แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ มาตรา 28 ให้อำนาจจำเลยที่ 1 ที่จะใช้สอยหรือเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ในความครอบครองของบุคคลใดๆ ซึ่งมิใช่เคหสถานเป็นการชั่วคราวเพื่อสร้างระบบไฟฟ้า และมาตรา 29 ให้อำนาจจำเลยที่ 1 เดินสายส่งไฟฟ้าใต้ เหนือ ตาม หรือข้ามพื้นดินของบุคคลใด ปักหรือตั้งเสาลงในหรือบนพื้นดินของบุคคลใดซึ่งมิใช่เป็นที่ตั้งโรงเรือน ทั้งนี้ให้จำเลยที่ 1 แจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องทราบ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 เดินสายส่งไฟฟ้าผ่านเหนือที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์และปักเสาไฟฟ้าลงในที่ดินดังกล่าวโดยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ผู้ครอบครองทราบแล้ว เป็นการกระทำภายใต้กรอบของกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ และถึงแม้ว่าโจทก์จะคัดค้านการกระทำของจำเลยที่ 1 ก็ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนเสาไฟฟ้าแรงสูงออกจากที่ดินของโจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่รื้อถอนให้ชำระเงินค่าทดแทนจำนวน 1,335,752.99 บาท (ที่ถูก 1,336,014.99 บาท) พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับจากวันที่จำเลยทั้งสองนำเงินไปเปิดบัญชีเงินฝากที่ธนาคารออมสิน สาขานครพนม จังหวัดนครพนม
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินฯ กำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่โจทก์เป็นธรรมแล้ว ที่ดินของโจทก์ที่ถูกเขตเดินสายส่งไฟฟ้าผ่านมีสภาพเป็นที่นา โจทก์สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่และกรรมสิทธิ์ในที่ดินยังคงเป็นของโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวนับถัดจากวันที่จำเลย 1 นำเงินไปเปิดบัญชีเงินฝากที่ธนาคาร เพราะไม่ใช่เป็นวันที่จำเลยทั้งสองผิดนัด ทั้งศาลยังไม่ได้มีคำวินิจฉัยให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 56,131.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยที่ 1 ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นให้ยกกับให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมส่วนนี้ (ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2) ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 เสียด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดเลขที่ 36499 และ 36501 ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม เนื้อที่ 13 ไร่ 1 งาน 7 ตารางวา และ 7 ไร่ ตามลำดับ จำเลยที่ 1 ประกาศกำหนดเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้าขนาด 230 กิโลโวลต์ ตัดตอนจากสายส่ง 230 กิโลโวลต์ สกลนคร 2 – เสาไฟฟ้าข้ามแม่น้ำโขงบนฝั่งประเทศไทย ที่จังหวัดนครพนมวงจรที่ 1 ไปยังสถานีไฟฟ้าย่อยนครพนม ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2541 พาดผ่านที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ดังกล่าวรวมเนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 82.90 ตารางวา โดยเป็นที่ตั้งเสาไฟฟ้า 1 ต้น เนื้อที่ 56.30 ตารางวา คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินจังหวัดนครพนมกำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่โจทก์โดยใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมปี 2539 ถึงปี 2542 ของสำนักงานที่ดินจังหวัดนครพนม อัตราไร่ละ 10,000 บาท และปรับเพิ่มอีกร้อยละ 50 เป็นฐานในการคำนวณเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ เนื่องจากมิได้มีการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินส่วนที่ถูกเขตเดินสายส่งไฟฟ้าพาดผ่าน จึงกำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินเป็นอัตราร้อยละของราคาที่กำหนด โดยแบ่งที่ดินเป็น 4 ประเภท ดังนี้
1. ที่นา จ่ายร้อยละ 50 ของราคาที่กำหนด
2. ที่สวน จ่ายร้อยละ 70 ของราคาที่กำหนด
3. ที่บ้าน จ่ายร้อยละ 90 ของราคาที่กำหนด
4. ที่ตั้งเสาไฟฟ้า จ่ายร้อยละ 100 ของราคาที่กำหนด
ที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์เป็นประเภทที่นา จ่ายร้อยละ 50 เป็นเงิน 20,304.38 บาท จ่ายเงินค่าทดแทนที่ตั้งเสาไฟฟ้าเป็นเงิน 1,055.63 บาท และเงินค่าทดแทนต้นไม้เป็นเงิน 1,250 บาท รวมเป็นเงิน 22,610.01 บาท จำเลยที่ 1 นำเงินจำนวนดังกล่าวไปฝากไว้แก่ธนาคารออมสิน จำกัด สาขานครพนม ในชื่อของโจทก์เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2542 แต่โจทก์ไม่พอใจจึงฟ้องเป็นคดีนี้ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์เพิ่มขึ้นโดยกำหนดราคาที่ดินให้แก่โจทก์ในอัตราไร่ละ 40,000 บาท ที่ดินของโจทก์อยู่ในเขตเดินสายส่งไฟฟ้า 2 ไร่ 2 งาน 82.90 ตารางวา เป็นที่ตั้งเสาไฟฟ้า 1 ต้น จ่ายร้อยละ 100 เนื้อที่ 56.30 ตารางวา เป็นเงิน 5,630 บาท ส่วนที่เหลือเนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 26.60 ตารางวา แม้โจทก์ยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แต่ในการใช้สอยประโยชน์จากที่ดินดังกล่าวถูกจำกัดจึงให้จ่ายร้อยละ 70 เป็นเงิน 71,862 บาท ส่วนเงินค่าทดแทนต้นไม้ให้ยืนตามราคาเดิมและให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย โจทก์ฎีกา
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ โจทก์ฎีกาสรุปได้ว่า การกำหนดแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 พาดผ่านกลางที่ดินของโจทก์โดยพลการ ไม่ได้ศึกษาถึงผลกระทบความเสียหายของโจทก์ ทั้งที่โจทก์มีหนังสือขอให้จำเลยที่ 1 แก้ไขแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้า อันจะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายน้อยลง เพราะโจทก์มีโครงการก่อสร้างบ้านพักคนชราเป็นคอนโดมิเนียม บ้านเดี่ยว โพลีคลินิก และซุปเปอร์มาร์เก็ต แต่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธและยืนยันแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าตามแนวเดิม และเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยปักเสาไฟฟ้า เดินสายส่งไฟฟ้าและตัดฟันต้นไม้จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องให้แก่โจทก์ด้วยนั้น เห็นว่า ในประเด็นดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 28 ให้อำนาจจำเลยที่ 1 มีอำนาจที่จะใช้สอยหรือเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ในความครอบครองของบุคคลใดๆ ซึ่งมิใช่เคหสถานเป็นการชั่วคราวเพื่อสร้างระบบไฟฟ้า และมาตรา 29 ให้อำนาจำเลยที่ 1 เดินสายส่งไฟฟ้าใต้ เหนือ ตามหรือข้ามพื้นดินของบุคคลใด ปักหรือตั้งเสาลงในหรือบนพื้นดินของบุคคลใดซึ่งมิใช่เป็นที่ตั้งโรงเรือน ทั้งนี้ให้จำเลยที่ 1 แจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องทราบ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 เดินสายส่งไฟฟ้าผ่านเหนือที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์และปักเสาไฟฟ้าลงในที่ดินดังกล่าวโดยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ผู้ครอบครองทราบแล้ว เป็นการกระทำภายใต้กรอบของกฎหมายที่ให้อำนาจไว้และถึงแม้ว่าโจทก์จะคัดค้านการกระทำของจำเลยที่ 1 ก็ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ศาลฎีกาคณะคดีปกครองเห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายไว้ถูกต้องแล้ว และไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในประเด็นดังกล่าวอีก ฎีกาของโจทก์จึงไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณา ศาลฎีกาคณะคดีปกครองไม่รับฎีกาของโจทก์ในประเด็นข้อนี้ไว้พิจารณาพิพากษาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 219 วรรคสอง ประกอบพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 35,599.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและศาลฎีกาแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1