แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่างานที่มีการฟ้องร้องในคดีนั้นเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ และโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าว เว้นแต่จำเลยจะโต้แย้งว่าไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือโต้แย้งลิขสิทธิ์ของโจทก์ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หนังสือพรหมญาณพยากรณ์อันเป็นงานวรรณกรรมและไพ่พรหมญาณ 1 ชุด มี 67 ใบ อันเป็นงานศิลปกรรม และในขั้นตอนการไต่สวนมูลฟ้องจำเลยยังไม่ได้ให้การ จำเลยจึงยังไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวว่าโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หนังสือและไพ่ดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนมูลฟ้องโจทก์รับฟังได้ว่าจำเลยนำไพ่อันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ไปพิมพ์โฆษณาเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ โปรแกรมไลน์ และเว็บไซต์ยูทูบ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์และเพื่อทางการค้าของจำเลย คดีโจทก์จึงมีมูลตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 และมาตรา 69 และ ป.อ. มาตรา 91
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 27, 69 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้จำเลยระงับ ละเว้น หรือหยุดการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ ให้ยึด หรือริบทรัพย์สินอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดคืนให้โจทก์ และสั่งให้นำค่าปรับที่จำเลยชำระตามคำพิพากษาจ่ายให้แก่โจทก์เจ้าของลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่ง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คดีโจทก์มีมูลหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “คดีเกี่ยวกับลิขสิทธิ์…ตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่างานที่มีการฟ้องร้องในคดีนั้น เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์… และโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์…ในงานดังกล่าว เว้นแต่จำเลยจะโต้แย้งว่าไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์… หรือโต้แย้งสิทธิของโจทก์” ดังนั้นเมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หนังสือพรหมญาณพยากรณ์อันเป็นงานวรรณกรรม และไพ่พรหมญาณจำนวน 1 ชุด ซึ่งมีทั้งหมด 67 ใบ อันเป็นงานศิลปกรรม ทั้งปรากฏจากคำเบิกความโจทก์ตอบคำถามติงของทนายโจทก์ว่า รูปภาพและหนังสือเป็นการคิดค้นโดยโจทก์ทั้งหมด มิได้ดัดแปลงมาจากผู้ใด ยกเว้นรูปภาพไพ่โจทก์เป็นผู้กำหนดข้อมูล บุคลิกลักษณะ และสีสันต่าง ๆ โดยจ้างศิลปินวาดขึ้นใหม่ทั้งหมด และในขั้นตอนการไต่สวนมูลฟ้องจำเลยยังไม่ได้ให้คำให้การเนื่องจากห้ามมิให้ศาลถามคำให้การจำเลยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 165 วรรคสาม จำเลยจึงยังไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวว่าโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หนังสือและไพ่ดังกล่าว เมื่อโจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว โจทก์ย่อมสามารถนำพยานหลักฐานมาสืบรายละเอียดการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ในชั้นพิจารณาได้หากจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์ หาจำต้องกระทำตั้งแต่ชั้นไต่สวนมูลฟ้องไม่ ประกอบกับการพิจารณาพยานหลักฐานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นการพิจารณาเพียงว่าคดีโจทก์มีมูลพอ ที่จะประทับฟ้องไว้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปหรือไม่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีภาระการไต่สวนให้เห็นว่าคดีโจทก์มีมูล กล่าวคือ โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรม เมื่อได้ความตามทางไต่สวนว่าโจทก์มิได้เป็นผู้สร้างสรรค์หรือผู้ร่วมสร้างสรรค์งานศิลปกรรมตามฟ้อง ทั้งไม่ปรากฏว่าเป็นการจ้างแรงงานหรือจ้างทำของ และไม่ปรากฏความตกลงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์กับศิลปินผู้วาด จึงฟังว่าคดีของโจทก์ไม่มีมูลนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนมูลฟ้องโจทก์รับฟังได้ว่า จำเลยนำไพ่อันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ ไปพิมพ์โฆษณาเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์คมชัดลึกฉบับลงวันที่ 10 มิถุนายน 2556 และหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับลงวันที่ 17 มิถุนายน 2556 ต่อมาจำเลยนำภาพจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันดังกล่าว ไปลงในโปรแกรมไลน์และโฆษณาเผยแพร่ในเว็บไซต์ยูทูบ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ และเพื่อทางการค้าของทางจำเลย คดีโจทก์จึงมีมูลตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 มาตรา 69 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ประทับฟ้อง