แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2555 แต่ปรากฏว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ดินพิพาทให้แก่ อ. ผู้ซื้อทรัพย์ไปตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2550 เมื่อ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 110 วรรคสอง บัญญัติว่า การบังคับคดีนั้นให้ถือว่าได้สำเร็จบริบูรณ์เมื่อพ้นกำหนดเวลาที่อนุญาตให้เจ้าหนี้อื่นยื่นคำขอเฉลี่ยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคสี่ (เดิม) ได้กำหนดเวลาที่เจ้าหนี้จะยื่นคำขอเฉลี่ยไว้โดยให้ยื่นก่อนสิ้นระยะเวลา 14 วัน นับแต่วันขายทอดตลาดทรัพย์พิพาท ฉะนั้น การบังคับคดีในคดีนี้จึงสำเร็จบริบูรณ์ไปก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด การบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงใช้ยันแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 110 วรรคหนึ่งและวรรคสอง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดตามสัญญาประกันตัวผู้ต้องหา คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาเป็นเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 กันยายน 2527 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 21 พฤษภาคม 2529) ต้องไม่เกิน 11,250 บาท จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอให้บังคับคดีโดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 19336 ต่อมาวันที่ 15 กันยายน 2550 เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพิพาทให้นายอวยชัย เป็นเงิน 200,000 บาท แต่นายอวยชัยวางเงินมัดจำไว้กับเจ้าพนักงานบังคับคดีเพียง 11,000 บาท ด้วยเหตุนางกิมเองยื่นคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทดังกล่าว ระหว่างพิจารณาคดีร้องขอให้ปล่อยทรัพย์นั้นศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2555 ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด หลังจากนั้นมีเจ้าหนี้ 3 ราย ยื่นคำขอรับชำระหนี้ แต่ขอถอนคำขอรับชำระหนี้ไป 2 ราย ส่วนเจ้าหนี้อีก 1 ราย ได้รับชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2556 ศาลล้มละลายกลางจึงมีคำสั่งเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2556 ให้ยกเลิกการล้มละลายของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 135 (3)
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้คืนโฉนดที่ดินพิพาทดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 10,000 บาท
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า การบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์ไปแล้วก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 110 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “คำสั่งของศาลที่ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ไว้ชั่วคราว หรือหมายบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้นั้น จะใช้ยันแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ไม่ได้ เว้นแต่การบังคับคดีนั้นได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์” และตามวรรคสองของบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “การบังคับคดีนั้น ให้ถือว่าสำเร็จบริบูรณ์เมื่อพ้นกำหนดเวลาที่อนุญาตให้เจ้าหนี้อื่นยื่นคำขอเฉลี่ยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง” และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคสี่ (เดิม) อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้น บัญญัติว่า “ในกรณีที่ยึดทรัพย์สินเพื่อขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่น คำขอเช่นว่านี้ให้ยื่นก่อนสิ้นระยะเวลาสิบสี่วันนับแต่วันที่มีการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินที่ขายทอดตลาด หรือจำหน่ายได้ในครั้งนั้น ๆ” คดีนี้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2555 แต่ปรากฏว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ดินพิพาทให้แก่นายอวยชัยผู้ซื้อทรัพย์ไปตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2550 เมื่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 110 วรรคสอง บัญญัติว่า การบังคับคดีนั้นให้ถือว่าได้สำเร็จบริบูรณ์เมื่อพ้นกำหนดเวลาที่อนุญาตให้เจ้าหนี้อื่นยื่นคำขอเฉลี่ยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคสี่ (เดิม) ได้กำหนดเวลาที่เจ้าหนี้จะยื่นคำขอเฉลี่ยไว้โดยให้ยื่นก่อนสิ้นระยะเวลา 14 วันนับแต่วันขายทอดตลาดทรัพย์พิพาท ฉะนั้น การบังคับคดีในคดีนี้จึงสำเร็จบริบูรณ์ไปก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด การบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงใช้ยันแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 110 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและพิพากษาให้ยกคำร้องต้องกันมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น ฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 1 ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ได้ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ