แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยจะต้องเป็นผู้ออกใบรับขนของทางอากาศ (AIRWAYBILL) ให้แก่โจทก์เมื่อสินค้าได้มีการชั่งน้ำหนักและผ่านพิธีการทางศุลกากรแล้ว โดยระบุปลายทางของการขนส่งที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้ขนส่งและสัญญาขนส่งสินค้าตามฟ้องระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นสัญญาขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ส่วนการที่โจทก์มีหน้าที่ชำระเงินค่าขนส่งระหว่างบริษัทโจทก์ไปยังท่าอากาศยานกรุงเทพให้แก่จำเลยก็เป็นเพียงข้อตกลงแบ่งแยกความรับผิดชอบในการชำระเงินค่าขนส่ง ส่วนที่อยู่ภายในประเทศให้แก่โจทก์เท่านั้น
การที่จำเลยทำสัญญารับขนส่งทางอากาศกับโจทก์ ซึ่งสัญญาขนส่งประเภทนี้ยังไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ใช้บังคับโดยเฉพาะเหมือนดังเช่นการขนส่งของทางทะเลที่มี พ.ร.บ.รับขนของทางทะเลฯ ใช้บังคับ จึงต้องนำบทบัญญัติในลักษณะ 8 ว่าด้วยรับขน ตาม ป.พ.พ. มาใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 616 แห่ง ป.พ.พ.บัญญัติให้ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งมอบชักช้า เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการสูญหาย หรือบุบสลายหรือชักช้านั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดแต่สภาพแห่งของนั้นเอง หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ส่งหรือรับตราส่ง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ขนส่งสินค้าตามฟ้องของโจทก์ จำเลยรับสินค้าตามฟ้องของโจทก์มาอยู่ในความดูแลของตนแล้วมีคนมาลักเอาสินค้าตามฟ้องไป ดังนี้การสูญหายของสินค้าตามฟ้องมิได้เกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเกิดจากสภาพของสินค้าหรือเกิดจากความผิดของโจทก์ จำเลยจึงต้องรับชดใช้ค่าสินค้าตามฟ้องให้แก่โจทก์ แต่อย่างไรก็ตามในการทำสัญญารับขนส่งระหว่างโจทก์กับจำเลยได้มีข้อตกลงจำกัดความรับผิดของจำเลยไว้ ซึ่งจำเลยอาจอ้างข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวขึ้นได้เพียงเท่าที่ไม่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 371 ข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่าจำเลยนำสินค้าของโจทก์ไปกองรวมกับสินค้าของลูกค้ารายอื่นเพื่อรอชั่งน้ำหนักตามวิธีการขนส่งสินค้าธรรมดาแต่สินค้าของโจทก์ถูกโจรกรรมหายไป ซึ่งยังฟังไม่ได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยอย่างไรที่ทำให้เกิดการสูญหายของสินค้าโจทก์ จำเลยจึงอ้างข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวขึ้นได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ว่าจ้างให้จำเลยเป็นผู้ขนส่งสินค้าของโจทก์โดยขนส่งทางอากาศไปยังลูกค้าของโจทก์ที่เมืองเบตันวิลล์ มลรัฐอาร์คันซอ ประเทศสหรัฐอเมริกา จำเลยได้ออกใบรับขนของทางอากาศ (AIRWAYBILL) ให้แก่โจทก์ จากนั้นจำเลยได้ให้พนักงานของจำเลยไปรับสินค้าดังกล่าวจากบริษัทโจทก์เพื่อดำเนินการจัดส่งสินค้าโดยโจทก์ได้ส่งมอบสินค้าและให้พนักงานของจำเลยตรวจรับสินค้าแล้ว ต่อมาโจทก์ได้รับแจ้งจากจำเลยว่าสินค้าของโจทก์ทั้งหมดสูญหายที่หน้าคลังสินค้าท่าอากาศยานกรุงเทพในขณะรอชั่งน้ำหนักก่อนที่จะลำเลียงเข้าไปยังคลังสินค้า จำเลยประกอบกิจการขนส่งสินค้าต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้สินค้าของโจทก์สูญหายในระหว่างขนส่ง แต่จำเลยหาได้ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ชำระค่าเสียหายตามมูลค่าของสินค้า ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยของเงินต้นนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้ว่าจ้างจำเลยให้ทำการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศตามฟ้อง ผู้ว่าจ้างจำเลยให้ทำการขนส่งสินค้าของโจทก์จากท่าอากาศยานกรุงเทพไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาคือ บริษัทวอลมาร์ท สโตร์ จำกัด การซื้อสินค้าพิพาทระหว่างโจทก์กับบริษัทวอลมาร์ท สโตร์ จำกัด เป็นการซื้อขายในราคา F.O.B. ซึ่งหากมีหน้าที่นำสินค้าไปส่งมอบให้แก่จำเลยผู้รับขนสินค้าที่ท่าอากาศยานกรุงเทพแต่เพื่อความสะดวกโจทก์ได้จ้างจำเลยให้ขนส่งสินค้าจากโรงงานของโจทก์พร้อมกับจัดทำการชั่งน้ำหนักและดำเนินพิธีการทางศุลกากรให้แก่โจทก์ด้วย การขนส่งสินค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นการขนส่งสินค้าภายในประเทศตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลย จำเลยจะรับผิดในความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งกิโลกรัมละ 20 ดอลลาร์สหรัฐ และจะรับผิดชอบในความเสียหายสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ดังนั้น หากโจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยได้ไม่เกิน 100,000 บาท จำเลยรับขนส่งสินค้าให้แก่โจทก์โดยคำนวณตามน้ำหนักของสินค้า กล่าวคือ สินค้าน้ำหนัก 1 ถึง 100 กิโลกรัม คิดค่าขนส่งเพียง 500 บาท ซึ่งเป็นอัตราค่าขนส่งสินค้าทั่วไปไม่ใช่อัตราค่าขนส่งสำหรับสินค้าที่มีมูลค่าหรือราคาสูง อีกทั้งโจทก์ไม่ได้แจ้งมูลค่าแท้จริงของสินค้าที่จำเลยรับขนส่ง ซึ่งหากโจทก์แจ้งว่าสินค้าพิพาทเป็นของมีค่าจำเลยก็จะใช้วิธีขนส่งที่แตกต่างจากวิธีขนส่งทั่วไปและจะต้องเรียกเก็บค่าขนส่งในอัตราสูงขึ้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามมูลค่าของสินค้าที่สูญหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 20,982.50 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมด้วยดอกเบี้ยของเงินต้นดังกล่าวเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง การเทียบจำนวนดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงินพิพาทไทยดังกล่าว หรือในกรณีที่จำเลยจะชำระเป็นเงินบาทไทยให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ที่ขายให้แก่ลูกค้าในวันที่ใช้เงินจริงถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาครพาณิชย์ที่ขายให้แก่ลูกค้าในวันที่ใช้เงินจริงถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ใช้เงินจริงให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราเช่นว่านั้นก่อนวันดังกล่าว ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งให้ทราบถึงอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ (อัตราอ้างอิง) ก็ให้ถือว่าอัตราดังกล่าวเป็นเกณฑ์คำนวณ ทั้งนี้อัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวต้องไม่เกินตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…จำเลยประกอบกิจการรับขนส่งสินค้าระหว่างประเทศด้วย จำเลยรับขนส่งสินค้าประเภทเพชรพลอยมูลค่าต่ำให้แก่บริษัทวอลมาร์ท สโตร์ จำกัด ในประเทศสหรัฐอเมริกาตามสัญญาการรับขนส่งทางอากาศเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งตกลงให้จำเลยสำส่งสินค้าดังกล่าวจากท่าอากาศยานกรุงเทพไปถึงบริษัทวอลมาร์ท สโตร์ จำกัด ที่เบตันวิลล์ มลรัฐอาร์คันซอ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยบริษัทวอลมาร์ท สโตร์ จำกัด สั่งซื้อสินค้าเครื่องประดับรวม 2 รายการ ตามฟ้องของโจทก์ โดยมีข้อตกลงว่าในส่วนการขนส่งสินค้าจากบริษัทโจทก์ไปยังท่าอากาศยานกรุงเทพ และการทำพิธีการทางศุลกากร โจทก์จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าขนส่ง ส่วนค่าระวางการขนส่งสินค้าจากประเทศไทยไปยังปลายทางที่ประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัทวอลมาร์ท สโตร์ จำกัด จะเป็นผู้รับผิดชอบ จะเห็นได้ว่าบริษัทวอลมอร์ท สโตร์ จำกัด ผู้สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ได้มีข้อตกลงกับโจทก์และจำเลยว่าตกลงให้จำเลยเป็นขนส่งสินค้าตามฟ้องจากบริษัทโจทก์ไปส่งให้แก่บริษัทวอลมาร์ท สโตร์ จำกัด ผู้ซื้อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งตามคำเบิกความของนายศุภมิตรก็ได้ความว่าจำเลยจะต้องเป็นผู้ออกใบรับขนของทางอากาศ (AIRWAYBILL) ให้แก่โจทก์เมื่อสินค้าได้มีการชั่งน้ำหนักและผ่านพิธีการทางศุลกากรแล้ว โดยระบุปลายทางของการขนส่งที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้ขนส่งและสัญญาขนส่งสินค้าตามฟ้องระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นสัญญาขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ส่วนการที่โจทก์มีหน้าที่ชำระเงินค่าขนส่งระหว่างบริษัทโจทก์ไปยังท่าอากาศยานกรุงเทพให้แก่จำเลยก็เป็นเพียงข้อตกลงแบ่งแยกความรับผิดชอบในการชำระเงินค่าขนส่งส่วนที่อยู่ภายในประเทศให้แก่โจทก์เท่านั้น อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อไปว่า จำเลยต้องรับผิดในความสูญหายของสินค้าตามฟ้องตามสัญญาขนส่งหรือไม่ เพียงใด …เห็นว่า การที่จำเลยทำสัญญารับขนส่งทางอากาศกับโจทก์ ซึ่งสัญญาขนส่งประเภทนี้ยังไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ใช้บังคับโดยเฉพาะเหมือนดังเช่นการขนส่งของทางทะเล ที่มีพระราชบัญญัติรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ใช้บังคับ จึงต้องนำบทบัญญัติในลักษณะ 8 ว่าด้วยรับขน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 616 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติให้ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งมอบชักช้า เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการสูญหาย หรือบุบสลายหรือชักช้านั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดแต่สภาพแห่งของนั้นเอง หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ส่งหรือผู้รับตราส่ง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ขนส่งสินค้าตามฟ้องของโจทก์ จำเลยรับสินค้าตามฟ้องของโทก์มาอยู่ในความดูแลของตนแล้วมีคนมาลักเอาสินค้าตามฟ้องไป เห็นว่า การสูญหายของสินค้าตามฟ้องมิได้เกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเกิดจากสภาพของสินค้าหรือเกิดจากความผิดของโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินค้าตามฟ้องให้แก่โจทก์ แต่อย่างไรก็ตามในการทำสัญญารับขนส่งระหว่างโจทก์กับจำเลยได้มีข้อตกลงจำกัดความรับผิดของจำเลยไว้ตามเอกสารหมาย ล.2 ว่า จำเลยจะรับผิดในความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งกิโลกรัมละ 20 ดอลลาร์สหรัฐ หรือตามมูลค่าสินค้าที่แท้จริงในใบอินวอยซ์ แล้วแต่ว่าจำนวนใดจะต่ำกว่าแต่สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งจำเลยอาจอ้างข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวขึ้นได้เพียงเท่าที่ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 373 ข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่าจำเลยนำสินค้าของโจทก์ไปกองรวมกับสินค้าของลูกค้ารายอื่นเพื่อรอชั่งน้ำหนักตามวิธีการขนส่งสินค้าธรรมดา แต่สินค้าของโจทก์ถูกโจรกรรมหายไป ซึ่งยังฟังไม่ได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยอย่างไรที่ทำให้เกิดการสูญหายของสินค้าโจทก์ จำเลยจึงอ้างข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวขึ้นได้ โดยใบรับขนของทางอากาศเอกสารหมาย จ.15 และ จ.16 สินค้าทั้งสองรายการตามฟ้องมีน้ำหนักรวมกัน 5.92 กิโลกรัม คำนวณเป็นค่าความเสียหาในอัตรา 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม ได้จำนวน 118.4 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต่ำกว่ามูลค่าสินค้าที่แท้จริงในใบอินวอยซ์ เอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 คือ 13,312.50 ดอลลาร์สหรัฐ และ 7,670 ดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินค้าตามฟ้องให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 118.4 ดอลลาร์สหรัฐ และจำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่โจทก์ทวงถาม ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้นศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 118.4 ดอลลาร์สหรัฐพร้อมดอกเบี้ยจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยจะชำระเป็นเงินบาทให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ที่ขายให้แก่ลูกค้าในวันที่ใช้เงิน ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราเช่นว่านั้นก่อนวันดังกล่าว ทั้งนี้อัตราแลกเปลี่ยนต้องไม่เกิน 43 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ตามที่โจทก์ขอ คำขออื่นให้ยก