แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลแพ่งพิพากษาให้โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมด้วยค่าฤชาธรรมเนียมแก่ อ. เมื่อโจทก์ได้ใช้เงินแก่ อ. ไปตามคำพิพากษาแล้วย่อมรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษาดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 229 (3) สิทธิเรียกร้องนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้ จึงต้องถือว่ามีอายุความสิบปีตามมาตรา 193/30 และสิทธิไล่เบี้ยของโจทก์เพิ่งมีขึ้นนับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นต้นไป การนับกำหนดอายุความจึงต้องเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตามมาตรา 193/12 คือวันที่โจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่ อ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 11 – 5148 กรุงเทพมหานคร ไปในทางการที่จ้าง วาน ใช้ หรือกิจการที่เป็นประโยชน์ของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์ในรถยนต์คันดังกล่าวและนำรถยนต์คันดังกล่าวเข้าร่วมในกิจการรับส่งคนโดยสารกับโจทก์ในเส้นทางเดินรถสาย 1 โดยสัญญาว่าหากจำเลยที่ 2 และหรือลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์คันดังกล่าวเกิดอุบัติเหตุก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ แก่โจทก์หรือบุคคลอื่น จำเลยที่ 1 ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสิ้น และจำเลยที่ 2 ได้นำรถยนต์คันดังกล่าวประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3 ต่อมาเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2531 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวโดยประมาทด้วยความเร็วสูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด ไปตามถนนเจริญกรุง แซงซ้าย แซงขวา จนเสียหลักชนขอบถนนพลิกคว่ำ ทำให้นายอึงซื่อเฮียงหรือซิวเฮี้ยง แซ่อึ๊ง ผู้โดยสารซึ่งนั่งมาในรถที่จำเลยที่ 1 ขับได้รับบาดเจ็บสาหัส ต่อมานายอึงซื่อเฮียงหรือซิวเฮี้ยงได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นจำเลยต่อศาลแพ่ง คดีหมายเลขดำที่ 6731/2532 ให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน วันที่ 29 ธันวาคม 2532 ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินให้แก่นายอึงซื่อเฮียงหรือซิวเฮี้ยง คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์ได้รับคำบังคับของศาลแพ่งให้ชำระหนี้ จึงได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่นายอึงซื่อเฮียงหรือซิวเฮี้ยวเป็นเงิน 43,060.87 บาท เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2534 โจทก์ใช้สิทธิไล่เบี้ยให้จำเลยทั้งสามชดใช้เงินดังกล่าวคืนแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย จำเลยทั้งสามมีหน้าที่ต้องชำระเงิน 43,060.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2534 อันเป็นวันที่โจทก์ได้ใช้เงินแทนไปจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 3,648 วัน เป็นดอกเบี้ย 32,277.90 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 75,338.77 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 75,338.77 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 43,060.87 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไป จนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ให้การว่า ยอดหนี้ตามฟ้องไม่ถูกต้องโดยจำเลยทั้งสามและโจทก์จะต้องร่วมกันรับผิดในหนี้ 43,060.87 บาท เป็นส่วนเท่าๆ กัน และคดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 43,060.87 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2534 ถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2539 กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,300 บาท
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์โดยสาร หมายเลขทะเบียน 11-5148 กรุงเทพมหานคร ที่นำมาเข้าร่วมกิจการรับส่งคนโดยสารกับโจทก์โดยสัญญาว่าหากจำเลยที่ 2 หรือลูกจ้างหรือตัวแทนขับรถที่นำมาเข้าร่วมเดินรถกับโจทก์ก่อความเสียหายแก่โจทก์หรือบุคคลใดๆ จำเลยที่ 2 จะชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 3 รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันดังกล่าว เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2531 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 แล่นไปตามถนนเจริญกรุงด้วยความประมาทไปชนขอบถนนพลิกคว่ำ ทำให้นายอึงซื่อเฮียงหรือซิวเฮี้ยง แซ่อึ๊ง ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บสาหัสนายอึงซื่อเฮียงหรือซิวเฮี้ยงได้ฟ้องโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นจำเลย และจำเลยที่ 3 เป็นจำเลยร่วมต่อศาลแพ่งเรียกค่าสินไหมทดแทน ศาลแพ่งมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2532 ให้โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นายอึงซื่อเฮียงหรือซิวเฮี้ยง คดีถึงที่สุด ปรากฏตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 24258/2532 ของศาลแพ่ง ต่อมานายอึงซื่อเฮียงหรือซิวเฮี้ยงจะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของโจทก์ โจทก์ได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาทั้งหมดให้แก่นายอึงซื่อเฮียงหรือซิวเฮี้ยงไปเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2534 และได้ทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์ จำเลยทั้งสามไม่ชำระ โจทก์จึงฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2544
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์แต่เพียงว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ศาลพิพากษาให้โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมด้วยค่าฤชาธรรมเนียมแก่นายอึงซื่อเฮียง หรือซิวเฮี้ยง แซ่อึ้ง ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 24258/2532 ของศาลแพ่ง คดีถึงที่สุดแล้ว เมื่อโจทก์ได้ใช้เงินแก่นายอึงซื่อเฮียงหรือซิวเฮี้ยงไปตามคำพิพากษาแล้วย่อมรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษาดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 229 (3) สิทธิเรียกร้องนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้จึงต้องถือว่ามีอายุความสิบปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อสิทธิไล่เบี้ยของโจทก์เพิ่งมีขึ้นนับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นต้นไป ดังนั้น การนับกำหนดอายุความจึงต้องเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 คือวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2534 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่นายอึงซื่อเฮียงหรือซิวเฮี้ยง โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2544 ยังไม่พ้นสิบปีนับแต่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยที่ 3 ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความและพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความสองศาลเป็นเงิน 1,500 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์