แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในการฟ้องคดีล้มละลายของเจ้าหนี้มีประกัน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 (2) บังคับให้โจทก์ต้องตีราคาหลักประกันมาในฟ้อง ซึ่งเมื่อหักกับจำนวนหนี้ของตนแล้ว เงินยังขาดสำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท เนื่องจากเจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันของลูกหนี้ที่จะบังคับชำระหนี้เอาแก่หลักประกันนั้นได้ก่อนเจ้าหนี้ไม่มีประกัน ซึ่งเมื่อนำราคาหลักประกันมาหักชำระหนี้แล้ว เงินยังขาดอยู่เท่าใด หนี้ส่วนที่เหลือย่อมเป็นหนี้ธรรมดาเฉกเช่นเดียวกันกับเจ้าหนี้ไม่มีประกัน ฉะนั้น การตีราคาหลักประกันจึงต้องถูกต้องเหมาะสมด้วย หากตีราคาหลักประกันต่ำเกินสมควรเพียงเพื่อจะให้จำนวนหนี้อยู่ในหลักเกณฑ์ในการฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็จะไม่เป็นธรรมแก่ลูกหนี้ ศาลจึงมีอำนาจพิจารณาตรวจสอบการตีราคาหลักประกันของโจทก์ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 เด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ให้จำเลยที่ 3 ใช้ ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยหักออกจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ยกฟ้อง
โจทก์และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเป็นยุติในชั้นนี้โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์โต้แย้งกันฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ ธ. 849/2545 รายละเอียดตามสำเนาคำพิพากษา จำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 151734 ตำบลท่าแร้ง (คลองถนน) อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพื่อนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาเป็นเงิน 1,762,460 บาท ตามสำเนารายงานการยึดอสังหาริมทรัพย์ อยู่ระหว่างขายทอดตลาด โจทก์เป็นเจ้าหนี้มีประกันของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งมิได้เป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับการชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้เกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า ราคาหลักประกันที่โจทก์ตีมาในฟ้องเหมาะสมแล้วหรือไม่ เห็นว่า ในการฟ้องคดีล้มละลายของเจ้าหนี้มีประกัน พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 (2) บังคับให้โจทก์ต้องตีราคาหลักประกันมาในฟ้อง ซึ่งเมื่อหักกับจำนวนหนี้ของตนแล้ว เงินยังขาดสำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท เนื่องจากเจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันของลูกหนี้ที่จะบังคับชำระหนี้เอาแก่หลักประกันนั้นได้ก่อนเจ้าหนี้ไม่มีประกัน ซึ่งเมื่อนำราคาหลักประกันมาหักชำระหนี้แล้ว เงินยังขาดอยู่เท่าใด หนี้ส่วนที่เหลือย่อมเป็นหนี้ธรรมดาเฉกเช่นเดียวกันกับเจ้าหนี้ไม่มีประกัน ฉะนั้น การที่ราคาหลักประกันจึงต้องถูกต้องเหมาะสมด้วย หากตีราคาหลักประกันต่ำเกินสมควรเพียงเพื่อจะให้จำนวนหนี้อยู่ในหลักเกณฑ์ในการฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็จะไม่เป็นธรรมแก่ลูกหนี้ ศาลจึงมีอำนาจพิจารณาตรวจสอบการตีราคาหลักประกันของโจทก์ด้วย คดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์จำนองอันเป็นหลักประกันเป็นเงิน 1,762,460 บาท ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้โต้แย้งการประเมินราคาของเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าราคาไม่สมควร กรณีถือได้ว่าโจทก์ยอมรับราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว การที่โจทก์ตีราคาหลักประกันมาใหม่ในฟ้องเป็นเงิน 803,432 บาท โดยโจทก์มีบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของนางสาวนงลักษณ์ ทนายโจทก์ว่า โจทก์ประเมินราคาหลักทรัพย์เป็นเงินดังกล่าว ตามแบบประเมินราคาทรัพย์สิน ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นราคาที่ต่ำกว่าที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ประมาณครึ่งหนึ่ง ตามแบบการประเมินดังกล่าวกระทำโดยบริษัท 1989 คอนซัลแทนส์ จำกัด ซึ่งประเมินโดยวิธีต้นทุน ใช้วิธีเปรียบเทียบกับราคาเสนอขายที่ดินบริเวณใกล้เคียง และสรุปว่าที่ดินหลักประกันมีราคาตารางวาละ 14,000 บาท เนื้อที่ 409/10 ตารางวา เป็นเงิน 572,600 บาท ส่วนสิ่งปลูกสร้างได้ทำการสำรวจเฉพาะภายนอกอาคาร ซึ่งหากสามารถเข้าสำรวจภายในอาคารได้ มูลค่าทรัพย์สินอาจเปลี่ยนแปลงไป โดยระบุสิ่งปลูกสร้างราคา 824,400 บาท เมื่อหักค่าเสื่อมราคาแล้วคงเหลือ 230,832 บาท จึงรวมเป็นราคาประเมิน 803,432 บาทไม่ปรากฏว่าการประเมินมีการอ้างอิงราคาประเมินที่ดินของสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร ทั้งโจทก์ก็มิได้นำผู้ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินมาอธิบายหลักเกณฑ์วิธีการประเมิน ดังนั้น การประเมินหลักประกันของโจทก์จึงไม่มีน้ำหนัก เชื่อว่าไม่น่าจะเป็นราคาที่ถูกต้องเหมาะสม ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคามาตั้งแต่ปี 2552 อันเป็นเวลานานกว่าสี่ปีแล้ว ซึ่งภายหลังเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทอดตลาดหลายครั้ง แต่ไม่สามารถขายได้ ราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่น่าเชื่อถือ เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์ว่ามีการขายทอดตลาดหลักประกันมาแล้วหลายครั้งแต่ขายไม่ได้นั้น โจทก์เพิ่งกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์โดยโจทก์ไม่เคยหยิบยกขึ้นว่าในชั้นพิจารณาของศาลล้มละลายกลางมาก่อน ทั้งโจทก์ไม่มีหลักฐานแสดงถึงการขายทอดตลาดหลักประกันในแต่ละครั้ง และเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องเลื่อนการขายออกไปเพราะราคาต่ำ ข้ออุทธรณ์ของโจทก์จึงเลื่อนลอยไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง เชื่อว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีถูกต้องเหมาะสมมากกว่าราคาประเมินที่โจทก์ดำเนินการโดยให้บริษัทเอกชนประเมิน ปรากฏว่าในวันฟ้องคดีนี้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นหนี้โจทก์รวมทั้งสิ้น 2,192,391.71 บาท เมื่อนำราคาประเมินหลักประกันของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเงิน 1,762,460 บาท มาหักออกจากจำนวนหนี้ดังกล่าวแล้วเงินยังขาดอยู่เพียง 429,931.71 บาท สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาอันเป็นจำนวนน้อยกว่าหนึ่งล้านบาท โจทก์จึงไม่อาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ล้มละลายได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 (2) ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยปัญหานี้ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ประการสุดท้ายว่า คดีมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 3 ล้มละลายหรือไม่ เห็นว่า การพิจารณาว่าลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งคนใดมีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่สามารถชำระหนี้ได้หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายนั้น เป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้ร่วมแต่ละคน แม้ราคาหลักประกันของจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำมาหักชำระหนี้โจทก์ จะทำให้จำนวนหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ถึงหนึ่งล้านบาท ต้องห้ามมิให้ฟ้องตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 (2) แต่เมื่อจำเลยที่ 3 ยังเป็นหนี้โจทก์ในวันฟ้องเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 2,192,391.71 บาท อันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท และโจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 3 มีหนี้สินล้นพ้นตัวโดยจำเลยที่ 3 ไม่นำพยานหลักฐานเข้าสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 3 มีหนี้สินล้นพ้นตัว ส่วนการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ได้หรือไม่ ก็ไม่ถือว่าเป็นเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 3 ล้มละลาย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ