คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2515/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญาเช่าข้อ 3 กำหนดให้โจทก์ต้องชำระค่าเช่าล่วงหน้าภายในวันที่ 25 ของเดือน และยังมีข้อตกลงให้โจทก์เสียค่าปรับรายวันในอัตราร้อยละ 0.1 ของอัตราค่าเช่าเวลา 1 เดือน ตามสัญญาข้อ 10 อีกด้วย การกำหนดค่าปรับรายวันข้างต้นถือเป็นข้อตกลงในเรื่องค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ หากเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ โดยพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา 383
โจทก์ค้างชำระค่าเช่าระหว่างเดือนสิงหาคม 2532 ถึงวันสิ้นสุดสัญญาวันที่ 14 มกราคม 2533 เป็นเงินจำนวน 21,987,855.76 บาท ซึ่งจำเลยคิดค่าปรับตามสัญญาถึงวันที่ 14 มกราคม 2533 เป็นเงิน 1,852,413.67 บาทแต่ถ้าคิดค่าปรับรายวันในอัตราร้อยละ 0.1 ของอัตราค่าเช่าเวลา 1 เดือน เป็นต้นค่าปรับของค่าเช่าเวลาเดือนสิงหาคม 2532 ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2532 ถึงวันที่14 มกราคม 2533 รวม 87 วัน วันละ 4,400.35 บาท โดยค่าเช่าเวลาเดือนสิงหาคม 2532 คิดเป็นเงิน 4,400,353.12 บาท ซึ่งถ้าคิดคำนวณเป็นร้อยละแล้วจะเกินกว่าอัตราร้อยละ 36 ต่อปี และเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยที่กฎหมายกำหนดให้คิดสำหรับหนี้เงินระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี เว้นแต่จะพิสูจน์ค่าเสียหายอย่างอื่นได้มากกว่านั้น ตาม ป.พ.พ.มาตรา 224 โดยพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของจำเลยทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา 383 แล้ว ถือได้ว่า การกำหนดเบี้ยปรับรายนี้สูงเกินส่วน สมควรลดเบี้ยปรับลงโดยให้คิดเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้โจทก์ชำระค่าเช่าที่ค้างจำนวน21,987,855.76 บาท กับดอกเบี้ยของค่าเช่าที่ค้างอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันครบกำหนดทวงถามจนถึงวันฟ้องแย้งเป็นเงิน 493,345.21 บาท และค่าเสียหายจำนวน 12,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 34,481,200.97 บาทจำนวนหนึ่ง แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลยจำนวน34,481,200.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จ จึงเห็นได้ชัดแจ้งว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาโดยนำเงินดอกเบี้ยจำนวน 493,345.21 บาท มารวมเข้าเป็นต้นเงิน34,481,200.97 บาท แล้วให้คิดดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวทั้งจำนวน โดยมิได้หักเงินดอกเบี้ยจำนวน 493,345.21 บาท ออกเสียก่อน กรณีเป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด ต้องห้ามตาม ป.พ.พ.มาตรา 224 วรรคสองซึ่งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องตามกฎหมายได้

Share