คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1448/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในสัญญาซื้อขายระบุเงื่อนไขว่า ‘แม้ว่าสัญญาฉบับนี้จะผ่านการโอนการต่ออายุหรือการเปลี่ยนมืออย่างใด ๆ หรือตัวยานยนต์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญาต้องประสบความสูญเสีย เสียหายหรือย่อยยับประการใด ผู้ซื้อก็หาหลุดพ้นจากหน้าที่รับผิดตามสัญญาฉบับนี้แต่อย่างใดไม่ ‘ฯลฯ’ ข้อความที่ว่ายานยนต์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญาต้องประสบความสูญเสียนั้น ย่อมมีความหมายรวมตลอดถึงยานยนต์สูญหายไปเพราะเหตุถูกคนร้ายลักไปด้วย จำเลยที่ 1 ชำระค่าซื้อรถยนต์ตามสัญญายังไม่ครบถ้วน จึงต้องรับผิดชำระราคารถยนต์ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันด้วย
เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาและโจทก์ก็ได้บอกเลิกสัญญาแล้ว สัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขสิ้นสุดลง คู่สัญญาจำต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 จำเลยที่ 1 ต้องคืนรถยนต์ให้โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่สามารถส่งคืนได้เพราะรถยนต์ถูกลักไป จำเลยที่ 1 จึงต้องใช้ราคารถแทนเฉพาะส่วนที่ยังส่งไม่ครบ
ตามหนังสือสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าเมื่อจำเลยผิดนัดแล้วต้องมีหน้าที่ส่งมอบรถคืนให้แก่โจทก์แต่อย่างใด ดังนั้นจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในการที่ไม่ส่งมอบรถคืนให้แก่โจทก์.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซื้อรถยนต์จากโจทก์ 1 คันราคา 114,860บาท โดยมีเงื่อนไขให้ชำระเงินดาวน์ 14,000 บาท ส่วนที่เหลือผ่อนชำระเป็นงวดละเดือนเดือนละ 3,362 บาท เริ่มชำระตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2523 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์ทวงถามและบอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยไม่ส่งมอบรถยนต์คืน เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเป็นเงิน 30,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์คืน หากส่งคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 50,000 บาทแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ฟ้องคดีไม่ชอบเพราะมีข้อตกลงกันให้ฟ้องที่ศาลแพ่ง โจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์ ทั้งได้รับเงินค่าประกันภัยรถยนต์ดังกล่าวจากบริษัทประกันภัยเนื่องจากรถหายไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ซื้อถูกคนร้ายลักไปเป็นเหตุสุดวิสัย จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยร่วมกันคืนรถยนต์คันพิพาทแก่โจทก์หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน 50,000 บาท ให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินจำนวนดังกล่าวนับจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 2,000 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า เมื่อรถยนต์คันพิพาทถูกคนร้ายลักไปเช่นนี้ จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใดเห็นว่าหนังสือสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขตามเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 4ระบุว่า ‘แม้ว่าสัญญาฉบับนี้จะผ่านการโอน การต่ออายุ หรือการเปลี่ยนมืออย่างใดๆ หรือตัวยานยนต์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญาต้องประสบความสูญเสีย เสียหายหรือย่อยยับประการใดผู้ซื้อก็หาหลุดพ้นจากหน้าที่รับผิดตามสัญญาฉบับนี้แต่อย่างใดไม่ฯลฯ’ข้อความที่ว่ายานยนต์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญาต้องประสบความสูญเสียนั้น ย่อมมีความหมายรวมตลอดถึงยานยนต์สูญหายไป เพราะเหตุถูกคนร้ายลักไปด้วย ดังนั้นเมื่อระหว่างที่จำเลยที่ 1ชำระเงินค่าซื้อรถยนต์ตามสัญญายังไม่ครบถ้วน รถยนต์ดังกล่าวได้ถูกลักไปเช่นนี้ จำเลยที่ 1 ก็ยังคงต้องรับผิดชำระราคารถยนต์ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันก็ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันด้วย ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาเช่าซื้อ เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายสัญญาเช่าซื้อย่อมระงับลงนั้น เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวมิได้เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คงเหลือปัญหาที่ว่าจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด เห็นว่า เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา และโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้วตามเอกสารหมาย จ.6 จึงเป็นผลให้สัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขตามเอกสารหมาย จ.4 สิ้นสุดลง คู่สัญญาจำต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 จำเลยที่ 1 ต้องคืนรถยนต์ให้โจทก์ และโจทก์ต้องคืนเงินค่ารถที่ได้รับไว้แล้วให้แก่จำเลยที่ 1 แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถส่งคืนรถยนต์ที่ถูกลักไปให้โจทก์ได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องใช้ราคารถแทน โดยชำระเฉพาะส่วนที่ยังไม่ครบ โดยที่ปรากฏหลักฐานจากใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.6 ถึง ล.17 ซึ่งนายนเรศ สุวรรณการหุ้นสวนผู้จัดการของโจทก์รับรองความถูกต้อง ได้ความว่าจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่ารถยนต์ให้แก่โจทก์ไปแล้ว 46,214 บาท ดังนั้นจำเลยที่ 1 จะต้องใช้ราคารถที่ยังขาดอยู่แก่โจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย แต่เนื่องจากโจทก์ขอให้ใช้ราคารถยนต์มาเพียง 50,000 บาท จึงให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดเพียงเท่าที่โจทก์ขอมาดังกล่าวส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเนื่องจากจำเลยผิดสัญญาซื้อขายไม่ส่งมอบรถคืนให้แก่โจทก์นับตั้งแต่วันผิดนัดจนถึงวันบอกเลิกสัญญา เป็นเงิน 30,000 บาทนั้นเห็นว่าตามหนังสือสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข เอกสารหมาย จ.4 ไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าเมื่อจำเลยผิดนัดแล้วต้องมีหน้าที่ส่งมอบรถคืนให้แก่โจทก์แต่อย่างใดคงให้สิทธิแก่โจทก์อย่างอื่น อาทิเช่น เรียกให้จำเลยชำระราคาส่วนที่เหลือหรือเรียกดอกเบี้ยในเงินส่วนที่ผิดนัด หรือเข้าครอบครองรถ ดังนั้น จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในการที่ไม่ส่งมอบรถคืนให้แก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายในส่วนนี้แก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน’
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองไม่ต้องใช้ค่าเสียหายจำนวน30,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share