แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มิได้บัญญัติเรื่องการยื่นบัญชีระบุพยานในคดีอาญาไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาใช้บังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 โจทก์ยื่นคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมคือพันตำรวจเอกส.และพันตำรวจตรีป. หลังจากสืบพยานโจทก์ไปแล้ว โดยอ้างเหตุว่าเพิ่งทราบจากคำพยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจที่ร่วมสืบสวนและติดตามจับกุมจำเลยมาตั้งแต่ต้นว่า พันตำรวจเอกส. และพันตำรวจตรี ป.กับพวกที่โจทก์ขอระบุพยานเพิ่มเติมเป็นผู้สกัดจับจำเลยได้ ส่วนพยานโจทก์ที่นำเข้าสืบไปแล้วเป็นเพียง ผู้ติดตามเข้าสมทบในการจับกุมจำเลยทั้งสามภายหลัง ดังนี้ ย่อมถือได้ว่ามีเหตุอันสมควรอื่นใดที่โจทก์จะระบุ พันตำรวจเอกส. และพันตำรวจตรี ป. เป็นพยานเพิ่มเติมได้แม้จะพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้ว ประกอบกับพยานทั้งสองปากนี้ไม่ใช่พยานคู่ กับพยานโจทก์ที่ได้เบิกความไปแล้ว จำเลยย่อมมีโอกาสที่จะถาม ค้านและนำสืบหักล้างพยานที่โจทก์ขอระบุพยานเพิ่มเติมนี้ได้ อย่างเต็มที่จำเลยจึงไม่เสียเปรียบ และเมื่อเป็นพยานสำคัญ การที่จะวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นให้เป็นไปโดยเที่ยงธรรม จึงต้องสืบพยานทั้งสองปากนี้ การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ ระบุพยานเพิ่มเติมจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคท้าย ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 244, 247, 83, 32, 33 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 244 ประกอบมาตรา 247, 83 จำคุกคนละ3 ปี ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 2 ปี ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอถอนฎีกาศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาต ให้จำหน่ายคดีจำเลยที่ 1 เสียจากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ระบุพยานเพิ่มเติมตามคำร้องขอระบุพยานที่เพิ่มเติมลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2537 เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เห็นว่า เรื่องการยื่นบัญชีระบุพยานในคดีอาญาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 บัญญัติไว้ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2535 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่โจทก์ยื่นคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติม กำหนดให้คู่ความยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน และหากจะยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมให้ยื่นก่อนระยะเวลาดังกล่าวสิ้นสุดลง หากพ้นระยะเวลาดังกล่าวคู่ความฝ่ายใดประสงค์ที่จะระบุพยานเพิ่มเติมจะต้องขออนุญาตต่อศาล โดยอ้างเหตุอันสมควรแสดงได้ว่าตนไม่สามารถทราบได้ว่าต้องนำพยานหลักฐานบางอย่างมาสืบเพื่อประโยชน์ของตนหรือไม่ ทราบว่าพยานหลักฐานบางอย่างได้มีอยู่หรือมีเหตุอันสมควรอื่นใด และถ้าศาลเห็นว่า เพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้น ก็ให้ศาลอนุญาตตามคำร้อง
สำหรับคดีนี้ โจทก์ยื่นคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมคือพันตำรวจเอกเสกสันต์ อุ่นเจริญ และพันตำรวจตรีประวิทย์ ขออาพัดหลังจากสืบพยานโจทก์ไปแล้วโดยอ้างเหตุว่า เพิ่งจะทราบจากคำพยานคือร้อยตำรวจเอกปฐมพงษ์ เพชรพิรุณและจ่าสิบตำรวจจตุพงษ์ หงษ์กาญจนพงษ์ ที่โจทก์ส่งประเด็นไปสืบว่า ผู้ที่ทำการจับกุมจำเลยทั้งสามในตอนแรกคือพยานทั้งสองนี้ แม้ตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.4 จะระบุไว้แล้วว่าพยานทั้งสองนี้เป็นผู้ร่วมจับกุมอยู่ด้วย แต่ในบันทึกการจับกุมดังกล่าวมีเจ้าพนักงานตำรวจผู้ร่วมจับกุมถึง 22 คน ซึ่งตามปกติย่อมไม่มีความจำเป็นที่โจทก์จะต้องอ้างบุคคลเหล่านี้เป็นพยานทั้งหมดประกอบกับในสำนวนการสอบสวนและบันทึกการจับกุมไม่ได้ระบุรายละเอียดในการติดตามจับกุมจำเลยทั้งสามของผู้จับไว้ โจทก์ย่อมเข้าใจว่าการอ้างร้อยตำรวจเอกปฐมพงษ์และจ่าสิบตำรวจจตุพงษ์ เจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามซึ่งเป็นผู้ร่วมสืบสวนและติดตามจับกุมจำเลยทั้งสามมาตั้งแต่ต้นเป็นพยานก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่เมื่อส่งประเด็นไปสืบพยานทั้งสองปากนี้แล้วได้ความว่าพันตำรวจเอกเสกสันต์และพันตำรวจตรีประวิทย์ กับพวกเป็นผู้สกัดจับจำเลยทั้งสามได้ส่วนร้อยตำรวจเอกปฐมพงษ์และจ่าสิบตำรวจจตุพงษ์เป็นเพียงผู้ติดตามเข้าสมทบในการจับกุมจำเลยทั้งสามภายหลัง ย่อมถือได้ว่ามีเหตุอันสมควรอื่นใดที่โจทก์จะระบุพันตำรวจเอกเสกสันต์และพันตำรวจตรีประวิทย์เป็นพยานเพิ่มเติมได้แม้จะพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้ว ประกอบกับพยานทั้งสองปากนี้ไม่ใช่พยานคู่กับร้อยตำรวจเอกปฐมพงษ์และจ่าสิบตำรวจจตุพงษ์ที่ได้เบิกความไปแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีโอกาสที่จะถามค้านและนำสืบหักล้างพยานทั้งสองปากนี้ด้อย่างเต็มที่ จึงหาทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เสียเปรียบไม่และเนื่องจากพยานทั้งสองปากนี้เป็นพยานสำคัญ การที่จะวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นให้เป็นไปโดยเที่ยงธรรม จึงต้องสืบพยานทั้งสองปากนี้การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ระบุพยานเพิ่มเติม จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคท้าย ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แล้ว
พิพากษายืน