คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1392/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษในความผิดฐานมีภาชนะหรือเครื่องกลั่นสำหรับทำสุรานั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้องและให้ลงโทษจำคุก 1 เดือน เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 มิได้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 219 ตรี ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ไม่ได้บัญญัติให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ คำอนุญาตของผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นจึงไม่มีผลหรือทำให้จำเลยมีสิทธิฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493มาตรา 5, 30, 31, 32, 45 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ริบของกลาง

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 5, 30, 31, 32, 45 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีภาชนะหรือเครื่องกลั่นสุราจำคุก 2 เดือน ฐานทำสุรากลั่นและสุราแช่ปรับ 2,000บาท ฐานมีสุรากลั่นและสุราแช่ไว้ในครอบครอง ปรับ 1,000 บาทฐานขายสุรากลั่น ปรับ 1,000 บาท รวมจำคุก 2 เดือน และปรับ 4,000บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งคงจำคุก 1 เดือน และปรับ 2,000 บาท ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง

จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน

จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษในความผิดฐานมีภาชนะหรือเครื่องกลั่นสำหรับทำสุรานั้น เห็นว่า ในความผิดฐานดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้องและให้ลงโทษจำคุก1 เดือน เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 มิได้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 219 ตรี ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว และในกรณีนี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221ไม่ได้บัญญัติให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้คำอนุญาตของผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้น จึงไม่มีผลหรือทำให้จำเลยมีสิทธิฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้”

พิพากษายกฎีกาจำเลย

Share