คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4874/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นมารดาของ ส. จำเลยที่ 2 ที่ 3เป็นบิดามารดาและผู้ดูแลปกครองจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์และจำเลยที่ 1 กับพวกได้ทำร้าย ส.เป็นเหตุให้ส. ถึงแก่ความตายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์มิได้เป็นมารดาหรือผู้ปกครองโดยชอบธรรมของ ส. ฟ้องโจทก์ขาดอายุความจำเลยที่ 1 เป็นผู้เยาว์โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใหญ่มีความรับผิดชอบตนเองแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 ทั้งจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำละเมิดต่อ ส.ค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายที่โจทก์ฟ้องสูงเกินไป คดีอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีอาญายังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำผิด และฟ้องโจทก์เคลือบคลุมขอให้ยกฟ้อง ในชั้นชี้สองสถานศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อหนึ่งว่า “จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่” และปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในภายหลังว่า “คู่ความแถลงขอให้รอฟังผลคดีอาญาจนถึงที่สุดโดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 ยอมรับผลของคดีอาญาดังกล่าวเมื่อถึงที่สุด คดีมีประเด็นเรื่องค่าเสียหายเท่านั้น” ดังนี้คำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3มิใช่บิดามารดาของจำเลยที่ 1 ในขณะเกิดเหตุ เพราะมีบุคคลภายนอกได้จดทะเบียนรับจำเลยที่ 1 เป็นบุตรบุญธรรมก่อนเกิดเหตุแล้วจำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงไม่ใช่ผู้แทนโดยชอบธรรมในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 1 ในขณะเกิดเหตุ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทข้อดังกล่าว ซึ่งคู่ความได้สละประเด็นไปแล้ว คงเหลือประเด็นเรื่องค่าเสียหายเท่านั้น แม้ศาลจะอนุญาตให้แก้ไขคำให้การก็ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทข้อนี้ และข้ออื่น ๆ เว้นแต่เรื่องค่าเสียหายเปลี่ยนแปลงไปคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงไม่เป็นสาระแก่คดีจึงชอบที่ศาลจะไม่รับคำร้องขอแก้ไขคำให้การนั้น

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นมารดาของนายสมเกียรติ จำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นบิดามารดาและผู้ดูแลปกครองจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2526 จำเลยที่ 1 กับพวกได้เข้าทำร้ายนายสมเกียรติ เป็นเหตุให้นายสมเกียรติได้รับบาดเจ็บสาหัสและถึงแก่ความตาย โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดขณะเกิดเหตุอายุ 18 ปี อยู่ในความปกครองดูแลของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในฐานะบิดามารดาของจำเลยที่ 1 ต้องใช้ความระมัดระวังดูแลมิให้บุตรก่อความเสียหายแก่บุคคลอื่นจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 655,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์เป็นหญิงมีสามีไม่ได้รับความยินยอมจากสามีให้ฟ้องคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์มิได้เป็นมารดาหรือผู้ปกครองโดยชอบธรรมของนายสมเกียรติตรีกนกพันธ์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ จำเลยที่ 1 เป็นผู้เยาว์โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใหญ่มีความรับผิดชอบตนเองแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2ที่ 3 ทั้งจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำละเมิดต่อนายสมเกียรติผู้ตายค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายที่โจทก์ฟ้องสูงเกินไปรวมแล้วอย่างมากไม่ควรเกิน 10,000 บาท คดีอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีอาญายังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำผิด โจทก์ชิงฟ้องทางแพ่งก่อนเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นทำการชี้สองสถานและกำหนดประเด็นข้อพิพาทแล้วต่อมามีคำสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราวเพื่อรอฟังผลคดีส่วนอาญา เมื่อคดีอาญาศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไป
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ยื่นคำร้องขออนุญาตแก้ไขคำให้การ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกาว่าคำร้องขอแก้ไขคำให้การจำเลยที่ 2 ที่ 3 อ้างเหตุผลเพิ่มเติมข้อต่อสู้ในคำให้การเดิมว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 มิใช่บิดามารดาของจำเลยที่ 1 ในขณะเกิดเหตุคดีนี้ เพราะนายเนตร โพธิรุ่ง ได้จดทะเบียนรับจำเลยที่ 1เป็นบุตรบุญธรรมก่อนเกิดเหตุคดีนี้แล้ว จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงไม่ใช่ผู้แทนโดยชอบธรรมในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ในขณะเกิดเหตุคดีนี้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3เป็นคำร้องขอแก้ไขคำให้การที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนขอศาลฎีกาสั่งรับคำร้องขอแก้ไขคำให้การจำเลยที่ 2 ที่ 3 นั้นเห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อ 3. ว่า “จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่”ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 22 มกราคม2529 ว่า “คู่ความแถลงขอให้รอฟังผลคดีอาญาจนถึงที่สุดโดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 ย่อมรับผลของคดีอาญาดังกล่าวเมื่อถึงที่สุดคดีมีประเด็นเรื่องค่าเสียหายเท่านั้น” ดังนี้ คำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทข้อ 3. ซึ่งคู่ความได้สละประเด็นไปแล้ว คงเหลือประเด็นเรื่องค่าเสียหายเท่านั้นแม้ศาลจะอนุญาตให้แก้ไขคำให้การก็ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทข้อ 3. และข้ออื่น ๆ เว้นแต่เรื่องค่าเสียหายเปลี่ยนแปลงไปคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงไม่เป็นสาระแก่คดีที่ศาลล่างทั้งสองไม่รับคำร้องขอแก้ไขคำให้การจำเลยที่ 2 ที่ 3 นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาจำเลยที่ 2 ที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share