แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันเลียนแบบเครื่องหมายการค้าตราเด็กสมบูรณ์และคำว่า หยั่นหว่อหยุ่น ของโจทก์ โดยนำเอารูปรอยประดิษฐ์ตลอดจนสีสันในฉลากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปดัดแปลงเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองเพื่อใช้กับสินค้าชนิดเดียวกันทำให้สาธารณชนผู้บริโภคเกิดความสับสนในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ดังนี้ ตามฟ้องดังกล่าวแสดงว่าจำเลยเอาสินค้าของจำเลยไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์หรือโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งการลวงขายนี้เครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่จำเป็นต้องเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทุกประการ เพียงแต่คล้ายกันเช่นอย่างที่ปรากฏในคดีนี้ก็ถือว่าเป็นการลวงขายได้แล้ว ที่สำคัญก็คือเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปตามมาตรา 8 (10) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ ฉะนั้น แม้ภาคส่วนอื่นๆ ในฉลากที่โจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนไว้ โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องได้ตามมาตรา 46 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำขอเลขที่ 402540, 402541 และ 402542 และคำขออื่นซึ่งมีคำว่า หยั่น หว่อ หยุ่น ให้จำเลยทั้งสองตัดคำว่า หยั่น หว่อ หยุ่น ออกจากชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 และห้ามจำเลยทั้งสองใช้ชื่อทางการค้าคำว่า หยั่น หว่อ หยุ่น อีกต่อไป หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ห้ามจำเลยทั้งสองใช้คำว่า หยั่น หว่อ หยุ่น เป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสอง และห้ามใช้คำว่า หยั่น หว่อ หยุ่น ในลักษณะประดิษฐ์ รวมถึงการใช้คำว่า หยั่น หว่อ หยุ่น ในการโฆษณาขายสินค้าของจำเลยทั้งสอง ห้ามจำเลยทั้งสองใช้หรือยุ่งเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าตราเด็กสมบูรณ์ และคำว่า หยั่น หว่อ หยุ่น เจียงหยิ่น ของโจทก์ นอกจากนี้ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 2,000,000 บาท พร้อมทั้งชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 160,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะได้ปฏิบัติตามคำขอบังคับจนครบถ้วน
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาห้ามจำเลยทั้งสองใช้หรือยุ่งเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าตราเด็กสมบูรณ์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 100,000 บาท คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันรับฟังได้ว่า เดิมนายถ่ง แซ่ตั้ง ซึ่งเป็นบิดาของนายหมั่นซ้ง แซ่ตั้ง หรือชาญ เธียรกิจ นายนธี ตั้งสมบัติวิสิทธิ์ นายวิเชียร ตั้งสมบัติวิสิทธิ์ นายศิวะชัย ตั้งสมบัติวิสิทธิ์ และนายมงคลหรือยศธน ตั้งสมบัติวิสิทธิ์ จำเลยที่ 2 ได้ประกอบกิจการค้า มีร้านขายของชำพร้อมกับโรงงานขนาดเล็ก ผลิตซีอิ้วออกจำหน่ายในเครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้าคำว่า หยั่น หว่อ หยุ่น และตราเด็กสมบูรณ์โดยมีร้านขายของชำอยู่เลขที่ 1443 ถนนเจริญกรุง กับร้านขายของชำเลขที่ 501 ถนนสุขสวัสดิ์ กับมีโรงงานผลิตซีอิ้วซึ่งเดิมอยู่ที่ถนนประมวล ภายหลังจึงย้ายไปอยู่เลขที่ 767 ถนนวัดไผ่เงิน สำหรับร้านขายของชำเลขที่ 501 ถนนสุขสวัสดิ์นั้นต่อมาเป็นของนายหมั่นซ้งบุตรคนโต ร้านขายของชำเลขที่ 1443 ใช้เป็นที่อยู่อาศัยของนายถ่งกับบุตร คือ นายนธี จำเลยที่ 2 และนายศิระชัยกับนางสุรีย์ ภริยา ส่วนนายวิเชียรหลังจากแต่งงานกับนางสุมาลี เมื่อประมาณปี 2496 ก็แยกไปอยู่ที่โรงงานซีอิ้วเลขที่ 767 ถนนวัดไผ่เงิน ซึ่งขณะนั้นนายศิวะชัยกับจำเลยที่ 2 ยังเป็นเด็ก นายถ่งได้ส่งนายศิวะชัย และจำเลยที่ 2 ไปศึกษายังต่างประเทศ หลังจากจบการศึกษากลับมาแล้ว นายศิวะชัยได้ช่วยทำงานอยู่ที่โรงงานซีอิ้วเลขที่ 767 ส่วนจำเลยที่ 2 มาช่วยงานในร้านขายของชำเลขที่ 1443 จนกระทั่งในปี 2511 นายถ่งถึงแก่กรรม นายนธีได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกตามเอกสารหมาย จ.63 ต่อมาในปี 2518 นายศิวะชัย ถึงแก่กรรม หลังจากนั้นนอกจากนายวิเชียรแล้วก็ไม่มีบุตรของนายถ่งคนใดได้เข้ามาทำงานหรือเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการโรงงานซีอิ้วเลขที่ 767 ถนนวัดไผ่เงินอีกเลย ส่วนจำเลยที่ 2 และนางสุรีย์ภริยาของนายศิวะชัยก็ยังคงอยู่ในร้านขายของชำเลขที่ 1443 ที่มีนายนธีเป็นผู้ดูแลอยู่เช่นเดิม นายนธี ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายถ่งจึงขอให้จำเลยที่ 2 และนางสุรีย์ออกไปจากร้านโดยขอให้นายวิเชียรจ่ายเงินค่าตอบแทนให้จำเลยที่ 2 เป็นเงิน 4 ล้านบาทและจ่ายเงินให้นางสุรีย์เป็นเงิน 3 ล้านบาท แล้วนายนธีจะจดทะเบียนโอนเครื่องหมายการค้าตราเด็กสมบูรณ์รวมทั้งชื่อในทางการค้าคำว่า หยั่นหว่อหยุ่น ให้แก่นายวิเชียร นายวิเชียรตกลง จึงได้มีการเรียกให้นายกิติพจน์ วงศ์สืบสันติ ซึ่งเป็นทนายความที่ปรึกษาของครอบครัวมาจัดทำเอกสารตามข้อตกลงดังกล่าวที่ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.64
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในประการแรกว่า ส่วนอื่นในใบฉลากที่นอกจากเครื่องหมายการค้าที่โจทก์รับโอนมาจากนายวิเชียรนั้น โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ในประเด็นนี้จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่าในใบฉลากที่โจทก์ใช้กับสินค้านั้นภาคส่วนอื่นๆ ในฉลากนอกจากส่วนที่เป็นเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 14687 ทะเบียนเลขที่ 9352 อันได้แก่ รูปเด็กนั่งถือขวด มีอักษรภาษาไทยคำว่า ตราเด็กสมบูรณ์ และอักษรภาษาจีนคำว่า หยั่นหว่อหยุ่นเจียงหยิ่น แล้วโจทก์ไม่ได้จดทะเบียนไว้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเพื่อป้องกันการละเมิดหรือเรียกค่าเสียหายเพื่อการละเมิดสิทธิดังกล่าวได้ เห็นว่า เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันเลียนเครื่องหมายการค้าตราเด็กสมบูรณ์และคำว่าหยั่นหว่อหยุ่น ของโจทก์ โดยนำเอารูปรอยประดิษฐ์ ตลอดจนสีสันในฉลากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปดัดแปลงเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองเพื่อใช้กับสินค้าชนิดเดียวกันทำให้สาธารณชนผู้บริโภคเกิดความสับสนในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าดังนี้ ตามฟ้องดังกล่าวแสดงว่าจำเลยเอาสินค้าของจำเลยไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์หรือโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งการลวงขายนี้เครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่จำเป็นต้องเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทุกประการ เพียงแต่คล้ายกันเช่นอย่างที่ปรากฏในคดีนี้ก็ถือว่าเป็นการลวงขายได้แล้ว ที่สำคัญก็คือเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปตามมาตรา 8 (10) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ฉะนั้น แม้ภาคส่วนอื่นๆ ในฉลากที่โจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนไว้ โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องได้ตามมาตรา 46 วรรคสอง อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะวินิจฉัยต่อไปมีว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าโจทก์หรือไม่ ในประเด็นข้อนี้เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ฟังมายุติในเบื้องต้นว่า ชื่อในทางการค้าและเครื่องหมายการค้า คำว่า หยั่นหว่อหยุ่น ถือว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปแล้ว ก็ย่อมจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ฉะนั้น บุคคลอื่นจึงไม่อาจนำคำว่า หยั่นหว่อหยุ่น ไปใช้ประกอบเป็นชื่อในทางการค้าหรือเครื่องหมายการค้าได้เพราะอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ ซึ่งเมื่อได้พิจารณาสินค้าของโจทก์ตามวัตถุพยานหมาย วจ.15 ซึ่งเป็นซีอิ้วขาวสูตร 1 กับสินค้าซีอิ้วขาวสูตร 1 ของจำเลยทั้งสองตามวัตถุพยานหมาย วจ.17 เปรียบเทียบกันแล้วจะเห็นได้ว่าทั้งสีสันของฉลากตลอดจนรูปรอยประดิษฐ์มีความเหมือนคล้ายกันมาก และที่สำคัญก็คือแหล่งกำเนิดของสินค้าของจำเลยทั้งสองมีการใช้คำว่าหยั่นหว่อหยุ่นเป็นชื่อทางการค้าหรือประกอบเป็นเครื่องหมายการค้าอยู่ด้วย และสินค้าของจำเลยตามวัตถุพยานหมาย วจ.18 กับสินค้าของโจทก์ตามวัตถุพยานหมาย วจ.16 ก็อยู่ในลักษณะทำนองเดียวกัน ซึ่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้วินิจฉัยถึงความคล้ายกันไว้แล้วจึงไม่จำต้องกล่าวซ้ำอีก แสดงว่าจำเลยทั้งสองได้นำรูปรอยประดิษฐ์ตลอดจนสีสันในใบฉลากสินค้าของโจทก์ไปดัดแปลงใช้เป็นใบฉลากแสดงเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองอันมีลักษณะเป็นการลวงขายโดยโจทก์มีนางอรวรรณ พรมจันทร์ พนักงานขายสินค้าของบริษัทสยามแมคโคร จำกัด (มหาชน) สาขาสุราษฎร์ธานี ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีอาชีพที่ต้องสัมผัสกับสินค้าโดยตรงมาเบิกความสอดคล้องตรงกับข้อเท็จจริงที่ได้ความจากนางสาวจันทร์เพ็ญ บุพนิมิตรร์ ว่าคำว่า หยั่นหว่อหยุ่น เป็นส่วนที่อาจจะทำให้ประชาชนสับสนได้ ดังนั้น เมื่อดูชื่อบริษัทโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในคดีนี้แล้วเข้าใจว่าเป็นบริษัทในเครือเดียวกันเนื่องจากมีคำว่า หยั่นหว่อหยุ่น เหมือนกัน พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 นำชื่อทางการค้าของโจทก์คำว่า หยั่นหว่อหยุ่น ไปจดทะเบียนประกอบเป็นชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ในปี 2543 จึงเป็นการแอบอ้างแสวงหาผลประโยชน์จากชื่อเสียงทางการค้าของโจทก์ที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายซึ่งเป็นการแสวงหาผลประโยชน์อันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่สำคัญก็คือมาตรฐานสินค้าของจำเลยที่ 1 ตามที่ได้ความจากนางนันทนา และนางอรวรรณ พนักงานขายสินค้าของบริษัทสยามแมคโคร จำกัด (มหาชน) สาขานครสวรรค์และสาขาสุราษฎร์ธานี พยานโจทก์ตรงกันว่า สินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ ต้องมีการนำส่งคืนเพราะจำหน่ายไม่ได้ ดังนี้ เมื่อสาธารณชนผู้บริโภคสับสนหลงผิดเข้าใจว่าเป็นสินค้าของโจทก์หรือโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยอันเป็นผลจากการที่นำคำว่าหยั่นหว่อหยุ่น ซึ่งเป็นชื่อในทางการค้าของโจทก์ไปใช้ โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสอง จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายจากการละเมิดชื่อทางการค้าและลวงขายรวมเป็นเงินจำนวน 600,000 บาท ส่วนค่าเสียหายในอนาคตนั้นตามพยานหลักฐานของโจทก์ไม่อาจรับฟังได้ว่าเสียหายอย่างไรบ้าง จึงไม่กำหนดให้ สรุปแล้วเห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 402540, 402541 และ 402542 หากจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 ห้ามมิให้จำเลยทั้งสองใช้คำว่า หยั่นหว่อหยุ่น เป็นชื่อในทางการค้า หรือประกอบเป็นเครื่องหมายการค้า กับห้ามมิให้จำเลยทั้งสองยุ่งเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าตราเด็กสมบูรณ์ และคำว่า หยั่นหว่อหยุ่นเจียงหยิ่น คำขอเลขที่ 14687 ทะเบียนเลขที่ 9352 ของโจทก์อีกต่อไป และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์รวมเป็นเงิน 600,000 บาท คำขออื่นให้ยก
3/3