คำวินิจฉัยที่ 2/2554

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒/๒๕๕๔

วันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๔

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์
ระหว่าง
ศาลปกครองขอนแก่น

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๒ นายกุลชาติ ทินแย่ง โจทก์ ยื่นฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกาฬสินธุ์ สาขาสมเด็จ จำเลย ต่อศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๗๒๑/๒๕๕๒ ความว่า โจทก์เป็นทายาทผู้รับพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองของนายอำพร นาสีแสน ซึ่งทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๓๗๔๗ เลขที่ดิน ๙๓ ตำบลผาเสวย อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ เนื้อที่ ๘ ไร่ ๕๒ ตารางวา ให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๔ ต่อมาเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ โจทก์ยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานประกอบการขอจดทะเบียนรับมรดกตามพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองต่อจำเลย แต่จำเลยปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนให้แก่โจทก์ โดยให้เหตุผลว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะเพราะทำขึ้นระหว่างห้ามโอน เป็นการทำพินัยกรรมอำพรางนิติกรรมซื้อขายที่ดิน ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐ ทั้งที่นายอำเภอสมเด็จแจ้งแก่โจทก์ว่าพินัยกรรมดังกล่าวไม่เป็นโมฆะ การกระทำของจำเลยที่ไม่รับจดทะเบียนการขอรับมรดกตามพินัยกรรมของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยรับเรื่องและจดทะเบียนโอนมรดกตามพินัยกรรมให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โฉนดที่ดินที่โจทก์นำมาขอจดทะเบียนรับมรดกนั้นเป็นการออกโฉนดที่ดินโดยวิธีการสำรวจโดยไม่มีเอกสารตามมาตรา ๕๘ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน จึงติดบังคับห้ามโอนภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๑ และตามสำเนาเอกสารทะเบียนบ้านของโจทก์ก็มิได้ระบุว่าเป็นบุตรหรือเป็นทายาทโดยธรรมอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๒๙ ของนายอำพร เจ้ามรดก จำเลยสอบถามโจทก์ได้ความว่า โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวจากนายอำพร เมื่อโจทก์ซื้อที่ดินในระหว่างระยะเวลาห้ามโอนที่ดินแปลงดังกล่าวตามกฎหมาย ไม่มีความเกี่ยวพันเป็นทายาทของนายอำพร เจ้ามรดก การทำพินัยกรรมยกที่ดินให้แก่โจทก์ จึงเป็นการอำพรางการซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับนายอำพร สัญญาซื้อขายที่ดินจึงเป็นโมฆะเพราะขัดต่อกฎหมายโดยชัดแจ้ง ส่วนพินัยกรรมดังกล่าวก็ตกเป็นโมฆะเนื่องจากเป็นนิติกรรมอำพราง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์ยังไม่ได้ยื่นคำขอต่อจำเลย ที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนรับมรดกที่ดินเป็นเพียงการแนะนำตามขั้นตอนการให้บริการประชาสัมพันธ์แก่ผู้มาติดต่อ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์ คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยในฐานะเจ้าพนักงานที่ดินปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนขอรับมรดกที่ดินตามพินัยกรรม ทำให้โจทก์เสียหาย เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยให้การว่า พินัยกรรมเป็นโมฆะ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดกาฬสินธุ์
ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ฟ้องโจทก์จะกล่าวอ้างว่าจำเลยในฐานะเจ้าพนักงานที่ดินปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินตามพินัยกรรมตามคำขอของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย เป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติก็ตาม แต่การจะพิจารณาว่า การที่จำเลยปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนโอนมรดกให้แก่โจทก์ชอบหรือไม่นั้น จำเป็นต้องพิจารณาให้ได้ความว่าข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เป็นโมฆะหรือไม่เสียก่อน ซึ่งจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาในกรณีดังกล่าว คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองขอนแก่นพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามฟ้องโจทก์เป็นการฟ้องว่า จำเลยไม่รับจดทะเบียนให้แก่โจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยดังกล่าวและกำหนดเงื่อนไขให้จำเลยดำเนินการตามคำขอของโจทก์ได้ ตามมาตรา ๗๒ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง อนึ่ง คดีมีประเด็นต้องพิจารณาเพียงว่า การที่จำเลยไม่รับจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินให้แก่โจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เท่านั้น ส่วนประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่า พินัยกรรมเป็นโมฆะหรือไม่นั้น เป็นเพียงประเด็นปัญหาย่อยหนึ่งในหลายประเด็นปัญหาที่จะพิจารณาว่าการไม่รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้แก่โจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งการพิจารณาแต่เพียงประเด็นย่อยว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะหรือไม่ ก็ไม่อาจจะวินิจฉัยได้ว่าการไม่รับจดทะเบียนของจำเลยเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ กรณีต้องพิจารณาประกอบกับประเด็นปัญหาอื่นอีกจึงจะสามารถวินิจฉัยถึงความชอบด้วยกฎหมายของการไม่รับจดทะเบียนดังกล่าวได้ เช่น การไม่รับจดทะเบียนเป็นไปตามขั้นตอนและวิธีการตามระเบียบแบบแผนทางราชการหรือตามกฎหมายหรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งก็เป็นประเด็นปัญหาที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเช่นเดียวกัน แม้การพิจารณาคดีนี้จะต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาวินิจฉัยก็ตาม แต่การพิจารณาดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาลักษณะคดีว่าอยู่ในอำนาจศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นจะที่นำบทบัญญัติในกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีได้ ซึ่งศาลปกครองก็ได้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาปรับใช้ในการวินิจฉัยคดีที่อยู่ในอำนาจศาลปกครองหลายกรณี แต่ก็นำมาปรับใช้เท่าที่สภาพของเรื่องจะเปิดช่องให้กระทำได้และไม่ขัดต่อหลักการพื้นฐานของคดีปกครองที่ต้องมีดุลยภาพระหว่างสิทธิเสรีภาพหรือประโยชน์ของเอกชนกับประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ส่วนรวม ดังนั้นจึงหาใช่ว่าหากคดีใดศาลจำต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งถือเป็นกฎหมายเอกชนมาปรับใช้ในการวินิจฉัยคดีแล้ว คดีนั้นจะต้องเป็นคดีแพ่งที่อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรมเสมอไป การแปลความหรือวินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจศาลจึงต้องวินิจฉัยให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการของประเทศในปัจจุบันที่ให้ศาลปกครองเป็นศาลที่มีอำนาจเฉพาะในการพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชนอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครอง ศาลยุติธรรมจึงเป็นศาลที่มีอำนาจทั่วไปในการพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน ฉะนั้น การอ้างแต่เพียงเหตุที่นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาปรับใช้ในการวินิจฉัยและประเด็นในการวินิจฉัยเป็นประเด็นย่อยแห่งคดีมาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลย่อมไม่สอดคล้องกับระบบองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการของประเทศในปัจจุบัน การวินิจฉัยเรื่องอำนาจศาลปกครองกับศาลยุติธรรมจึงต้องแปลความในเรื่องของศาลที่มีอำนาจทั่วไปอย่างจำกัด เพื่อไม่ให้ก้าวล่วงอำนาจของศาลปกครองที่เป็นศาลที่มีอำนาจเฉพาะในการพิจารณาพิพากษาคดีปกครองที่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะหากวินิจฉัยอำนาจของศาลทั่วไปอย่างกว้างขวางก็ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าคดีพิพาทที่เกิดขึ้นต้องมีส่วนเกาะเกี่ยวหรือเกี่ยวโยงกับอำนาจของศาลที่มีอำนาจทั่วไปซึ่งโดยปกติจะมีอำนาจที่กว้างขวางอยู่แล้ว ซึ่งคดีพิพาทในกรณีนี้เหตุของการไม่รับจดทะเบียนเนื่องจากจำเลยพิจารณาแล้วเห็นว่า การทำพินัยกรรมของนายอำพร เจ้ามรดก ที่ยกที่ดินให้แก่โจทก์เป็นการอำพรางการซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับนายอำพร ในระหว่างระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมาย การใช้ดุลพินิจของจำเลยในการไม่รับจดทะเบียนในกรณีนี้จึงเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ในการแทรกแซงนิติสัมพันธ์ของเอกชนหรือจำกัดสิทธิในการแสดงเจตนาของเอกชนเพื่อประโยชน์ในการบังคับใช้กฎหมายและการบริหารจัดการในการใช้ประโยชน์ในที่ดินซึ่งเป็นทรัพยากรหรือปัจจัยในการผลิตที่สำคัญของประเทศให้การถือครอบครองกระจายแก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง อันเป็นการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อประโยชน์ของมหาชน การพิจารณาพิพากษาคดีเพื่อตรวจสอบขั้นตอนหรือวิธีการหรือตรวจสอบดุลพินิจของจำเลยในกรณีดังกล่าวที่จะก่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายได้นั้น หลักการสำคัญย่อมต้องขึ้นอยู่กับการที่ศาลได้ข้อเท็จจริงที่ชัดแจ้ง โดยศาลไม่จำต้องผูกพันอยู่กับข้อเท็จจริงที่คู่ความหรือคู่กรณีนำเสนอต่อศาล อันเป็นหลักการของวิธีพิจารณาในระบบไต่สวนที่จะเป็นประโยชน์ต่อคู่กรณีทั้งฝ่ายเอกชนและฝ่ายรัฐหรือหน่วยงานทางปกครอง เพราะคดีนี้หาใช่คดีพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนซึ่งต่างฝ่ายต่างรักษาประโยชน์ของตนเอง แต่เป็นคดีที่เอกชนฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐจากการใช้อำนาจตามกฎหมายในการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะในการบริหารจัดการการใช้ที่ดินของประเทศ ประกอบกับข้อ ๔๑ วรรคสอง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่มีประเด็นหลักแห่งคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง แม้ประเด็นรองที่จำต้องวินิจฉัยก่อนจะเป็นประเด็นที่ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาก็ตาม ศาลปกครองก็มีอำนาจวินิจฉัยประเด็นนี้ได้ เพราะประเด็นรองเกี่ยวพันกันกับประเด็นหลักแห่งคดี นอกจากนี้มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีได้ เมื่อคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ ตามนัยมาตรา ๒๑๘ ประกอบมาตรา ๒๒๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่า โจทก์เป็นทายาทผู้รับพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองของนายอำพร นาสีแสน ซึ่งทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๓๗๔๗ ตำบลผาเสวย อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ เนื้อที่ ๘ ไร่ ๕๒ ตารางวา ให้แก่โจทก์ เมื่อนายอำพร ถึงแก่ความตาย โจทก์ยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานประกอบการขอจดทะเบียนรับมรดกตามพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองต่อจำเลย แต่จำเลยปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนให้แก่โจทก์ โดยให้เหตุผลว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะ ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยรับเรื่องและจดทะเบียนโอนมรดกตามพินัยกรรมให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โฉนดที่ดินที่โจทก์นำมาขอจดทะเบียนรับมรดกนั้นถูกบังคับห้ามโอนภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๑ จำเลยสอบถามโจทก์ได้ความว่า โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวจากนายอำพรในระหว่างระยะเวลาห้ามโอนที่ดินแปลงดังกล่าวตามกฎหมาย การทำพินัยกรรมยกที่ดินให้แก่โจทก์ จึงเป็นการอำพรางการซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับนายอำพร สัญญาซื้อขายที่ดินจึงเป็นโมฆะเพราะขัดต่อกฎหมายโดยชัดแจ้ง ส่วนพินัยกรรมดังกล่าวก็ตกเป็นโมฆะเนื่องจากเป็นนิติกรรมอำพราง เห็นว่า การที่ศาลจะพิจารณาพิพากษาตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๓๗๔๗ เป็นของโจทก์หรือไม่ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของ
ศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายกุลชาติ ทินแย่ง โจทก์ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกาฬสินธุ์ สาขาสมเด็จ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศิลปชัย สรภักดี (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศิลปชัย สรภักดี) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share