คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7231/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748 และมาตรา 1749 วรรคแรก ให้สิทธิทายาทที่จะฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกได้ตามส่วนที่ตนมีสิทธิได้รับและหากไม่ได้ฟ้องคดีเองก็มีสิทธิที่จะร้องสอดเข้าไปรักษาสิทธิของตนได้ด้วยตนเอง แต่ไม่ได้ให้สิทธิทายาทที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่นโดยไม่ได้รับมอบอำนาจ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสามเป็นทายาทของนายปั้น อินมะตูม ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามไปยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพิษณุโลกให้แบ่งแยกที่ดินตามโฉนดตราจองที่ 1660 และ 2118 กับที่ดินนอกโฉนดตราจองที่ 2118 ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายปั้นเป็น 6 ส่วนเท่า ๆ กัน แล้วแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 1 ส่วน คิดเป็นเงิน 49,998 บาท หากจำเลยทั้งสามไม่จัดการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม และหากไม่สามารถจะแบ่งแยกกันได้ให้เอาที่ดินออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันตามส่วน ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ปีละ 14,000 บาทนับแต่ปี 2533 จนกว่าจำเลยทั้งสามจะแบ่งแยกที่ดินให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า เมื่อนายปั้นถึงแก่ความตายทายาทรวม8 คน รับโอนมรดกที่ดิน 2 แปลง ตามฟ้องคนละส่วนเท่า ๆ กันโจทก์ที่ 3 ทำกินในที่ดินโฉนดตราจองที่ 1660 แทนทายาททุกคน ส่วนที่ดินโฉนดตราจองที่ 2118 มีจำเลยที่ 1 ทำกินทางด้านทิศเหนือและถัดลงมามีโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำกินตามลำดับ ส่วนทายาทอื่นและโจทก์ที่ 2 ไม่เคยเข้าทำกิน สำหรับที่ดินนอกโฉนดตราจองที่ 2118 เดิมเป็นที่รกร้างว่างเปล่า จำเลยที่ 1 และบิดามารดาจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับนางหนูร่วมกันบุกเบิกทำนาเป็นเวลาประมาณ40 ปีแล้วโดยนายปั้นไม่ได้ยุ่งเกี่ยว โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิในที่ดินส่วนนี้ จำเลยทั้งสามไม่เคยบุกรุกแย่งที่ดินทำกินของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 โจทก์ที่ 2 ไม่เคยเข้าทำกินในที่ดินมีโฉนดตราจองและนอกโฉนดตราจอง โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงไม่เสียหาย โจทก์ทั้งสามขอแบ่งที่ดินเป็น 6 ส่วน ที่ดินโฉนดตราจองที่ 2118 มีเนื้อที่ 9 ไร่ 69 ตารางวา ต้องแบ่งเป็น 8 ส่วน ส่วนละ 1 ไร่เศษ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามแบ่งที่ดินโฉนดตราจองที่ 2118 ตำบลมะตูม อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 1 ใน 6 ส่วน โจทก์ที่ 2 จำนวน 1 ใน 60 ส่วนและให้แก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 1 ใน 30 ส่วน หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสามและหากตกลงแบ่งกันไม่ได้ให้เอาที่ดินดังกล่าวขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสามตามส่วนคำขออื่นให้ยก
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่านายปั้นเจ้ามรดกมีบุตร 6 คน ซึ่งมีโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 รวมอยู่ด้วยโจทก์ที่ 2 ขอรับมรดกแทนที่นายแช่มบุตรของเจ้ามรดกซึ่งนายแช่มมีบุตร 10 คน รวมทั้งโจทก์ที่ 2 ด้วย โจทก์ที่ 3 ขอรับมรดกแทนที่นางเชื่อมบุตรของเจ้ามรดกซึ่งนางเชื่อมมีบุตร 5 คนรวมทั้งโจทก์ที่ 3 ด้วย จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรของนายอั้นซึ่งเป็นบุตรของเจ้ามรดก ทายาทของนายปั้นได้ครอบครองมรดกร่วมกันมายังไม่ได้แบ่งคือ ที่ดินโฉนดตราจองที่ 2118 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งสามว่า โจทก์ที่ 2 และที่ 3 มีสิทธิฟ้องขอแบ่งมรดกแทนทายาทอื่นได้หรือไม่ เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748 บัญญัติว่า “ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน ทายาทคนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้” และมาตรา 1749 วรรคแรกบัญญัติว่า “ถ้ามีคดีฟ้องเรียกทรัพย์มรดก ผู้ซึ่งอ้างว่าตนเป็นทายาทมีสิทธิในทรัพย์มรดกนั้นจะร้องสอดเข้ามาในคดีก็ได้” จากบทบัญญัติทั้ง 2 มาตราดังกล่าวจะเห็นได้ว่ากฎหมายให้สิทธิทายาทที่จะฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกได้ตามส่วนที่ตนมีสิทธิได้รับ และหากไม่ได้ฟ้องคดีเองก็มีสิทธิที่จะร้องสอดเข้าไปรักษาสิทธิของตนได้ด้วยตนเอง กฎหมายไม่ได้ให้สิทธิทายาทที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่นโดยไม่ได้รับมอบอำนาจ ดังนั้นโจทก์ที่ 2 และที่ 3 จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่น โจทก์ที่ 2และที่ 3 มีสิทธิเรียกเอาได้เฉพาะมรดกส่วนของตนเท่านั้น การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดส่วนแบ่งให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ตามส่วนที่แต่ละคนมีสิทธิได้รับต้องกันมานั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share