้ว อนึ่งตามพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฏในท้องสำนวนจะถือว่าโจทก์แสดงออกหรือเชิดให้จำเลยเป็นตัวแทนโจทก์ก็ไม่ได้

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามศาลชั้นต้น

Share