คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2417/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ขับขี่รถจักรยานยนต์พาจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายไปที่เกิดเหตุในเวลากลางคืน แล้วยืนคุมเชิงอยู่ใกล้เคียงกับจำเลยที่ 2พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือในขณะที่จำเลยที่ 2 ไขกุญแจคอรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย ถือได้ว่าเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำจำเลยที่ 1 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 ไขกุญแจคอรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายเป็นการลงมือกระทำความผิดฐานลักทรัพย์แล้ว เมื่อกระทำไปไม่ตลอดเพราะเจ้าพนักงานตำรวจพบเห็นเสียก่อน จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานพยายามลักทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334,335(1)(7), 80, 83 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 11 และริบของกลาง จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335(1)(7) ประกอบด้วยมาตรา 80พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525มาตรา 11 ให้จำคุก 3 ปี 4 เดือน ริบของกลาง จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ตามที่โจทก์จำเลยนำสืบโดยไม่โต้แย้งกันว่า ขณะเกิดเหตุรถจักรยานยนต์คันของผู้เสียหายจอดอยู่บนทางเท้าหน้าบ้านเพื่อนของผู้เสียหาย บริเวณถนนสี่พระยารถจักรยานยนต์คันของจำเลยที่ 1 จอดอยู่ริมถนนใกล้เคียงกันกับที่รถจักรยานยนต์คันของผู้เสียหายจอดอยู่ และจำเลยที่ 1 ที่ 2ยืนอยู่ในที่เกิดเหตุนั้น ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยคือจำเลยทั้งสองร่วมกันพยายามลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายดังที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ในข้อนี้โจทก์มีจ่าสิบตำรวจมงคล เรืองเกตุ เบิกความว่าเห็นจำเลยทั้งสองยืนอยู่ข้างรถจักรยานยนต์คันที่จอดอยู่บนทางเท้า จำเลยที่ 2กำลังไขกุญแจที่คอรถจักรยานยนต์ จำเลยที่ 1 ยืนห่างออกไปประมาณ4-5 เมตร นายดาบตำรวจเปรมศักดิ์ พุทธปัญญา เบิกความว่าเห็นจำเลยที่ 2 ยืนอยู่ใกล้รถจักรยานยนต์คันที่จอดอยู่บนทางเท้า ทำท่าเหมือนจะไขรถจักรยานยนต์จำเลยที่ 1 ยืนอยู่ใกล้กัน เห็นว่าพยานโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ขณะเกิดเหตุทำหน้าที่สายตรวจโดยเฉพาะจ่าสิบตำรวจมงคลทำหน้าที่สายสืบมาแล้วประมาณ 10 ปีย่อมมีความเข้าใจและสังเกตเห็นความเป็นพิรุธของจำเลยทั้งสองได้ดีว่าในอาการกิริยาเช่นนั้นน่าจะเป็นคนร้ายลักรถจักรยานยนต์แม้ว่าพยานโจทก์ทั้งสองจะเห็นไม่ตรงกันโดยจ่าสิบตำรวจมงคลเห็นจำเลยที่ 2 กำลังไขกุญแจคอรถจักรยานยนต์ นายดาบตำรวจเปรมศักดิ์เห็นจำเลยที่ 2 ทำท่าเหมือนจะไขรถจักรยานยนต์ ก็เป็นเรื่องแตกต่างกันในพลความซึ่งนายดาบตำรวจเปรมศักดิ์อาจจะเห็นจำเลยที่ 2 ก่อนหรือหลังการไขกุญแจที่คอรถจักรยานยนต์ก็ได้ นายดาบตำรวจเปรมศักดิ์ไม่เบิกความว่าเห็นจำเลยที่ 2 กำลังไขกุญแจที่คอรถจักรยานยนต์ให้เหมือนกับคำเบิกความของจ่าสิบตำรวจมงคล ทำให้น่าเชื่อถือว่าพยานโจทก์ทั้งสองเบิกความไปตามความจริงที่รู้เห็นและเมื่อพยานโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นจำเลยที่ 2ยังได้พบกุญแจ 1 พวง จำนวน 5 ดอก เป็นกุญแจรถชนิดต่าง ๆ และพบเหล็กดัดคล้ายกุญแจอีก 2 อัน สนับสนุนให้น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2มีไว้ใช้ในการลักรถจักรยานยนต์ ข้อกล่าวแก้ของจำเลยที่ 2 อ้างว่าขณะเกิดเหตุไปรอเพื่อนที่บริเวณที่พักผู้โดยสารรถประจำทางหัวถนนสี่พระยา ระหว่างรอได้ไปหยิบผ้าที่รถจักรยานยนต์คันของผู้เสียหายเพื่อจะนำไปเช็คทำความสะอาดที่นั่งที่พักผู้โดยสารดังกล่าวก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมกล่าวหาว่าพยายามลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย และว่ากุญแจของจำเลยที่ 2 เป็นกุญแจรถยนต์และกุญแจบ้านส่วนเหล็กดัดคล้ายกุญแจเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการซ่อมไฟฟ้าของเพื่อนนั้น จำเลยที่ 2 ไม่ได้นำสืบให้ได้ความว่าเป็นกุญแจรถยนต์คันไหนของใครและเป็นกุญแจบ้านจริงหรือไม่ ข้อกล่าวแก้ของจำเลยที่ 2ไม่อาจรับฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ ศาลฎีกาเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ได้ไขกุญแจคอรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายเป็นการลงมือกระทำความผิดฐานลักทรัพย์แล้ว สำหรับจำเลยที่ 1 ซึ่งขับขี่รถจักรยานยนต์พาจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายไปที่เกิดเหตุในยามวิกาลแล้วยืนอยู่ใกล้เคียงกับจำเลยที่ 2 ในขณะเกิดเหตุ น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ร่วมรู้ร่วมคิดกับจำเลยที่ 2 ในการลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายโดยยืนคุมเชิงพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือถือได้ว่าแบ่งหน้าที่กันทำ เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดด้วยกับจำเลยที่ 2 ข้อกล่าวแก้ของจำเลยที่ 1เพียงว่าไปจอดรถจักรยานยนต์ไว้ที่บริเวณที่พักผู้โดยสารรถประจำทางถูกเจ้าพนักงานตำรวจว่ากล่าวห้ามมิให้จอดและสงสัยว่าจะร่วมกันลักทรัพย์นั้น ไม่มีเหตุผลที่เจ้าพนักงานตำรวจจะสงสัยว่าจำเลยที่ 1ร่วมลักทรัพย์โดยไม่มีพฤติการณ์ใดให้เป็นที่สงสัยขึ้นก่อน ข้อกล่าวแก้ของจำเลยที่ 1 ไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้เช่นเดียวกัน”
พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1)(7) วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 80 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525) มาตรา 11ให้จำคุกคนละ 3 ปี 4 เดือน ริบของกลาง

Share