คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3534/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกให้แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ตามส่วน จำเลยให้การต่อสู้คดีในเรื่องอายุความแต่เพียงว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยเกี่ยวกับการจัดการมรดกเกินกว่า 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง จึงไม่อาจฟ้องบังคับเอาแก่จำเลยได้เท่านั้น โดยจำเลยมิได้แสดงให้ชัดแจ้งในคำให้การว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลงเมื่อใด หรือต้องเริ่มนับอายุความตั้งแต่เมื่อใด คำให้การของจำเลยจึงไม่ได้กล่าวแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความ เป็นคำให้การที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทในเรื่องอายุความตามบทกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น แม้ศาลล่างทั้งสองจะได้วินิจฉัยให้ ก็เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น และไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่จะฎีกาต่อมาได้ เพราะถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยนำสิทธิการเช่าบ้านและที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกอันดับที่ 7 ไปโอนขายแก่บุคคลภายนอก จึงขอแบ่งเงินจากการขายสิทธิและค่าเช่าบ้านดังกล่าวด้วย ไม่ได้ขอแบ่งทรัพย์มรดกอันดับที่ 7 สิทธิการเช่าบ้านและที่ดิน กับอาวุธ และสิทธิการเช่าโทรศัพท์ ทรัพย์มรดกอันดับที่ 5 และที่ 6 แต่จำเลยไม่ได้ขายสิทธิการเช่าบ้านและที่ดินดังกล่าว และไม่ได้นำออกให้บุคคลอื่นเช่า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้แบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวจึงเป็นการพิพากษาให้สิ่งใดๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำเลยแบ่งเงินตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องอันดับที่ 1 ถึง 4 ให้แก่โจทก์และทายาทอื่นคนละ 173,378.91 บาท ซึ่งจำเลยยังไม่ยอมแบ่งและนำสิทธิการเช่าบ้านและที่ดินตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องอันดับที่ 7 ไปโอนขายให้แก่บุคคลภายนอกเป็นเงิน 600,000 บาท โจทก์มีสิทธิได้รับ 85,714 บาท นอกจากนี้จำเลยยังเก็บค่าเช่าบ้านดังกล่าวตั้งแต่ปี 2530 ถึงปี 2540 โจทก์มีสิทธิได้รับ 34,285 บาท รวมเป็นเงินทรัพย์มรดกที่จำเลยต้องแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสิ้น 293,377.91 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 293,377.91 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2530 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2541 หลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายไปแล้ว 11 ปีเศษ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ทั้งโจทก์ในฐานะทายาทนำคดีมาฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกเกี่ยวกับการจัดการมรดกเกินกว่า 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง จึงไม่อาจฟ้องบังคับเอาแก่จำเลยได้ จำเลยไม่เคยนำสิทธิการเช่าบ้านและที่ดินตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องอันดับที่ 7 ไปขายให้แก่บุคคลภายนอก และไม่เคยให้บุคคลใดเช่าบ้านและที่ดินดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับส่วนแบ่ง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ถึงแก่ความตาย นางสาวสุภารัตน์ วัฒนกุลเจริญ ทายาทของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งมรดกส่วนที่เป็นเงินตามบัญชีทรัพย์อันดับที่ 1 ถึง 4 ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 173,378.91 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 23 มีนาคม 2541) จนกว่าจะแบ่งเงินให้แก่โจทก์ครบถ้วน ให้ทายาทร่วมกันตีราคาแล้วแบ่งโดยวิธีทดแทนกันเป็นเงิน ถ้าการแบ่งเช่นนี้ไม่อาจทำได้ ให้แบ่งโดยการประมูลราคากันในระหว่างทายาท หรือขายทอดตลาดเอาเงินมาแบ่งให้แก่โจทก์ตามส่วน คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาในปัญหาเกี่ยวกับอายุความว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เนื่องจากโจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกว่า 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง อันเป็นกำหนดอายุความที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกให้แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ตามส่วน จำเลยให้การต่อสู้คดีในเรื่องอายุความตามบทกฎหมายดังกล่าวแต่เพียงว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยเกี่ยวกับการจัดการมรดกเกินกว่า 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง จึงไม่อาจฟ้องบังคับเอาแก่จำเลยได้เท่านั้น โดยจำเลยมิได้แสดงให้ชัดแจ้งในคำให้การว่า การจัดการมรดกสิ้นสุดลงเมื่อใด หรือต้องเริ่มนับอายุความตั้งแต่เมื่อใด คำให้การของจำเลยจึงไม่ได้กล่าวแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความ เป็นคำให้การที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทในเรื่องอายุความตามบทกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น แม้ศาลล่างทั้งสองจะได้วินิจฉัยให้ก็เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น และไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่จะฎีกาต่อมาได้ เพราะถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ทายาทร่วมกันตีราคาแล้วแบ่ง โดยวิธีทดแทนกันเป็นเงิน ถ้าการแบ่งเช่นนี้ไม่อาจทำได้ให้แบ่งโดยการประมูลราคากันในระหว่างทายาทหรือขายทอดตลาดเอาเงินมาแบ่งให้แก่โจทก์ตามส่วน และศาลอุทธรณ์ภาค 7 เพิ่มเติมในส่วนคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวว่า “ที่ถูก ส่วนมรดกตามบัญชีทรัพย์อันดับที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 นั้น” แล้วพิพากษายืนนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยนำสิทธิการเช่าบ้านและที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกอันดับที่ 7 ไปโอนขายแก่บุคคลภายนอก จึงขอแบ่งเงินจากการขายสิทธิดังกล่าวและค่าเช่าบ้านดังกล่าวด้วย ไม่ได้ขอแบ่งทรัพย์มรดกอันดับที่ 7 สิทธิการเช่าบ้านและที่ดิน กับอาวุธปืน 1 กระบอก และสิทธิการเช่าโทรศัพท์ 1 เครื่อง ทรัพย์มรดกอันดับที่ 5 และที่ 6 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยไม่ได้ขายสิทธิการเช่าบ้านและที่ดินดังกล่าว และไม่ได้นำออกให้บุคคลอื่นเช่า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้แบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวจึงเป็นการพิพากษาให้สิ่งใดๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247″
พิพากษาแก้เป็นว่า ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ในส่วนที่เกี่ยวกับมรดกตามบัญชีทรัพย์อันดับที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยกฎีกาของจำเลย

Share