คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1012/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ข้อตกลงตาม สัญญาประนีประนอมยอมความ ระหว่างโจทก์ จำเลยที่กำหนดว่า หากจำเลยผิดสัญญาโดย ทำงานไม่ครบตาม ระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา จำเลยจะต้อง ชดใช้เงินตาม จำนวนที่กำหนดไว้ในสัญญาให้โจทก์ ข้อตกลงดังนี้เป็นเรื่องเบี้ยปรับ หากมีจำนวนสูงเกินไป ศาลมีอำนาจใช้ ดุลยพินิจ กำหนดลดลงตาม สมควรได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างของโจทก์ ขณะที่จำเลยยังเป็นลูกจ้างของโจทก์อยู่ จำเลยได้รับทุนจากองค์การเอไอดี ผ่านทางกรมวิเทศสหการ ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ประเทศสหรัฐอเมริกาโดยโจทก์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายและค่าพาหนะให้แก่จำเลย จำเลยได้ทำสัญญากับโจทก์ว่า จำเลยจะต้องกลับมาทำงานกับโจทก์เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสองเท่าของระยะเวลาที่รับเงินเดือนระหว่างลาไปศึกษาถ้าทำงานให้ไม่ครบระยะเวลาดังกล่าวจำเลยยอมรับผิดชดใช้เงินให้แก่โจทก์ จำเลยศึกษาสำเร็จแล้วเดินทางกลับประเทศไทยได้รายงานตัวเข้าทำงานต่อโจทก์ แต่ต่อมาจำเลยได้ลาออก จึงคงเหลือระยะเวลาที่จำเลยจะต้องทำงานชดใช้ให้โจทก์อีก 2 ปี 5 เดือน 5 วัน จำเลยจึงต้องชดใช้เงินให้โจทก์ตามที่ตกลงกัน ต่อมาจำเลยขอกลับเข้าทำงานกับโจทก์ใหม่เพื่อชดใช้ทุนดังกล่าว โจทก์ยอมรับจำเลยเข้าทำงานใหม่ โดยโจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อกันมีใจความสำคัญว่าจำเลยตกลงกลับเข้าทำงานให้แก่โจทก์มีกำหนด 3 เท่าของเวลาที่ลาไปศึกษา โดยนับตั้งแต่วันกลับเข้าทำงานใหม่ มีกำหนดเวลา 4 ปี3 เดือน 15 วัน หากจำเลยผิดสัญญาทำงานไม่ครบตามกำหนดเวลาดังกล่าวเนื่องจากความผิดของจำเลย จำเลยจะชดใช้เงินจำนวน 285,750.19 บาทและ 52,559.89 เหรียญสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่จำเลยผิดสัญญาให้แก่โจทก์ ภายหลังจากจำเลยกลับเข้าทำงานกับโจทก์ แล้วโจทก์สืบทราบว่าจำเลยเป็นลูกจ้างของบริษัทยูโนแคลไทยแลนด์ จำกัด การที่จำเลยกลับเข้าทำงานกับโจทก์ จำเลยก็มิได้ลาออกจากบริษัทยูโนแคลไทยแลนด์ จำกัด จำเลยได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ปฏิบัติงานให้บริษัทยูโนแคลไทยแลนด์ จำกัด จะมาปฏิบัติงานให้โจทก์เพียงชั่วครู่ระหว่างเวลาพักกลางวันเท่านั้น เมื่อโจทก์ทราบการกระทำของจำเลยจึงได้มีคำสั่งปลดจำเลยออกจากงานฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ถือได้ว่าจำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความเพราะทำงานให้โจทก์ไม่ครบเวลาตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 เป็นความผิดอันเนื่องมาจากความผิดของจำเลยเอง จำเลยจะต้องชดใช้เงินจำนวน285,750.19 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า การที่โจทก์มีคำสั่งปลดจำเลยออกจากงานนั้นเป็นไปด้วยความสมัครใจของโจทก์เองมิใช่ความผิดของจำเลย จำเลยปฏิบัติงานให้เอกชนอื่นก็เป็นเพราะการรู้เห็นยินยอมของโจทก์ถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 5 ได้กำหนดว่า ถ้ามีกรณีโต้แย้งเกิดขึ้นอันเกี่ยวกับข้อความในสัญญา หรือข้อปฏิบัติในสัญญาก็ดีโจทก์และจำเลยจะต้องทำข้อโต้แย้งนั้นเสนอต่อคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด แต่โจทก์ไม่เคยนำข้อพิพาทที่มีกับจำเลยเสนอคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยให้ชี้ขาดเลย กลับนำมาฟ้องเป็นคดีนี้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางเนื่องจากคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความมิใช่ตามสัญญาจ้างแรงงาน หรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หรือเข้าลักษณะเรื่องอื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ศาลแรงงานกลางจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งใด ๆ ในคดีนี้
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยใช้เงินจำนวน 1,303,866.60 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ หากจำเลยทำงานให้โจทก์ไม่ครบตามที่ตกลงกันจำเลยจะต้องชำระหนี้เงินจำนวน 285,750.19 บาท และ 52,559.89เหรียญสหรัฐอเมริกาให้แก่โจทก์ ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่กำหนดไว้แน่นอนตายตัวแล้วว่าจำเลยจะต้องรับผิดเท่าใด การที่ศาลแรงงานกลางชี้ขาดตัดสินให้นำเวลา 10 เดือน 3 วัน ที่จำเลยทำงานให้โจทก์มาคำนวณลดจากยอดจำนวนเงินที่ระบุไว้ชัดแจ้งตามสัญญาที่จำเลยจะต้องชดใช้แก่โจทก์จึงเป็นการไม่ถูกต้อง พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.16 เป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลย ซึ่งตามข้อ 2 จำเลยตกลงกลับเข้าทำงานให้แก่โจทก์มีกำหนดเวลา 3 เท่าของเวลาที่ลาไปศึกษา โดยนับแต่วันกลับเข้าทำงานใหม่กล่าวคือมีกำหนด 4 ปี 3 เดือน 15 วัน และตามข้อ 3 หากจำเลยผิดสัญญาทำงานไม่ครบกำหนดเวลาตามข้อ 2 เนื่องจากความผิดของจำเลย จำเลยจะชดใช้เงินจำนวน 285,750.19 บาท และ 52,559.89 เหรียญสหรัฐอเมริกาพร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่ผิดสัญญาให้แก่โจทก์ถือได้ว่าข้อตกลงตามข้อ 3 เป็นเบี้ยปรับเมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 เมื่อเบี้ยปรับนั้นมีจำนวนสูงเกินไป ศาลแรงงานกลางมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383…”
พิพากษายืน.

Share