คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2034/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยยื่นคำร้องขอให้ตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์ที่จำนองแทนการขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 307 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 307 วรรคสาม

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 4,438,308.18 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงขอหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองคือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้ตามคำพิพากษา
จำเลยยื่นคำร้องว่า จำเลยประกอบกิจการอุตสาหกรรม พาณิชยกรรมและเกษตรกรรมโดยอาศัยอสังหาริมทรัพย์ที่จำนองซึ่งจำเลยสามารถมีรายได้นำมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา โดยจำเลยจะชำระหนี้แก่โจทก์ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 30,000 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2547 และจะชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 10 ปี หากขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนองจะทำให้จำเลยเสียหาย ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นทรัพย์จำนองแทนการขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกายื่นคำร้องขอให้ตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์ที่จำนองแทนการขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ย่อมเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307 วรรคสอง จำเลยไม่อาจฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต่อไปได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาจำเลย

Share