คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1041/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 41 มิใช่ความผิดอันยอมความได้ จึงมิใช่ความผิดส่วนตัว ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะพิจารณาว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4
บริษัท ค. มีกรรมการทั้งหมด 9 คน จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 เป็นกรรมการบริษัทด้วย โดยผู้มีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัท คือจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อร่วมกับจำเลยที่ 2 หรือกรรมการอื่นรวม 2 คน และประทับตราสำคัญของบริษัท มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทได้ กรณีคดีนี้เป็นความผิดที่ได้กระทำต่อนิติบุคคลซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (3) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 บัญญัติให้ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคลเป็นผู้ฟ้องคดีแทน เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทและเป็นผู้กระทำผิดต่อบริษัท ค. ซึ่งเป็นนิติบุคคลนั้นเอง ย่อมจะไม่ฟ้องคดีแทนนิติบุคคลเพื่อกล่าวหาตนเอง เมื่อเป็นดังนี้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นซึ่งมีประโยชน์ได้เสียร่วมกับนิติบุคคลนั้นย่อมได้รับความเสียหาย ทั้ง ป.พ.พ. มาตรา 1169 ก็บัญญัติไว้ว่าถ้ากรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทและบริษัทไม่ฟ้องคดี ผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งฟ้องคดีได้ ดังนี้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นจึงเป็นผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์ของบริษัท ค. ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28 (2) ประกอบมาตรา 2 (4) และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ได้ และต้องถือว่าโจทก์ฟ้องแทนบริษัท ค. ด้วย
ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของบริษัท ค. มีมติให้หยุดการฟ้องร้องและพิพาทระหว่างผู้ถือหุ้นกับกรรมการบริษัท เป็นมติที่ไม่มีข้อความตอนใดเลยที่แสดงว่าผู้ถือหุ้นของบริษัท ค. ซึ่งรวมทั้งโจทก์ด้วย ตกลงไม่ติดใจเอาความในทางอาญาแก่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีเจตนาไม่ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ต่อไป และไม่เป็นการยอมความทางอาญาในความผิดฐานร่วมกันยักยอกโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันยกยอกจึงไม่ระงับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353, 83, 90 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 41
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 41 การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 จำเลยที่ 2 และที่ 4 ถึงแก่ความตาย ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 และที่ 4
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) หรือไม่ สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 41 มิใช่ความผิดอันยอมความได้ จึงมิใช่ความผิดส่วนตัว ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะพิจารณาว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย ส่วนความผิดฐานร่วมกันยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 นั้น ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในชั้นฎีกาว่า เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2550 มีการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของบริษัทเครื่องกีฬา ยูนิเวอร์แซล (ไทย) จำกัด โดยโจทก์มอบอำนาจให้นายเฉา ยง หมิง เข้าร่วมประชุม และที่ประชุมมีมติให้ยุติการฟ้องร้องและพิพาทระหว่างผู้ถือหุ้นกับกรรมการบริหารทั้งหมด ตามรายงานการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2007 (2550) เห็นว่า บริษัทเครื่องกีฬา ยูนิเวอร์แซล (ไทย) จำกัด มีกรรมการทั้งหมด 9 คน จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 เป็นกรรมการบริษัทด้วย โดยผู้มีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัท คือจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อร่วมกับจำเลยที่ 2 หรือกรรมการอื่นรวม 2 คน และประทับตราสำคัญของบริษัท มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทได้ กรณีคดีนี้เป็นความผิดที่ได้กระทำต่อนิติบุคคลซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (3) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 บัญญัติให้ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคลเป็นผู้ฟ้องคดีแทน เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทและเป็นผู้กระทำผิดต่อบริษัทเครื่องกีฬา ยูนิเวอร์แซล (ไทย) จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลนั้นเอง ย่อมจะไม่ฟ้องคดีแทนนิติบุคคลเพื่อกล่าวหาตนเอง เมื่อเป็นดังนี้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นซึ่งมีประโยชน์ได้เสียร่วมกับนิติบุคคลนั้นย่อมได้รับความเสียหาย ทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 ก็บัญญัติไว้ว่าถ้ากรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทและบริษัทไม่ฟ้องคดี ผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งฟ้องคดีได้ ดังนี้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นจึงเป็นผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์ของบริษัทเครื่องกีฬา ยูนิเวอร์แซล (ไทย) จำกัด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 (2) ประกอบมาตรา 2 (4) และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ได้ และต้องถือว่าโจทก์ฟ้องแทนบริษัทเครื่องกีฬา ยูนิเวอร์แซล (ไทย) จำกัด ด้วย
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า การที่ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของบริษัทเครื่องกีฬา ยูนิเวอร์แซล (ไทย) จำกัด มีมติให้ยุติการฟ้องร้องและพิพาทระหว่างผู้ถือหุ้นกับกรรมการบริหารทั้งหมดเป็นการยอมความหรือไม่ เห็นว่า มติที่ประชุมดังกล่าวไม่มีข้อความตอนใดเลยที่แสดงว่าผู้ถือหุ้นของบริษัทเครื่องกีฬา ยูนิเวอร์แซล (ไทย) จำกัด ซึ่งรวมทั้งโจทก์ด้วย ตกลงไม่ติดใจเอาความในทางอาญาแก่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีเจตนาไม่ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ต่อไป และไม่เป็นการยอมความทางอาญาในความผิดฐานร่วมกันยักยอกโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันยักยอกจึงไม่ระงับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share