แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ จำเลยที่ 2 ได้พิจารณาความดีความชอบของโจทก์ในรอบปีบัญชี 2546 ถึงปี 2547 แล้ว แต่ยังไม่ได้ปรับอัตราค่าจ้างขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานขอให้บังคับจำเลยที่ 2 จ่ายค่าจ้างส่วนที่ยังไม่ได้ปรับขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีคำสั่งว่าเป็นกรณีที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง มิใช่การค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง ดังนี้ เมื่อฝ่ายโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าว จึงเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 12 และเมื่อจำเลยที่ 2 ยังไม่ได้ปรับอัตราค่าจ้างขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี ฯ จึงยังไม่มีค่าจ้างที่ค้างจ่ายจากการปรับอัตราค่าจ้างขึ้นแก่ฝ่ายโจทก์ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 70 คำสั่งของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ชอบแล้ว
ย่อยาว
คดีทั้งเก้าสิบแปดสำนวนนี้เดิมศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกับคดีหมายเลขแดงที่ 2123/2549 ของศาลแรงงานกลาง ซึ่งโจทก์ถอนฟ้องในระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลาง โดยให้เรียกโจทก์ทั้งเก้าสิบแปดสำนวนนี้ว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 91 และที่ 93 ถึงที่ 99 ตามลำดับ และเรียกนายอมรเทพ วัฒนาชีรานนท์ ว่า จำเลยที่ 1 เรียกสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาว่า จำเลยที่ 2 เรียกนางกุลวดี หอมแก้ว ว่า จำเลยที่ 3
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 91 และที่ 93 ถึงที่ 99 ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ 42/2548 ของจำเลยที่ 1 และคำสั่งที่ 73/2548 ของจำเลยที่ 3 เรื่องค่าจ้าง ลงวันที่ 23 กันยายน 2548 และให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าจ้างตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละคนพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 91 และที่ 93 ถึงที่ 99 ตามลำดับ
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 91 และที่ 93 ถึงที่ 99 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงซึ่งยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางปรากฏว่า ตามพระราชบัญญัติครู พ.ศ.2488 มาตรา 4 บัญญัติให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการ เรียกว่า “คุรุสภา” และให้สภานี้เป็นนิติบุคคล ต่อมาได้มีการจัดตั้งองค์การค้าของคุรุสภาขึ้นในปี 2493 และมีระเบียบคุรุสภาว่าด้วยการบริหารองค์การค้าของคุรุสภา พ.ศ.2503 ให้จัดตั้งองค์การค้าของคุรุสภาเพื่อจัดหาผลประโยชน์ให้แก่คุรุสภาและอำนวยความสะดวกให้แก่การศึกษา ตามระเบียบดังกล่าวกำหนดให้มีผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภา เป็นผู้ดำเนินงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ขององค์การค้าของคุรุสภาและให้มีรองผู้อำนวยการ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ผู้จัดการ หัวหน้าฝ่าย หัวหน้าส่วน หัวหน้าแผนก หัวหน้าหมวด หัวหน้าหน่วยงาน นักวิชาการ ช่าง และเจ้าหน้าที่ที่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่น โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 91 และที่ 93 ถึงที่ 99 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างองค์การค้าของคุรุสภา ซึ่งไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ ในปี 2525 สหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภาและองค์การค้าของคุรุสภาเคยยื่นข้อเรียกร้องต่อกันและตั้งผู้แทนเข้าร่วมเจรจา ผลการเจรจาสามารถตกลงกันได้จึงได้จัดทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามบันทึกข้อตกลง ซึ่งตามบันทึกข้อตกลง ข้อ 17 ระบุว่า “เรื่อง การพิจารณาความดีความชอบประจำปีของเจ้าหน้าที่องค์การค้า ฯ นั้น การพิจารณาความดีความชอบในขณะใด ๆ ให้องค์การค้า พิจารณาโดยถือหลักเกณฑ์การพิจารณาตามมติคณะรัฐมนตรี หรือระเบียบของทางราชการที่กำหนดสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจในขณะนั้น ๆ” ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติสภาครูและบุคคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 กำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคคลากรทางการศึกษา มีฐานะเป็นนิติบุคคลในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการขึ้น และมีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องการโอนบรรดากิจการ เงิน ทรัพย์สิน หนี้ สิทธิต่าง ๆ ของคุรุสภาตามพระราชบัญญัติครู พ.ศ.2488 ไปเป็นของคุรุสภาและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการครูและบุคคลากรทางการศึกษาตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 โดยให้โอนกิจการ เงิน ทรัพย์สิน และหนี้บางส่วนไปเป็นของคุรุสภา และโอนกิจการ เงิน ทรัพย์สิน และหนี้ ซึ่งรวมถึงองค์การค้าของคุรุสภาไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคคลากรทางการศึกษา ต่อมาคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคคลากรทางการศึกษาได้ออกข้อบังคับคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคคลากรทางการศึกษา ว่าด้วยการบริหารสำนักงาน พ.ศ.2547 ซึ่งตามข้อบังคับนี้ ข้อ 3 นิยามคำว่า “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างจากสำนักงาน แต่ไม่รวมถึงพนักงานเจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของ สกสค. และหมวด 5 บทเฉพาะกาล ข้อ 31 (9) ระบุให้ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ (องค์การค้าของคุรุสภา) โอนไปเป็นขององค์การค้าของ สกสค. ข้อ 32 ระบุว่า บทบัญญัติของกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หนังสือสัญญา หรือสิ่งอื่นใดที่อ้างถึงองค์การค้าของคุรุสภาหรือศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ (องค์การค้าของคุรุสภา) ก่อนการใช้ข้อบังคับนี้ให้ถือว่าอ้างถึงองค์การค้าของ สกสค. ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ปรับอัตราค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจในอัตราร้อยละ 3 และให้ได้รับค่าจ้างสูงกว่าอัตราที่ปรับเพิ่มร้อยละ 3 ตามอัตราค่าจ้างใหม่อีก 2 ขั้น เฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งต่ำกว่าผู้อำนวยการฝ่ายหรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นซึ่งเทียบเท่าตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร 0504/16226 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2547 การพิจารณาความดีความชอบของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 91 และที่ 93 ถึงที่ 99 ในรอบปีบัญชี 2546 ถึงปี 2547 จำเลยที่ 2 โดยคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคคลากรทางการศึกษาได้พิจารณาแล้วเสร็จก่อนสิ้นเดือนกันยายน 2547 แล้วแต่ยังไม่ได้ปรับอัตราค่าจ้างขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 91 และที่ 93 ถึงที่ 99 กับลูกจ้างอื่นของจำเลยที่ 2 จึงได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 1 และพื้นที่ 3 เพื่อขอให้บังคับจำเลยที่ 2 จ่ายค่าจ้างส่วนที่ไม่ได้ปรับขึ้นตามอัตราค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในฐานะพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 3 ที่ 42/2548 และคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 1 ที่ 73/2548 ทำนองเดียวกันว่าเป็นกรณีที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 18 มิใช่การค้างจ่ายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 70 จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างค้างจ่าย ในเดือนเมษายน 2546 สหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภาและองค์การค้าของคุรุสภาได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อกัน ทั้งสองฝ่ายได้แต่งตั้งผู้แทนของแต่ละฝ่ายเจรจาและตกลงกันได้ จึงได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามบันทึกข้อตกลงประจำปี 2547 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2547 ซึ่งระบุไว้ข้อ 1 ว่า เมื่อต้องโอนเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาไปอยู่กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาหรือนายจ้างอื่นให้นับอายุงานต่อเนื่องรวมทั้งตำแหน่งหน้าที่ อัตราเงินเดือน สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ก่อนแล้วโดยไม่น้อยกว่าเดิม
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 91 และที่ 93 ถึงที่ 99 ประการแรกว่า มีเหตุเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 3 ที่ 42/2548 และคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 1 ที่ 73/2548 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 91 และที่ 93 ถึงที่ 99 และลูกจ้างอื่นของจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเพื่อเรียกร้องค่าจ้างจากจำเลยที่ 2 แต่เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานได้สอบสวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่าง ๆ แล้ว ปรากฏเหตุที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 91 และที่ 93 ถึงที่ 99 เรียกร้องค่าจ้างมาจากการที่จำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลง ข้อ 17 ที่ไม่ปรับโครงสร้างค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีด่วนที่สุด ที่ นร 0504/16226 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2547 ดังที่เคยปฏิบัติมาซึ่งบันทึกข้อตกลงเป็นข้อตกลงระหว่างองค์การค้าของคุรุสภานายจ้างกับสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภาเกี่ยวกับเงื่อนไขการจ้างหรือการทำงาน ค่าจ้าง สวัสดิการและประโยชน์อื่นของลูกจ้างองค์การค้าของคุรุสภาเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงาน จึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 5 เมื่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 91 และที่ 93 ถึงที่ 99 อ้างว่าจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าว จึงเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 12 และเมื่อจำเลยที่ 2 ยังไม่ได้ปรับอัตราค่าจ้างขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร 0504/16226 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2547 แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 91 และที่ 93 ถึงที่ 99 จึงยังไม่มีค่าจ้างที่ค้างจ่ายจากการปรับอัตราค่าจ้างขึ้นแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 91 และที่ 93 ถึงที่ 99 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 70 ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าไม่มีเหตุเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงชอบแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 91 และที่ 93 ถึงที่ 99 ประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 2 ต้องปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนหรืออัตราค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร 0504/16226 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2547 ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ศาลแรงงานกลางยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวว่าเป็นเรื่องที่องค์การค้าของคุรุสภาตกลงปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนตามมติคณะรัฐมนตรีทุกครั้งที่มีมติให้ปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนลูกจ้างรัฐวิสาหกิจหรือไม่ และในทางปฏิบัติเท่าที่ผ่านมาองค์การค้าของคุรุสภาหรือจำเลยที่ 2 ปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนตามมติคณะรัฐมนตรีทุกครั้งที่มีมติให้ปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนลูกจ้างรัฐวิสาหกิจให้แก่ลูกจ้างองค์การค้าของคุรุสภาหรือจำเลยที่ 2 ประเภทใดบ้าง โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ หรือมีเงื่อนไขอย่างอื่นอีกหรือไม่ อย่างไร อันจะถือได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยายที่จำเลยที่ 2 ต้องปฏิบัติตามที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 91 และที่ 93 ถึงที่ 99 ฟ้องหรือไม่ เพื่อที่จะวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาท ข้อ 2 ที่ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นไว้ว่า จำเลยที่ 2 จะต้องจ่ายค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 91 และที่ 93 ถึงที่ 99 ในประเด็นนี้โดยวินิจฉัยว่าเป็นเรื่องการพิจารณาความดีความชอบประจำปีและยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเฉพาะในประเด็นข้อพิพาทข้อ 2 โดยให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงในปัญหาที่ว่า ในทางปฏิบัติเท่าที่ผ่านมาองค์การค้าของคุรุสภาหรือจำเลยที่ 2 ปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนตามมติคณะรัฐมนตรีทุกครั้งที่มีมติให้ปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนลูกจ้างรัฐวิสาหกิจให้แก่ลูกจ้างขององค์การค้าของคุรุสภาหรือจำเลยที่ 2 ประเภทใดบ้าง โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ หรือมีเงื่อนไขอย่างอื่นอีกหรือไม่ อย่างไร อันจะถือได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยายที่จำเลยที่ 2 ต้องปฏิบัติตามที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 91 และที่ 93 ถึงที่ 99 ฟ้องหรือไม่ แล้วดำเนินการตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสามต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง