คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3807/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่เช่าซื้อหลังจากสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติอายุความในกรณีนี้ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันวันที่ 30 พฤษภาคม 2541 โจทก์ยื่นฟ้องวันที่ 10 กันยายน 2544 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
อายุความ 6 เดือน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 563 นั้น เป็นเรื่องเช่าทรัพย์ จะเอามาใช้กับสิทธิเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่เช่าซื้อไม่ได้
ผู้เช่าซื้อเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อและสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อจึงมีสิทธิริบเงินที่จำเลยชำระให้โจทก์ไว้แล้วรวมทั้งเงินดาวน์ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 574 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 260,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การแก้ไขคำให้การและจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้อง และขอให้บังคับโจทก์คืนเงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1
โจทก์ขาดนัดยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 91,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้อง (วันที่ 10 กันยายน 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับโจทก์ จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ โจทก์ยึดรถยนต์คันดังกล่าวคืน ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวกับโจทก์ใหม่ในราคาเช่าซื้อ 1,273,300 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อ 48 งวด งวดละเดือน เดือนละ 26,527 บาท ชำระงวดแรกวันที่ 30 กรกฎาคม 2540 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 30 ของเดือนจนกว่าจะชำระครบถ้วน หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันที โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ 10 งวด กับบางส่วนจำนวน 1,444 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 266,714 บาท แล้วผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 11 ประจำวันที่ 30 พฤษภาคม 2541 เป็นต้นมา ต่อมาวันที่ 23 มิถุนายน 2542 โจทก์ติดตามยึดรถยนต์คืน
คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 91,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง แม้จำเลยทั้งสองจะเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามาโดยคำนวณจากทุนทรัพย์ตามคำฟ้องและฟ้องแย้งรวมกันมา แต่ทุนทรัพย์ที่แท้จริงที่พิพาทตามคำฟ้องในชั้นฎีกามีเพียง 91,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่า ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่มาเบิกความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกหรือรับรองการจดทะเบียนบริษัทและหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง และจำเลยที่ 1 มิได้ผิดสัญญาเช่าซื้อ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์จากจำเลยทั้งสองขอให้ยกฟ้อง เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาในปัญหาดังกล่าวมา ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้
คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่เช่าซื้อหลังจากสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติอายุความในกรณีนี้ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า สัญญาเช่าซื้อเลิกกันเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2541 โจทก์ยื่นฟ้องวันที่ 10 กันยายน 2544 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า อายุความคดีนี้ 6 เดือน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563 นั้น ตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นเรื่องเช่าทรัพย์ จะเอามาใช้กับสิทธิเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่เช่าซื้อไม่ได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองก็ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกให้โจทก์คืนเงิน 300,000 บาท หรือไม่ ซึ่งจำเลยทั้งสองฎีกาว่า เงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินดาวน์ที่จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์ในการเช่าซื้อรถ เห็นว่า หากเป็นจริงดังฎีกาของจำเลยทั้งสองเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อและสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิริบเงินจำนวนดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 วรรคแรก จำเลยที่ 1 จึงเรียกให้โจทก์คืนเงินดังกล่าวไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share