แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ส. เป็นผู้จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนอันเป็นความผิดมูลฐานมาตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปี 2544 ส่วนผู้คัดค้านที่ 1 เป็นภริยาผู้คัดค้านที่ 2 เป็นบุตรของ ส. จึงเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับ ส.ผู้กระทำความผิดมูลฐาน กรณีต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 51 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่ผู้คัดค้านทั้งสองที่จะต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริงและทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน มีทั้งโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินโดยมิต้องคำนึงว่าทรัพย์สินนั้นผู้เป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินจะได้มาก่อน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมีผลใช้บังคับหรือไม่ เพราะมาตรการดังกล่าวมิใช่โทษทางอาญาหรือเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จึงมีผลใช้บังคับย้อนหลังได้ และไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า นายสมหมาย นาคคล้าย และผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการจำหน่ายยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3(1) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 กรณีมีหลักฐานเชื่อได้ว่าทรัพย์สินที่ยึดเพิ่มเติม 9 รายการ คือ 1. รถยนต์ หมายเลขทะเบียน ภภ 2857 กรุงเทพมหานคร 2. รถยนต์หมายเลขทะเบียน ภค 8566 กรุงเทพมหานคร 3. รถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน นยร กรุงเทพมหานคร 201 4. สร้อยคอทองคำหนักประมาณ 15 กรัม 2 เส้น 5. พระเครื่องเลี่ยม (กรอบโหล) 1 องค์ 6. นาฬิกาข้อมือยี่ห้อราโด 1 เรือน 7. นาฬิกาข้อมือยี่ห้อไซโก้ 1 เรือน 8. ตู้นิรภัย 1 ตู้ และ 9. พระเครื่อง 15 องค์ รวมมูลค่า 1,675,340 บาท เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดโดยได้มาจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ขอให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินทั้ง 9 รายการดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน ภค 8566 กรุงเทพมหานคร รถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน นยร กรุงเทพมหานคร 201 สร้อยคอทองคำ พระเครื่องเลี่ยม (กรอบโหล) นาฬิกาข้อมือยี่ห้อราโด นาฬิกาข้อมือยี่ห้อไซโก้ ตู้นิรภัย และพระเครื่อง 15 องค์ ซึ่งนำเงินที่ได้มาจากการประกอบอาชีพค้าขายสินค้าโดยสุจริต การปล่อยเงินกู้ และเล่นแชร์ไปซื้อทรัพย์สินดังกล่าวโดยสุจริต มิใชทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่เคยกระทำความผิด ไม่เคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการจำหน่ายยาเสพติด ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นบุตรนายสมหมาย นาคคล้าย และผู้คัดค้านที่ 1 จึงเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้รับมรดกของนายสมหมายซึ่งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2545 นายสมหมายเป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน ภภ 2857 กรุงเทพมหานคร ซึ่งนำเงินได้มาจากการประกอบอาชีพค้าขายสินค้าโดยสุจริต และจากการพนันไปซื้อทรัพย์สินดังกล่าวมาโดยสุจริต มิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด นายสมหมายไม่เคยกระทำความผิดและไม่เคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการจำหน่ายยาเสพติด ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้รถยนต์หมายเลขทะเบียน ภภ 2857 กรุงเทพมหานคร รถยนต์หมายเลขทะเบียน ภค 8566 กรุงเทพมหานคร รถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน นยร กรุงเทพมหานคร 201 สร้อยคอทองคำหนักประมาณ 15 กรัม 2 เส้น พระเครื่องเลี่ยม (กรอบโหล) 1 องค์ นาฬิกาข้อมือยี่ห้อราโด 1 เรือน ตู้นิรภัย 1 ตู้ และพระเครื่อง 15 องค์ ตกเป็นของแผ่นดิน ให้คืนนาฬิกาข้อมือยี่ห้อไซโก้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้เป็นยุติว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นภริยานายสมหมาย นาคคล้าย แต่มิได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือผู้คัดค้านที่ 2 นายสมหมายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2545 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2544 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้คัดค้านที่ 1 และนายสมหมายกับพวกข้อหาร่วมกันกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริง การได้มา แหล่งที่ตั้ง การจำหน่าย การโอน การได้สิทธิใดๆ ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และยึดรถยนต์หมายเลขทะเบียนป้ายแดง ก 0352 พระนครศรีอยุธยา เงิน 5,237,320 บาท และทรัพย์สินอื่นรวม 23 รายการ เป็นของกลาง ต่อมาวันที่ 28 กรกฎาคม 2544 เจ้าพนักงานตำรวจนำหมายค้นไปตรวจค้นบ้านเลขที่ 3059 ซอยสุขุมวิท 107 ตำบลสำโรงเหนือ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ และยึดทรัพย์สินตามคำร้องคดีนี้รวม 9 รายการ คือ 1. รถยนต์หมายเลขทะเบียน ภภ 2857 กรุงเทพมหานคร ของนายสมหมาย 2. รถยนต์หมายเลขทะเบียน ภค 8566 กรุงเทพมหานคร 3. รถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน นยร กรุงเทพมหานคร 201 4. สร้อยคอทองคำหนักประมาณ 15 กรัม 2 เส้น 5. พระเครื่องเลี่ยม (กรอบโหล) 1 องค์ 6. นาฬิกาข้อมือยี่ห้อราโด 1 เรือน 7. นาฬิกาข้อมือยี่ห้อไซโก้ 1 เรือน 8. ตู้นิรภัย 1 ตู้ และ 9. พระเครื่อง 15 องค์ เป็นของกลาง คณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาข้อมูลของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เกี่ยวกับการทำธุรกรรมของผู้คันค้านที่ 1 และนายสมหมายแล้วเชื่อว่าทรัพย์สินทั้ง 9 รายการตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน จึงมีมติให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินทั้ง 9 รายการตามคำร้องตกเป็นของแผ่นดินสำหรับคดีอาญา พนักงานอัยการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นโจทก์ฟ้องนายสมหมาย ผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกเป็นจำเลยข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3271/2545 ของศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วผู้ร้องเป็นโจทก์ฟ้องนายสมหมายเป็นจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุด ตามคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ย.9358/2545 ของศาลอาญา กับยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาสั่งริบรถยนต์หมายเลขทะเบียน ภภ 2857 กรุงเทพมหานคร ของนายสมหมายให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้องและให้คืนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ภภ 2857 กรุงเทพมหานครแก่นายสมหมาย คดีถึงที่สุดตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ม.148/2545 ของศาลอาญา คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินทั้ง 9 รายการตามคำร้องตกเป็นของแผ่นดิน ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ทรัพย์สินรายการที่ 1 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 9 ตามคำร้องตกเป็นของแผ่นดิน ให้คืนทรัพย์สินรายการที่ 7 แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ผู้ร้องไม่อุทธรณ์ปัญหาเกี่ยวกับทรัพย์สินรายการที่ 7 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองว่าทรัพย์สินตามคำร้องรายการที่ 1 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 9 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับการจำหน่ายยาเสพติดอันเป็นความผิดมูลฐานหรือไม่ ในปัญหานี้ผู้ร้องมีร้อยตำรวจโทวิชานันท์ พงศ์พุฒ รองสารวัตร 1 กองกำกับการ 3 กองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพ 2 เบิกความยืนยันว่า ก่อนตรวจค้นบ้านที่เกิดเหตุสืบทราบว่านายสมหมาย นาคคล้าย มีพฤติการณ์ค้าเมทแอมเฟตามีนจึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ และในวันที่ 28 กรกฎาคม 2544 ได้นำหมายค้นไปตรวจค้นบ้านเลขที่ 3059 ซอยสุขุมวิท 107 ตำบลสำโรงเหนือ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ของนายสมหมาย พบเมทแอมเฟตามีน 60 เม็ด ซุกซ่อนอยู่ใต้เบาะที่นั่งคนขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ภภ 2857 กรุงเทพมหานคร ของนายสมหมาย ซึ่งจอดที่บริเวณหน้าบ้าน โดยมีสิบตำรวจโทเกรียงศักดิ์ โลมจันทร์ ผู้ร่วมตรวจค้นและนายธนโชติ ม่วงศรี ผู้ใหญ่บ้านท้องที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นพยานในการตรวจค้นเบิกความสนับสนุน ทั้งในชั้นสอบสวนนายสมหมายก็ให้การรับว่าเริ่มจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตั้งแต่ปี 2540 มีกำไรทั้งสิ้น 10,000 บาท ถึง 20,000 บาท จนกระทั่งปี 2544 จึงหยุดจำหน่ายชั่วคราวเพราะทราบจากเพื่อนว่ามีชื่ออยู่ในบัญชีของ ป.ป.ส. ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย ร.24 ร้อยตำรวจเอกอาทร วิเศษสาธร พนักงานสอบสวนก็มาเบิกความยืนยันประกอบ คำรับของนายสมหมายจึงมีหลักฐานประกอบเพียงพอ ไม่น่าเชื่อว่ามีการบังคับขู่เข็ญให้รับสารภาพดังที่ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา นอกจากนี้ผู้ร้องยังมีพันตำรวจตรีพีระพล ยอดสนิท เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน 7 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำธุรกรรมและดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของนายสมหมายเบิกความยืนยันด้วยว่า นายสมหมายให้การว่าเคยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนในชุมชนคลองเตย มีรายได้จากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นจำนวนมากจนถูกผู้มีอิทธิพลขู่เข็ญเพื่อเรียกเงินครั้งละหลายแสนบาทแต่ก็ให้ไปทุกครั้งตามที่ถูกเรียกร้อง และสอบคำให้การของผู้คัดค้านที่ 1 ก็ยอมรับว่าได้เคยตักเตือนนายสมหมายให้เลิกจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแล้ว แต่ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ทราบว่านายสมหมายยังมีพฤติการณ์จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนอีกหรือไม่ ตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย ร.37 และ ร.38 เห็นว่า พ้นตำรวจตรีพีระพลเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการไปตามหน้าที่ ไม่รู้จักหรือเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันนายสมหมายและผู้คัดค้านที่ 1 มาก่อน ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าพยานจะบันทึกเรื่องราวขึ้นเองตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย ร.37 และ ร.38 เพื่อกลั่นแกล้งนายสมหมายและผู้คัดค้านที่ 1 เชื่อได้ว่าพันตำรวจตรีพีระพลได้ทำบันทึกคำให้การเอกสารหมาย ร.37 และ ร.38 ไปตามที่นายสมหมายและผู้คัดค้านที่ 1 ให้การเองโดยสมัครใจ ส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 1 นำสืบโต้เถียงว่าพันตำรวจตรีพีระพลให้นายสมหมายและผู้คัดค้านที่ 1 ลงลายมือชื่อในบันทึกคำให้การเอกสารหมาย ร.37 และ ร.38 โดยไม่ได้อ่านข้อความให้ฟังนั้น คงมีแต่ผู้คัดค้านที่ 1 เบิกความอ้างลอยๆ ปากเดียว ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานผู้ร้องในข้อนี้ได้ พยานหลักฐานของผู้ร้องมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของผู้คัดค้านทั้งสอง ฟังได้ว่านายสมหมายเป็นผู้จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนอันเป็นความผิดมูลฐานมาตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปี 2544 ส่วนผู้คัดค้านที่ 1 เป็นภริยา ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นบุตรนายสมหมายจึงเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับนายสมหมายผู้กระทำความผิดมูลฐาน กรณีต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 51 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาทรัพย์สินตามคำร้องรายการที่ 1 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 9 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่ผู้คัดค้านทั้งสองที่จะต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริงและทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ซึ่งในข้อนี้ผู้คัดค้านทั้งสองนำสืบว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ประกอบอาชีพขายของชำ เช่น สุรา บุหรี่ ผงซักฟอกและของเบ็ดเตล็ดที่บริเวณล๊อก 7 ชุมชนคลองเตย มีรายได้ประมาณเดือนละ 50,000 บาท ถึง 100,000 บาท นอกจากนี้ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นนายวงแชร์ทั้งประเภทรายวัน และรายเดือนมีรายได้จากแชร์รายวัน วันละ 10,000 บาทเศษ จากแชร์รายเดือนประมาณเดือนละ 6,000 บาท รวมรายได้จากแชร์ประมาณเดือนละ 400,000 บาท และยังมีรายได้จากการปล่อยเงินกู้รายวันคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อวัน เงินกู้รายเดือนคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 20 ต่อเดือน มีเงินสดหมุนเวียนให้กู้ยืมเงินประมาณ 1,000,000 บาท มีรายได้จากดอกเบี้ยรายวัน วันละประมาณ 10,000 บาท ดอกเบี้ยรายเดือนเดือนละไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท ส่วนนายสมหมายประกอบอาชีพค้าขายและเล่นการพนัน นายสมหมายให้เงินผู้คัดค้านที่ 1 ประมาณเดือนละ 200,000 บาท บางครั้งเคยให้ถึง 1,000,000 บาท เห็นว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เบิกความลอยๆ ว่ามีรายได้จากการขายของชำเดือนละ 50,000 บาท ถึง 100,000 บาท แต่ไม่มีหลักฐานการสั่งซื้อสินค้าและบัญชีรายรับรายจ่ายมาแสดง ทั้งผู้คัดค้านที่ 1 ก็ไม่เคยเสียภาษีเงินได้ ที่ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างว่ามีรายได้จากการปล่อยเงินกู้ยืมและเล่นแชร์ ก็ไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเงินหลักประกันการกู้ยืนเงินหรือหลักฐานการเล่นแชร์มาแสดง แม้นายประจวบ ภู่ป้อม และนางจำเนียร โตติยะ จะเบิกความเป็นพยานผู้คัดค้านที่ 1 ว่า เคยกู้ยืมเงินจากผู้คัดค้านที่ 1 หลายครั้งแต่ก็เป็นการกู้ยืมเงินจำนวนน้อย ครั้งละ 5,000 บาท ถึง 10,000 บาทเท่านั้น ไม่ก่อให้เกิดรายได้จากดอกเบี้ยมากมายดังที่ผู้คัดค้านที่ 1 กล่าวอ้าง ส่วนรายได้จากการพนันก็เลื่อนลอยและไม่แน่นอนว่าจะได้เงินจากการพนันเสมอไป ข้อนำสืบเกี่ยวกับเรื่องรายได้ของผู้คัดค้านทั้งสองจึงมีน้ำหนักน้อย สำหรับการได้มาเกี่ยวกับทรัพย์สินตามคำร้องรายการที่ 1 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 9 นั้น เห็นว่า ทรัพย์สินดังกล่าวก็เป็นทรัพย์สินที่นายสมหมายและผู้คัดค้านที่ 1 ได้มาระหว่างปี 2540 ถึงปี 2544 ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่นายสมหมายมีรายได้จากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นจำนวนมาก นายสมหมายก็ให้การรับว่าทรัพย์สินตามคำร้องรายการที่ 1 คือ รถยนต์หมายเลขทะเบียน ภภ 2857 กรุงเทพมหานคร ซื้อมาเมื่อปี 2543 โดยเอาเงินจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและการพนันไปซื้อ และได้ให้ค่าเลี้ยงดูแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ประมาณครั้งละ 100,000 บาท ถึง 200,000 บาท ซึ่งผู้คัดค้านที่ 1 ก็ทราบว่าเป็นเงินที่ได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย ร.24 ส่วนทรัพย์สินตามคำร้องรายการที่ 2 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 9 ผู้คัดค้านทั้งสองก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นชัดแจ้งว่าเงินที่นำไปซื้อทรัพย์สินดังกล่าวไม่ใช่เงินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เมื่อผู้คัดค้านทั้งสองไม่อาจนำสืบได้ว่าทรัพย์สินตามคำร้องรายการที่ 1 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 9 ที่ถูกยึดเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการประกอบอาชีพโดยสุจริต หรือไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับการจำหน่ายยาเสพติดอันเป็นความผิดมูลฐาน ผู้คัดค้านทั้งสองจึงไม่สามารถหักล้างข้อสันนิษฐานตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ กรณีจึงรับฟังได้ว่าทรัพย์สินตามคำร้องรายการที่ 1 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 9 ที่ถูกยึดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ทรัพย์สินตามคำร้องรายการที่ 1 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 9 ตกเป็นของแผ่นดินจึงชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกาข้อกฎหมายว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2543 มีผลใช้บังคับแก่กรณีที่ปรากฏว่ามีการกระทำความผิดทั้งในทางอาญาและทางแพ่งในระหว่างที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเท่านั้น จะใช้บังคับย้อนหลังไปก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ผลใช้บังคับไม่ได้ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน มีทั้งโทษทางอาญาและมาตราการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน โดยมิต้องคำนึงว่าทรัพย์สินนั้นผู้เป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินจะได้มาก่อนพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมีผลใช้บังคับหรือไม่ก็ตาม เพราะมาตรการดังกล่าวมิใช่โทษทางอาญาหรือเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามที่ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา จึงมีผลใช้บังคับย้อนหลังได้และไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ดังที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยที่ 40-41/2546 ฎีกาข้อนี้ของผู้คัดค้านทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ