คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5031/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันโดยแยกบรรยายฟ้องข้อ 2 (ก) ในส่วนของการมีไว้ในครอบครองเพื่อขายซึ่งยาสูบซิกาแรตเครื่องหมายการค้า “กรองทิพย์ 90” (KRONGTHIP 90) จำนวน 190 ซอง ที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบ ตาม พ.ร.บ.ยาสูบฯ ซึ่งเกินกว่า 500 กรัม และไม่ใช่ยาเส้นที่ทำจากใบยาพันธุ์ยาสูบพื้นเมือง ข้อ 2 (ข) ในส่วนของการมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้ายาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรตที่มีเครื่องหมายการค้า “กรองทิพย์ 90” (KRONGTHIP 90) ปลอมที่ผู้อื่นทำปลอมเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของผู้เสียหาย และข้อ 2 (ง) ในส่วนของการจำหน่ายหรือขายซึ่งสินค้ายาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรต ที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามกฎหมายและเป็นสินค้ายาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรตที่มีเครื่องหมายการค้า “กรองทิพย์ 90” (KRONGTHIP 90) อันเป็นเครื่องหมายการค้าปลอม ที่มีผู้ทำปลอมเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของผู้เสียหายตามข้อ (ก) และ (ข) จำนวน 20 ซอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสินค้ายาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบ และเป็นสินค้ายาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรตที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องของโจทก์ดังกล่าว คดีย่อมเป็นอันรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานจำหน่ายหรือขายสินค้ายาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรตตามฟ้อง (ง) อีกกระทงหนึ่งด้วย เพราะการมีสินค้ายาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรตไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายกับการจำหน่ายสินค้ายาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรตมีลักษณะของการกระทำต่างกัน เป็นการกระทำต่างขั้นตอนกัน สามารถแยกการกระทำแต่ละอย่างต่างหากจากกันได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 4, 5, 5 ทวิ, 5 ตรี, 16, 19, 23, 24, 41, 43, 44, 49, 50 และ 53 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4, 108, 110 (1) และ 115 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91, 273 และ 275 ริบบุหรี่ซิกาแรตจำนวน 190 ซอง และแสตมป์ยาสูบปลอมของกลางเป็นของกรมสรรพสามิต
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง, 50 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบด้วย มาตรา 108 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีไว้เพื่อขายซึ่งยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบ ปรับ 74,812.50 บาท ฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม จำคุก 3 เดือน และปรับ 10,000 บาท รวมโทษเป็นจำคุก 3 เดือน และปรับ 84,812.50 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน 15 วัน และปรับ 42,406.25 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ถ้าจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 ริบของกลางให้เป็นของกรมสรรพสามิต คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงประการเดียวว่าความผิดฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายสินค้ายาสูบบุหรี่ซิกาแรตที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบและที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม จำนวน 190 ซอง กับความผิดฐานจำหน่ายสินค้ายาสูบบุหรี่ซิกาแรตที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบและที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม จำนวน 20 ซอง เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันโดยแยกบรรยายฟ้องข้อ 2 (ก) ในส่วนของการมีไว้ในครอบครองเพื่อขายซึ่งยาสูบซิกาแรตเครื่องหมายการค้า “กรองทิพย์ 90” (KRONGTHIP 90) จำนวน 190 ซอง ที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบ ตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 ซึ่งเกินกว่า 500 กรัม และไม่ใช่ยาเส้นที่ทำจากใบยาพันธุ์ยาสูบพื้นเมือง ข้อ 2 (ข) ในส่วนของการมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้ายาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรตที่มีเครื่องหมายการค้า “กรองทิพย์ 90” (KRONGTHIP 90) ปลอมที่ผู้อื่นทำปลอมเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของผู้เสียหาย และข้อ 2 (ง) ในส่วนของการจำหน่ายหรือขายซึ่งสินค้ายาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรตที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามกฎหมายและเป็นสินค้ายาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรตที่มีเครื่องหมายการค้า “กรองทิพย์ 90″ (KRONGTHIP 90) อันเป็นเครื่องหมายการค้าปลอม ที่มีผู้ทำปลอมเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของผู้เสียหายตามข้อ (ก) และ (ข) จำนวน 20 ซอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสินค้ายาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบ และเป็นสินค้ายาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรตที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องของโจทก์ดังกล่าว คดีย่อมเป็นอันรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานจำหน่ายหรือขายสินค้ายาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรตตามฟ้อง (ง) อีกกระทงหนึ่งด้วย เพราะการมีสินค้ายาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรตไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายกับการจำหน่ายสินค้ายาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรตมีลักษณะของการกระทำต่างกัน เป็นการกระทำต่างขั้นตอนกันสามารถแยกการกระทำแต่ละอย่างต่างหากจากกันได้ ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยในประเด็นนี้ว่า การจำหน่ายสินค้ายาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรตเป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและขายซึ่งสินค้ายาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรต จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานจำหน่ายซึ่งสินค้ายาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรตที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบและที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมอีกกระทงหนึ่ง ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 3 เดือน และปรับ 10,000 บาท รวมโทษทุกกระทงความผิดเป็นจำคุก 6 เดือน และปรับ 94,812.50 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 47,406.25 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share