แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในกรณีมีเหตุอันสมควรเชื่อว่าผู้ประกอบการแสดงรายการตามแบบแสดงรายการภาษีไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง เจ้าพนักงานประเมินโดยอนุมัติอธิบดีประเมินภาษีได้ภายในกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่กำหนดเวลาตาม (1) (ก) ซึ่งตามมาตรา 88/6 วรรคท้าย บัญญัติไว้เพียงว่าให้เจ้าพนักงานประเมินโดยอนุมัติอธิบดีประเมินภาษีได้ภายใน 5 ปี นับแต่กำหนดเวลาตาม (1) (ก) เท่านั้น ไม่ได้กำหนดว่าต้องขออนุมัติภายในกำหนดเวลา 2 ปี ดังนั้นเจ้าพนักงานประเมินย่อมขออนุมัติอธิบดีประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มได้ภายในกำหนดเวลา 5 ปี แม้ขณะขออนุมัติจะเกิน 2 ปี แล้วก็ตาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.73.1 เลขที่ 12960100/ 5/101243 ถึง 101253 ลงวันที่ 1 กันยายน 2543 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ภ.ส.7 เลขที่ นธ/51/2545 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2545 ขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันฟังยุติได้ว่า โจทก์ประกอบธุรกิจนำเข้าไม้แปรรูปจากประเทศมาเลเซียมาจำหน่าย โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มขอคืนภาษีในเดือนภาษีของปี 2538 รวม 11 เดือนภาษี ยกเว้นเดือนภาษีเมษายน ซึ่งโจทก์แสดงภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อจำนวน 1,857.95 บาท วันที่ 11 พฤศจิกายน 2540 โจทก์ได้รับหมายเรียกจากเจ้าพนักงานกรมสรรพากรให้ไปพบเพื่อตรวจสอบการขอคืนภาษี หลังจากนั้นโจทก์ได้รับแจ้งการประเมินภาษีของปี 2538 ให้โจทก์คืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์รับคืนไปโดยไม่มีสิทธิอ้างเหตุผลว่าโจทก์ขายสินค้าต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร โจทก์อุทธรณ์คัดค้านการประเมิน จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ข้อแรกว่า การออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีมูลค่าเพิ่มโดยได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร ต้องขออนุมัติก่อนครบกำหนด 2 ปี การที่เจ้าพนักงานประเมินขออนุมัติอธิบดีกรมสรรพากรขยายกำหนดเวลาออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีมูลค่าเพิ่มหลังจากพ้น 2 ปี ไปแล้วไม่ชอบ เห็นว่า การออกหมายเรียกบุคคลผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ประมวลรัษฎากรได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะในมาตรา 88/4 ซึ่งอยู่ในหมวด 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนที่ 12 ว่าด้วยอำนาจเจ้าพนักงานประเมินแล้ว จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 19 ทั้งมาตรา 19 ก็ได้บัญญัติยกเว้นไว้ว่า เว้นแต่จะมีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในลักษณะนี้… เมื่อมาตรา 88/4 บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นซึ่งแตกต่างจากมาตรา 19 การที่มาตรา 88/4 มิได้กำหนดเวลาให้เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกภายในระยะเวลา 2 ปี ดังเช่นมาตรา 19 เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์ได้ภายในระยะเวลาตามมาตรา 88/6 (1) (ก) คือ 2 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี และในกรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ประกอบการแสดงรายการตามแบบแสดงรายการภาษีไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง เจ้าพนักงานประเมินโดยอนุมัติอธิบดีประเมินภาษีได้ภายในกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่กำหนดเวลาตาม (1) (ก) ซึ่งตามมาตรา 88/6 วรรคท้าย แห่งประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้เพียงว่าให้เจ้าพนักงานประเมินโดยอนุมัติอธิบดีประเมินภาษีได้ภายใน 5 ปี นับแต่กำหนดเวลาตาม (1) (ก) เท่านั้น ไม่ได้กำหนดว่าต้องขออนุมัติภายในกำหนดเวลา 2 ปี ดังนั้น เจ้าพนักงานประเมินย่อมขออนุมัติอธิบดีประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มภายในกำหนดเวลา 5 ปี แม้ขณะขออนุมัติจะเกิน 2 ปี แล้วก็ตาม การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินซึ่งกระทำภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 88/6 วรรคท้าย จึงชอบแล้ว
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในส่วนที่ชำระเกินมาจากจำนวนที่คิดคำนวณจากทุนทรัพย์ 271,052.83 บาทแก่โจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,800 บาท แทนจำเลยทั้งสาม