แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ในกรณีเจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้รับจำนองประสงค์จะฟ้องบังคับจำนอง กฎหมายบังคับให้เจ้าหนี้ต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้จำนองซึ่งเป็นลูกหนี้ และต้องกำหนดเวลาอันสมควรเพื่อให้โอกาสผู้จำนองชำระหนี้จำนอง การบอกกล่าวจึงเป็นเงื่อนไขที่ผู้รับจำนองจะต้องกระทำให้ถูกต้องก่อน จึงจะฟ้องบังคับจำนองได้ การบอกกล่าวดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาที่ต้องมีผู้รับการแสดงเจตนา ซึ่งกฎหมายกำหนดคือผู้จำนองฉะนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ส. ผู้จำนองถึงแก่กรรมก่อนโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแม้จะมีผู้อื่นรับหนังสือนั้นไว้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อ ส. ผู้จำนองถึงแก่กรรม มรดกรวมตลอดถึงสิทธิหน้าที่และความรับผิดย่อมตกทอดแก่ทายาทของ ส. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599,1600 ถ้ามีผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองแล้ว หากโจทก์ประสงค์จะบังคับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวแก่ผู้รับโอนล่วงหน้า 1 เดือนก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 735 ถ้ายังไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง แต่ ส. ผู้จำนองมีทายาทหรือผู้จัดการมรดก โจทก์ต้องบอกกล่าวเป็นจดหมายหรือหนังสือล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน แก่บุคคลดังกล่าวซึ่งเป็นเสมือนผู้รับโอนทรัพย์สินที่จำนอง จึงจะฟ้องบังคับจำนองได้ เมื่อโจทก์มิได้บอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นทายาทผู้จำนองก่อนฟ้อง และการที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3และที่ 4 ถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับจำนอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,028,850.43 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 25 ต่อปี ของเงินต้น 496,773.97 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระเงินหรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์จำนองนำออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ ถ้าไม่พอชำระ ให้ยึดหรือบังคับคดีเอากับทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่และทรัพย์สินในกองมรดกของนางสุนาผู้ตายเพื่อนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสี่ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน1,028,850.43 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 25 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 496,773.97 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตน
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า เมื่อวันที่10 กรกฎาคม 2535 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญากู้เงินจากโจทก์จำนวน 500,000 บาทยินยอมให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี และให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยได้ ตกลงชำระดอกเบี้ยทุกเดือน กำหนดชำระเงินคืนเมื่อโจทก์ทวงถาม มีนางสุนา ไชยแก้ว ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจำนองที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 44107ตำบลป่าอ้อดอนชัย อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงรายพร้อมสิ่งปลูกสร้างต่อโจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้ โดยมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองว่าหากบังคับจำนองเอาทรัพย์ที่จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้ นางสุนายอมใช้เงินที่ขาดนั้นจนครบหลังจากทำสัญญา จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์เพียง 2 ครั้ง โดยชำระครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2536 จำนวน 20,000 บาท วันที่ 31 กรกฎาคม 2536จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังคงค้างชำระหนี้โจทก์เป็นต้นเงิน 496,773.97 บาท และดอกเบี้ย65,900.47 โจทก์จึงมอบให้ทนายความมีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยที่ 1 และที่ 2ให้ชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองแก่นางสุนา เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2539 แต่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และนางสุนาไม่ชำระหนี้ ต่อมาวันที่ 23 กรกฎาคม 2540 โจทก์จึงทราบว่านางสุนาถึงแก่กรรมแล้วเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2539 จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายและทายาทมีสิทธิรับมรดกของนางสุนา โจทก์จึงฟ้องบังคับจำนองเอาแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองหลังจากนางสุนาถึงแก่กรรมแล้ว ถือว่าโจทก์ยังมิได้บอกกล่าวบังคับจำนอง จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับจำนอง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาข้อแรกว่า โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองไปยังนางสุนาลูกหนี้ผู้จำนองในขณะที่โจทก์ไม่ทราบว่านางสุนาถึงแก่กรรมแล้ว ปรากฏว่ามีผู้รับหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองแทนผู้ตาย จึงถือได้ว่าโจทก์ได้บอกกล่าวบังคับจำนองไปยังลูกหนี้ผู้จำนองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 แล้วพิเคราะห์แล้วมาตรา 728 บัญญัติว่าเมื่อจะบังคับจำนอง ผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร ซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น ถ้าและลูกหนี้ละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองและให้ขายทอดตลาดก็ได้เห็นว่า ในกรณีที่เจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้รับจำนองประสงค์จะฟ้องบังคับจำนอง กฎหมายบังคับให้เจ้าหนี้ต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้จำนองซึ่งเป็นลูกหนี้ ในคำบอกกล่าวนั้นเจ้าหนี้จะต้องกำหนดเวลาให้ผู้จำนองชำระหนี้จำนอง และกำหนดเวลาดังกล่าวจะต้องเป็นกำหนดเวลาอันสมควรด้วยทั้งนี้เพื่อให้โอกาสผู้จำนองชำระหนี้จำนอง ทำให้ไม่ต้องถูกฟ้องให้ศาลสั่งยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองไปขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้การบอกกล่าวจึงเป็นเงื่อนไขที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนองจะต้องกระทำให้ถูกต้องก่อนจึงจะฟ้องบังคับจำนองได้ การบอกกล่าวดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาที่จะต้องมีผู้รับการแสดงเจตนา ซึ่งกฎหมายกำหนดว่าคือผู้จำนองเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านางสุนาผู้จำนองถึงแก่กรรมก่อนโจทก์มีหนังสือบอกกล่าว แม้จะมีผู้อื่นรับหนังสือนั้นไว้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองที่ชอบด้วยกฎหมายอุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
โจทก์อุทธรณ์ข้อหลังว่า ในกรณีที่ลูกหนี้ผู้จำนองถึงแก่กรรมโจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับจำนองได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวบังคับจำนองหรือถ้าจะต้องบอกกล่าวบังคับจำนองการที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ก็ถือว่าเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว เห็นว่า เมื่อนางสุนาผู้จำนองถึงแก่กรรม มรดกของนางสุนาซึ่งรวมตลอดถึงสิทธิหน้าที่และความรับผิดของนางสุนาย่อมตกทอดแก่ทายาทของนางสุนาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1599, 1600 ถ้ามีผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองแล้ว โจทก์ประสงค์จะบังคับจำนองโจทก์ต้องมีจดหมายบอกกล่าวแก่ผู้รับโอนล่วงหน้า 1 เดือนก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 735 ถ้ายังไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง แต่นางสุนาผู้จำนองมีทายาทหรือผู้จัดการมรดก โจทก์ต้องบอกกล่าวแก่บุคคลดังกล่าวซึ่งเป็นเสมือนผู้รับโอนทรัพย์สินที่จำนอง การบอกกล่าวนี้กฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นจดหมายหรือหนังสือ และต้องบอกกล่าวล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน โจทก์จึงจะฟ้องบังคับจำนองได้ โจทก์มิได้บอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นทายาทของผู้จำนองก่อนฟ้อง และการที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นคดีนี้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับจำนอง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน