คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3461/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำว่า “บุคคลอื่น” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1567(4) หมายถึง บุคคลอื่นนอกจากผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรซึ่งได้แก่บิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของบุตร ดังนั้นเมื่อจำเลยกับโจทก์มิใช่สามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงมิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของบุตรผู้เยาว์ ทั้งมิได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองของบุตรผู้เยาว์ตามกฎหมาย และไม่มีสิทธิตามมาตรา 1567(1) ถึง (14) การที่จำเลยกักบุตรผู้เยาว์ไว้จึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจและไม่ชอบด้วยกฎหมายโจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกบุตรผู้เยาว์คืนจากจำเลยได้ คู่ความมีหน้าที่ต้องนำพยานเข้าสืบในชั้นพิจารณาเพื่อสนับสนุนข้อกล่าวอ้างตามคำฟ้องหรือคำให้การของตนแสดงให้เห็นว่าข้อเท็จจริงเป็นดังที่ตนกล่าวอ้าง แต่เมื่อข้อเท็จจริงที่กล่าวอ้างในคำฟ้องและคำให้การเห็น ได้ชัดแจ้งแล้ว คู่ความก็ไม่จำต้องนำพยานเข้าสืบอีก เพราะแม้จะสืบพยานศาลก็ไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องและคำให้การได้อีก ในกรณีเช่นนี้ศาลมีอำนาจสั่งให้ งดสืบพยานได้ คำร้องขอเพิ่มคำฟ้องฎีกาซึ่งเพิ่มประเด็นจากคำฟ้องฎีกาฉบับเดิม ตกอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 247 ที่จะต้องยื่นภายในกำหนดเวลา 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ อันเป็นกำหนดระยะเวลาเดียวกันการยื่นคำฟ้องฎีกา หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้วจะขอเพิ่มเติมคำฟ้องฎีกาไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยอยู่กินฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสและมีบุตรด้วยกันคือ เด็กชาย ส.ปัจจุบันอายุ 2 ปี 5 เดือน ต่อมาโจทก์ทราบว่าจำเลยมีภริยาและบุตรมาก่อน ทำให้ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ และจำเลยได้ย้ายออกจากบ้านโจทก์ไป ครั้นวันที่ 12 ธันวาคม 2539 จำเลยได้เข้าไปในบ้านโจทก์ทำร้ายร่างกายโจทก์ แล้วแย่งเอาเด็กชาย ส.ไปจากความปกครองของโจทก์ โจทก์ติดต่อให้จำเลยส่งคืนเด็กชาย ส. แล้ว จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยส่งคืนเด็กชาย ส. แก่โจทก์ และห้ามจำเลยขัดขวางการใช้อำนาจปกครองเด็กชาย ส. ของโจทก์อีก
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์จำเลยได้เสียเป็นสามีภริยาโดยไม่ได้อยู่กินร่วมกันและมิได้จดทะเบียนสมรส เด็กชาย ส.เป็นบุตรของจำเลยกับโจทก์ เมื่อเด็กชาย ส. มีอายุประมาณ 1 ปีจำเลยได้พาโจทก์พร้อมเด็กชาย ส. ไปติดต่อนายทะเบียนผู้มีอำนาจขอจดทะเบียนรับรองบุตร แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากเด็กชาย ส. ไม่สามารถให้ความยินยอม เหตุที่จำเลยนำเด็กชาย ส. ไปเลี้ยงดูเพราะโจทก์ชอบเที่ยวเตร่ ประพฤติชั่ว ละเลยไม่เอาใจใส่เลี้ยงดูเด็กชาย ส. ไม่สมควรเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูบุตร ทั้งโจทก์ไม่เคยติดต่อขอให้จำเลยส่งคืนเด็กชาย ส. ดังที่อ้าง ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่าเด็กชาย ส. เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนให้จำเลยเป็นบิดาชอบด้วยกฎหมาย และให้ถอนอำนาจปกครองของโจทก์ โดยให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กชาย ส. ต่อไป
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำให้การของจำเลย ส่วนฟ้องแย้งเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ไม่รับฟ้องแย้ง ให้จำเลยแยกฟ้องเป็นคดีต่างหาก และมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาให้จำเลยส่งคืนเด็กชาย ส. แก่โจทก์ สำหรับคำขอที่ให้ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับเด็กชาย ส. ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาข้อแรกว่า การที่โจทก์เรียกบุตรผู้เยาว์คืนจากจำเลยนั้น จำเลยมิได้เป็นบุคคลอื่นตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1567(4) อันเป็นผลให้โจทก์มีสิทธิเรียกบุตรคืนจากจำเลยตามฟ้องได้ เห็นว่า บุคคลอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1567(4) หมายถึงบุคคลอื่นนอกจากผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรซึ่งได้แก่บิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของบุตร และเนื่องจากจำเลยกับโจทก์มิใช่สามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงมิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของบุตรผู้เยาว์ มิได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองของบุตรผู้เยาว์ตามกฎหมาย ไม่มีสิทธิตามมาตรา 1567(1) ถึง (4)จำเลยจึงเป็นบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรผู้เยาว์ไว้โดยไม่มีอำนาจเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกบุตรผู้เยาว์คืนจากจำเลยได้
จำเลยฎีกาข้อต่อมาว่า จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า โจทก์จำเลยตกลงกันว่าเมื่อบุตรผู้เยาว์มีอายุ 1 ปี โจทก์จะมอบบุตรให้จำเลยรับไปเลี้ยงดูและใช้อำนาจปกครองในขณะโจทก์ยื่นฟ้องบุตรผู้เยาว์มีอายุ 2 ปีแล้ว จำเลยมีสิทธิทำตามข้อตกลง ดังนั้น ศาลต้องสืบพยานเพื่อให้ได้ความว่าเป็นจริงดังจำเลยอ้างหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาคดี จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบนั้น เห็นว่า การที่คู่ความต้องนำพยานเข้าสืบในชั้นพิจารณาก็เพื่อสนับสนุนคำฟ้องหรือคำให้การของตนให้เห็นว่าข้อเท็จจริงเป็นไปดังที่คู่ความฝ่ายนั้นได้กล่าวอ้างไว้ เมื่อข้อเท็จจริงที่กล่าวอ้างในคำฟ้องและคำให้การเห็นได้โดยชัดแจ้งแล้วจึงไม่จำต้องให้คู่ความนำพยานเข้าสืบอีก เพราะแม้จะให้สืบพยานก็ไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องและคำให้การได้ที่ศาลชั้นต้นให้งดสืบพยานจึงชอบแล้ว
จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายด้วยการยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฎีกาและศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำร้องแล้วความว่า เมื่อวันที่ 16ธันวาคม 2540 อันเป็นเวลาหลังจากครบกำหนดยื่นฎีกาแล้วจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยจดทะเบียนรับเด็กชาย ส. ผู้เยาว์ เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลย และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอแล้วเมื่อวันที่24 กุมภาพันธ์ 2541 และจำเลยได้จดทะเบียนรับรองบุตรแล้วเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2541 จำเลยจึงเป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายและมีสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567(1) ถึง (4) ทุกประการ จึงไม่มีความจำเป็นต้องพิจารณาคดีของโจทก์อีกต่อไป ขอให้ยกฟ้องนั้น เห็นว่า คำร้องขอเพิ่มเติมคำฟ้องฎีกาซึ่งเป็นการเพิ่มเติมประเด็นจากฎีกาเดิมอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ที่จะต้องยื่นภายในกำหนดเวลา 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว อันเป็นกำหนดระยะเวลาการยื่นฎีกา เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวนี้แล้วจะขอเพิ่มเติมคำฟ้องฎีกาไม่ได้ คดีนี้ครบกำหนดระยะเวลาในการยื่นฎีกาวันที่ 10 ธันวาคม 2540 จำเลยยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมคำฟ้องฎีกาวันที่ 9 มีนาคม 2541 จึงพ้นกำหนดระยะเวลาการยื่นฎีกาแล้ว แม้ศาลชั้นต้นสั่งรับคำร้องขอเพิ่มเติมคำฟ้องฎีกาของจำเลยไว้ก็เป็นการไม่ชอบศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยส่งคืนเด็กชาย ส. แก่โจทก์และให้ยกคำขออื่นนั้นชอบแล้วฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share