แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยลักทรัพย์สำเร็จแล้ว ขณะหลบหนี ญ. ผู้ดูแลรักษาทรัพย์นั้นได้วิ่งไล่จับจำเลย จำเลยสะบัดหลุดแล้วใช้มีดแทง ญ. ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันยังไม่ขาดตอนจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยใช้มีดแทง ญ. อันเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้พ้นจากการจับกุม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๙,๓๗๑, ๙๑, ๘๓ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๑๔ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๒๕ มาตรา ๑๓ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔ และริบมีดปลายแหลม ๑ เล่ม ค้อน ๑ ด้าม ส่วนป้ายโฆษณาหาเสียง ๔ แผ่นคืนผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๙ วรรคสองและวรรคสาม, ๓๗๑ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๑๔ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๒๕ มาตรา ๑๓ ให้เรียงกระทงลงโทษข้อหาความผิดฐานชิงทรัพย์ให้ลงโทษตาม มาตรา ๓๓๙ วรรคสาม จำคุก ๑๐ ปี ฐานพาอาวุธตามมาตรา ๓๗๑ ปรับ ๘๐ บาท รวมเป็นโทษจำคุก ๑๐ ปี ปรับ ๘๐ บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาของศาล ขณะกระทำความผิดจำเลยเป็นนักศึกษาเพิ่งกระทำความผิดเป็นครั้งแรก ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามมาตรา ๗๘ คงจำคุก๕ ปั ปรับ ๔๐ บาท ค้อนและมีดของกลางให้ริบ ป้ายโฆษณาหาเสียง ๔ แผ่นคืนผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาโดยศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยถึงการกระทำความผิดของจำเลยว่า การที่จำเลยกับพวกรื้อป้ายโฆษณาหาเสียงจำนวน ๔ ป้าย จากที่ติดตั้งและนำไปกองรวมกันห่างจากจุดที่รื้อประมาณ ๑๐ เมตถือว่าการลักทรัพย์เป็นผลสำเร็จแล้ว และการที่จำเลยใช้มีดแทงนายใหญ่ที่วิ่งไล่จับจำเลย ขณะที่จำเลยหลบหนี หลังจากที่จำเลยสะบัดหลุดจากการจับเมื่อนายใหญ่พบเห็นการกระทำผิดที่จำเลยลักทรัพย์แล้ว ถือว่าเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกัน ทั้งนี้เพื่อให้พ้นจากการจับกุม การกระทำของจำเลยจึงเข้าเกณฑ์ความผิดฐานชิงทรัพย์ซึ่งตามคำวินิจฉัยดังกล่าวหมายความว่าการที่จำเลยลักทรัพย์สำเร็จแล้วหลบหนีและในขณะที่นายใหญ่วิ่งไล่จับจำเลยต่อเนื่องกันจำเลยก็ใช้มีดแทงนายใหญ่อันเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้พ้นจากการจับกุม ซึ่งเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์นั่นเอง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า “ถือว่าเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกัน” นั้น หมายความเพียงว่าการที่จำเลยใช้กำลังประทุษร้ายนายใหญ่เป็นเวลาติดต่อกันและยังไม่ขาดตอนจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ศาลฎีกาเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.