คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4419/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 วรรคแรก เป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าเกี่ยวกับระยะเวลาการจ้าง ส่วนการกำหนดคุณสมบัติของพนักงานรัฐวิสาหกิจว่าพนักงานรัฐวิสาหกิจต้องมีอายุไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์ตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9(2)เป็นบทกฎหมายที่กำหนดคุณสมบัติไว้โดยเฉพาะ มิได้เกี่ยวกับระยะเวลาการจ้าง โจทก์มีอายุเกินหกสิบปีขาดคุณสมบัติที่จะเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ มาตรา 9(2) และต้องถูกบังคับให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 11(3) โจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะเหตุที่ขาดคุณสมบัติตามกฎหมายดังกล่าวมิใช่ถูกจำเลยเลิกจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 จำเลยจึงไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
ข้อตกลงใดที่ทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิหรือได้รับสิทธิน้อยกว่าที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนจะตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150
โจทก์พ้นจากการเป็นพนักงานของรัฐวิสาหกิจของจำเลยเนื่องจากเกษียณอายุแล้ว โจทก์ร้องขอทำงานเป็นพนักงานของจำเลยต่อไป โดยทำข้อตกลงกับกรรมการผู้จัดการของจำเลยว่าโจทก์จะทำงานต่อไปพลางก่อนเพื่อรอผลการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารของจำเลย สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยจะเกิดขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่แน่นอน ถือเป็นนิติกรรมที่มีเงื่อนไขบังคับก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 183 วรรคแรกเมื่อคณะกรรมการบริหารของจำเลยไม่อนุมัติให้จ้างโจทก์ทำงานกับจำเลยต่อไป สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยยังไม่เกิดขึ้นเนื่องจากเงื่อนไขบังคับก่อนตามนิติกรรมไม่สำเร็จโจทก์จึงไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยอีกต่อไปและไม่มีสิทธิตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534
ข้อตกลงที่จะไม่รับค่าจ้างสำหรับช่วงเวลาที่รอการอนุมัติของคณะกรรมการบริหารของจำเลยทำขึ้นก่อนที่โจทก์จะมีสิทธิตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534ไม่ถือเป็นการตัดสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงไม่ขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมมีผลบังคับได้ ไม่ตกเป็นโมฆะ

ย่อยาว

คดีทั้งห้าสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1ถึงโจทก์ที่ 5

โจทก์ทั้งห้าสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งห้าเคยเป็นลูกจ้างรายเดือนของจำเลย กำหนดจ่ายค่าจ้างในวันที่ 25 ของทุกเดือน เมื่อวันที่ 31สิงหาคม 2541 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า และให้การเลิกจ้างมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2541 ต่อมาจำเลยได้ตกลงจ้างโจทก์ทั้งห้าทำงานต่อไปจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน2541 แต่ในที่สุดจำเลยให้โจทก์ทั้งห้าได้ทำงานเพียงถึงวันที่ 25 กันยายน 2541 เท่านั้น อันเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 58,333.33 บาทค่าจ้างค้าง 26,225 บาท ค่าชดเชย 11,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 87,024 บาท ค่าจ้างค้าง38,850 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 734 บาทค่าชดเชย 11,000 บาท ค่าเสียหาย 512,820 บาท แก่โจทก์ที่ 2สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 73,528 บาท ค่าจ้างค้าง32,825 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 545 บาทค่าชดเชย 10,900 บาท ค่าเสียหาย 1,300,200 บาท แก่โจทก์ที่ 3สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 64,736 บาท ค่าจ้างค้าง28,900 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 364 บาทค่าชดเชย 10,900 บาท ค่าเสียหาย 381,590 บาท แก่โจทก์ที่ 4สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 50,620 บาท ค่าจ้างค้าง22,600 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 436 บาทและค่าชดเชย 10,900 บาท ค่าเสียหาย 298,430 บาท แก่โจทก์ที่ 5พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งห้าสำนวนให้การว่า เดิมจำเลยมีฐานะเป็นบริษัทมหาชน (จำกัด) ต่อมากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินได้เข้าถือหุ้นในธนาคารจำเลยจำนวนเกินกว่าร้อยละ 99 ทำให้จำเลยมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534ซึ่งทำให้จำเลยไม่อยู่ในบังคับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 และเป็นผลให้โจทก์ทั้งห้าซึ่งทุกคนมีอายุเกินกว่า60 ปีบริบูรณ์ในวันที่จำเลยมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจพ้นจากการเป็นพนักงานของจำเลยตามบทบัญญัติมาตรา 9(2), 11(3)แห่งพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 โจทก์ทั้งห้าไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541คงมีสิทธิเพียงได้รับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน ตามข้อ 47วรรคหนึ่งแห่งระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจพ.ศ. 2534 จำเลยไม่ได้ตกลงว่าจะจ้างโจทก์ทั้งห้าทำงานต่อไปจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2541 จำเลยจึงไม่มีพันธะที่จะต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้โจทก์ทั้งห้าสำหรับการปฏิบัติงานในเดือนกันยายน 2541 สัญญาจ้างระหว่างโจทก์ทั้งห้ากับจำเลยสิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมายมิใช่เกิดจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมจำเลยเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ต่อมาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2541 รัฐบาลได้ใช้มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศเข้าแทรกแซงกิจการของจำเลยโดยให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเข้าถือหุ้นเป็นจำนวนร้อยละ 99ทำให้จำเลยต้องแปรสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจและเป็นผลให้ลูกจ้างของจำเลยที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ซึ่งรวมโจทก์ทั้งห้าต้องพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจพ.ศ. 2518 มาตรา 9(2) จำเลยได้ประกาศเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าตามเอกสารหมาย จ.1 และ ล.3 หลังจากนั้นโจทก์ทั้งห้าและพนักงานที่ถูกเลิกจ้างยื่นหนังสือร้องขอทำงานกับจำเลยต่อไปนายศิริชัย สมบัติศิริ กรรมการผู้จัดการของจำเลยจัดประชุมพนักงานที่ยื่นหนังสือร้องขอทำงานต่อ ที่ประชุมมีมติว่านายศิริชัยจะนำเรื่องพนักงานที่เกษียณอายุขอทำงานต่อไปเสนอต่อคณะกรรมการบริหารของจำเลย โดยให้พนักงานที่ร้องขอทำงานต่อไปพลางก่อน หากคณะกรรมการบริหารของจำเลยอนุมัติการทำงานของพนักงานที่ร้องขอจะได้ต่อเนื่องไม่ขาดตอน ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่าถ้าคณะกรรมการบริหารของจำเลยไม่อนุมัติ ช่วงที่ทำงานไปจะไม่ได้รับค่าจ้าง ต่อมาคณะกรรมการบริหารของจำเลยไม่อนุมัติให้โจทก์ทั้งห้าทำงานต่อไปแล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยจ้างโจทก์ทั้งห้าทำงานโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา แม้จำเลยจำต้องเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้า เนื่องจากโจทก์ทั้งห้ามีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ต้องพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของจำเลยตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9(2) และมาตรา 11(3)ก็ไม่มีข้อยกเว้นใด ๆ ให้จำเลยไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายจ้างแรงงาน จำเลยจึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งห้าเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งเพื่อให้เป็นผลเลิกจ้างกันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 วรรคแรกอย่างไรก็ดี กรณีจะเป็นการเลิกจ้างโดยชอบก็ต่อเมื่อจำเลยต้องจ่ายสินค้างแก่โจทก์ทั้งห้าให้ครบจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวนั้นทีเดียวตามมาตรา 582 วรรคสอง ดังนั้นจำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งห้าตามฟ้องส่วนค่าจ้างระหว่างการทำงานในวันที่ 1 ถึง 25 กันยายน 2541เมื่อโจทก์ทั้งห้าตกลงในที่ประชุมกับนายศิริชัย กรรมการผู้จัดการของจำเลยว่าโจทก์ทั้งห้าจะทำงานไปพลางก่อนเพื่อรอมติของคณะกรรมการบริหารของจำเลยว่าจะอนุมัติให้โจทก์ทั้งห้าทำงานต่อไปหรือไม่ หากคณะกรรมการบริหารของจำเลยไม่อนุมัติโจทก์ทั้งห้าจะไม่ได้รับค่าจ้างในช่วงเวลาที่ทำงานไปก่อนเมื่อคณะกรรมการบริหารของจำเลยไม่อนุมัติให้จ้างโจทก์ทั้งห้าต่อไปตามที่โจทก์ทั้งห้าร้องขอ โจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันที่ 1 ถึง 25 กันยายน 2541 พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 58,333 บาทโจทก์ที่ 2 จำนวน 87,024 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 73,528 บาทโจทก์ที่ 4 จำนวน 64,736 บาท และโจทก์ที่ 5 จำนวน 50,620บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง(วันที่ 31 สิงหาคม 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งห้า คำขออื่นให้ยก

โจทก์ทั้งห้าและจำเลยทั้งห้าสำนวนอุทธรณ์

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งห้าหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ทั้งห้ามีอายุเกิน 60 ปี ต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขาดคุณสมบัติการเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9(2) และมาตรา 11(3)ซึ่งเป็นการพ้นจากตำแหน่งโดยผลของกฎหมาย มิใช่ถูกจำเลยเลิกจ้างจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งห้านั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 582 วรรคแรก บัญญัติว่า “ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้ แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน”บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าเกี่ยวกับระยะเวลาการจ้าง ส่วนการกำหนดคุณสมบัติของพนักงานรัฐวิสาหกิจว่าพนักงานรัฐวิสาหกิจต้องมีอายุไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์ตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9(2) เป็นบทกฎหมายที่กำหนดคุณสมบัติไว้โดยเฉพาะ มิได้เกี่ยวกับระยะเวลาการจ้างคดีนี้ โจทก์ทั้งห้ามีอายุเกินหกสิบปี ขาดคุณสมบัติที่จะเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 9(2) และต้องถูกบังคับให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 11(3) โจทก์ทั้งห้าจึงถูกเลิกจ้างเพราะเหตุที่ขาดคุณสมบัติตามกฎหมายดังกล่าว มิใช่ถูกจำเลยเลิกจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582จำเลยจึงไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งห้า

ส่วนที่โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์ว่า จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างระหว่างวันที่ 1 ถึง 25 กันยายน 2541 ให้แก่โจทก์ทั้งห้าเนื่องจากโจทก์ทั้งห้าได้ทำงานให้แก่จำเลยในช่วงเวลาดังกล่าวและจำเลยได้รับประโยชน์จากผลการทำงานของโจทก์ทั้งห้าไปแล้ว แม้โจทก์ทั้งห้าได้ตกลงกับนายศิริชัย สมบัติศิริ กรรมการผู้จัดการของจำเลยว่า โจทก์ทั้งห้าจะขอทำงานต่อไปพลางก่อนเพื่อรอการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารของจำเลยว่าจะให้โจทก์ทั้งห้าทำงานต่อไปหรือไม่ หากคณะกรรมการบริหารของจำเลยอนุมัติให้โจทก์ทั้งห้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยต่อไปจำเลยจะจ่ายค่าจ้างย้อนหลังให้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2541เป็นต้นไป หากคณะกรรมการบริหารของจำเลยไม่อนุมัติ โจทก์ทั้งห้าจะไม่ได้รับค่าจ้างที่ทำงานมาก็ตาม เงื่อนไขตามข้อตกลงดังกล่าวขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนตกเป็นโมฆะ ถือว่าไม่มีเงื่อนไขดังกล่าว จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างในวันที่ 1 ถึง 25 กันยายน 2541 ให้แก่โจทก์ทั้งห้า เห็นว่าข้อตกลงใดที่ทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิหรือได้รับสิทธิน้อยกว่าที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานอันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนจะตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150ต่อเมื่อผู้ที่ทำข้อตกลงนั้นเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน คดีนี้ได้ความว่าเมื่อโจทก์ทั้งห้าพ้นจากการเป็นพนักงานของจำเลยเนื่องจากเกษียณอายุแล้วโจทก์ทั้งห้าร้องขอทำงานเป็นพนักงานของจำเลยต่อไปโดยทำข้อตกลงกับนายศิริชัย สมบัติศิริ กรรมการผู้จัดการของจำเลยว่า โจทก์ทั้งห้าจะทำงานต่อไปพลางก่อนเพื่อรอผลการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารของจำเลย ดังนี้สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ทั้งห้ากับจำเลยจะเกิดขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่แน่นอน ถือเป็นนิติกรรมที่มีเงื่อนไขบังคับก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 183 วรรคแรก เมื่อคณะกรรมการบริหารของจำเลยไม่อนุมัติให้จ้างโจทก์ทั้งห้าทำงานกับจำเลยต่อไปสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ทั้งห้ากับจำเลยยังไม่เกิดขึ้นเนื่องจากเงื่อนไขบังคับก่อนตามนิติกรรมไม่สำเร็จ โจทก์ทั้งห้าจึงไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยอีกต่อไปและไม่มีสิทธิตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534ข้อตกลงที่จะไม่รับค่าจ้างสำหรับช่วงเวลาที่รอการอนุมัติของคณะกรรมการบริหารของจำเลยนั้นทำขึ้นก่อนที่โจทก์ทั้งห้าจะมีสิทธิตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์พ.ศ. 2534 ไม่ถือเป็นการตัดสิทธิของโจทก์ทั้งห้าที่จะได้รับตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงไม่ขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ย่อมมีผลบังคับได้ ไม่ตกเป็นโมฆะ

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ทั้งห้าที่ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งห้าเสียด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share