คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14087/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2550 ว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง จำคุก 7 ปี และปรับ 400,000 บาท เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งเป็นจำคุก 10 ปี 6 เดือน และปรับ 600,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 5 ปี 3 เดือน และปรับ 300,000 บาท ต่อมาวันที่ 4 มิถุนายน 2551 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่าจำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ได้นั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษและเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 จนคดีถึงที่สุดแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขการเพิ่มโทษในคดีหลังได้ และเมื่อศาลอ่านคำพิพากษาจนคดีถึงที่สุดแล้ว ศาลนั้นจะแก้ไขคำพิพากษาเกี่ยวกับการเพิ่มโทษหาได้ไม่ เพราะไม่ใช่การแก้ไขถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาดซึ่งขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 190 และกรณีดังกล่าวไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.อ. มาตรา 3 (1) ที่จะทำให้ศาลมีอำนาจยกคดีขึ้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ได้
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 13/2553)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุด เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2550 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 5 ปี 3 เดือน และปรับ 300,000 บาท นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อย. 1479/2549 ของศาลอาญา หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลา 1 ปี ริบของกลาง
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2551 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้อง ให้ยกคำขอนับโทษต่อของโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงมีความสงสัยว่าจำเลยที่ 1 ต้องโทษจำคุกทั้งสองคดีเป็นเวลานานเท่าใด และตามที่ได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มีผลต่อคดีทั้งสองอย่างไร
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์ตามพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ได้นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษและเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 จนคดีถึงที่สุดแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขการเพิ่มโทษในคดีหลังได้ และเมื่อศาลอ่านคำพิพากษาจนคดีถึงที่สุดแล้ว ศาลนั้นจะแก้ไขคำพิพากษาเกี่ยวกับการเพิ่มโทษหาได้ไม่ เพราะไม่ใช่การแก้ไขถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาดซึ่งขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 190 และกรณีดังกล่าวไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) ที่จะทำให้ศาลมีอำนาจยกคดีขึ้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่งดเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 นั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share