แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ร้องซื้อที่ดินเพื่อสร้างอาคารชุดแต่มีปัญหาเกี่ยวกับข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครว่าการก่อสร้างอาคารต้องเว้นระยะถอยร่นจากถนนที่ติดที่ดินโครงการของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงหลีกเลี่ยงโดยวิธีแบ่งแยกที่ดินส่วนที่ติดถนนเป็น 9 แปลง ขายให้บุคคลภายนอก 3 แปลง ส่วนอีก 6 แปลง ให้ ส. ถือกรรมสิทธิ์แทนผู้ร้อง แล้วโอนให้การไฟฟ้านครหลวง 3 แปลง โดยไม่มีค่าตอบแทน เพื่อเป็นที่ตั้งสถานีไฟฟ้าย่อยสำหรับจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่โครงการของผู้ร้อง โดยใต้ถุนอาคารของสถานีไฟฟ้าย่อยยังจดทะเบียนเป็นทางภาระจำยอมแก่โครงการของผู้ร้อง มีการใช้ที่ดินพิพาท 2 แปลง ทำเป็นทางเข้าออกโครงการ และใช้ที่ดินพิพาทอีก 1 แปลง เป็นระยะร่นจากแนวรั้วโรงพยาบาลอันเป็นที่ดินข้างเคียงโครงการ ซึ่งล้วนเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่โครงการของผู้ร้องทั้งสิ้น เมื่อ ส. โอนที่ดินพิพาทขายให้แก่จำเลยที่ 3 แล้ว ก็ปรากฏว่า มีการแจ้งการปลอดจำนองและการค้ำประกันให้หลุดพ้นจากความผูกพันในหนี้ของผู้ร้อง จำเลยที่ 3 ก็ยังได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาททั้งสามแปลงเป็นประกันหนี้ของผู้ร้องเช่นเดิม ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท 3 แปลง แทนผู้ร้อง แต่เมื่อผู้ร้องยอมให้จำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของผู้ร้องทำการออกนอกหน้านำที่ดินพิพาททั้งสามแปลงไปทำประโยชน์ในการดำเนินกิจการโครงการของผู้ร้อง ผู้ร้องซึ่งอยู่ในฐานะตัวการที่ไม่ได้เปิดเผยชื่อ จึงหาอาจทำให้เสื่อมเสียแก่สิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่มีต่อจำเลยที่ 3 ผู้เป็นตัวแทน และโจทก์ขวนขวายได้มาแต่ก่อนที่จะรู้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 ดังนี้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอให้ปล่อยที่ดินพิพาททั้งสามแปลงที่โจทก์นำยึดได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยทั้งเจ็ดไม่ชำระ โจทก์จึงขอออกหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 50263, 50265 และ 50266 แขวงสีลม (สาทร) เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และติดจำนองอยู่กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ออกขายทอดตลาดเพื่อบังคับคดีตามคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาท
โจทก์ให้การขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ปล่อยทรัพย์พิพาทที่ดินโฉนดเลขที่ 50263, 50265 และ 50266 แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยทั้งเจ็ดไม่ชำระ โจทก์จึงขอออกหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 50263, 50265 และ 50266 แขวงสีลม (สาทร) เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 18 ตารางวาเศษ 10 ตารางวาเศษ และ 5 ตารางวาเศษ ตามลำดับ ซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และติดจำนองอยู่กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ออกขายทอดตลาดเพื่อบังคับคดีตามคำพิพากษา คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า จำเลยที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนผู้ร้องหรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องแบ่งแยกที่ดินด้านถนนศรีเวียงเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 50263 และ 50264 และแบ่งแยกที่ดินแปลงเดิมโฉนดเลขที่ 20942 กับ 20944 เป็น 50265 และ 50266 ตามลำดับ แล้วผู้ร้องโอนที่ดิน 6 แปลง ซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาททั้งสามแปลงให้นางสาวโสภาพรรณ หลานภริยาของนายรังสรรค์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของผู้ร้อง เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนโดยให้นางสาวโสภาพรรณทำสัญญากู้เงินจากผู้ร้องเท่ากับราคาประเมินของที่ดิน มีนายสมชาติ ผู้ถือหุ้นของผู้ร้องฝ่ายนายรังสรรค์เป็นผู้ค้ำประกัน และให้นางสาวโสภาพรรณค้ำประกันหนี้ของผู้ร้องด้วย ในจำนวนที่ดิน 6 แปลง ผู้ร้องใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 50263 และ 50265 ที่โจทก์นำยึดทำเป็นทางเข้าออกโครงการด้านถนนศรีเวียง ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 50266 เป็นแนวตะเข็บติดรั้วโรงพยาบาลเลิดสิน สำหรับที่ดินอีก 3 แปลง ผู้ร้องให้นางสาวโสภาพรรณโอนให้แก่การไฟฟ้านครหลวงโดยไม่มีค่าตอบแทนเพื่อเป็นที่ตั้งสถานีไฟฟ้าย่อยศรีเวียงเนื่องจากโครงการของผู้ร้องเป็นโครงการขนาดใหญ่ต้องมีสถานีไฟฟ้าย่อย และในส่วนใต้ถุนอาคารของสถานีไฟฟ้าย่อยได้จดทะเบียนเป็นทางภาระจำยอมเข้าออกโครงการด้วย ต่อมาผู้ร้องให้นางสาวโสภาพรรณโอนที่ดินพิพาททั้งสามแปลงให้จำเลยที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์แทนผู้ร้อง เห็นว่า ผู้ร้องมีพยานบุคคลเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงประกอบพยานแสดงถึงความเป็นมาของที่ดินพิพาทและความสัมพันธ์ของบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ความชัดเจนสมเหตุสมผลมีรายละเอียดเป็นลำดับนับตั้งแต่ผู้ร้องซื้อที่ดินเพื่อสร้างอาคารชุดชื่อโครงการสีลม พรีเชียส ทาวเวอร์ แต่มีปัญหาเกี่ยวกับข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครว่าการก่อสร้างอาคารต้องเว้นระยะถอยร่นจากถนนที่ติดที่ดินโครงการของผู้ร้อง ดังนั้น ผู้ร้องจึงหลีกเลี่ยงโดยวิธีแบ่งแยกที่ดินส่วนที่ติดถนนเป็น 9 แปลง ขายให้บุคคลภายนอก 3 แปลง ส่วนอีก 6 แปลง ให้นางสาวโสภาพรรณถือกรรมสิทธิ์แทนผู้ร้อง แล้วโอนให้การไฟฟ้านครหลวง 3 แปลง โดยไม่มีค่าตอบแทน เพื่อเป็นที่ตั้งสถานีไฟฟ้าย่อยสำหรับจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่โครงการของผู้ร้อง ส่วนที่ดินพิพาท 3 แปลง ผู้ร้องใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 50263 และ 50265 ทำเป็นทางเข้าออกโครงการ และใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 50266 เป็นแนวตะเข็บติดรั้วโรงพยาบาลเลิดสิน และต่อมาผู้ร้องได้ให้นางสาวโสภาพรรณโอนที่ดินพิพาททั้งสามแปลงให้จำเลยที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์แทนผู้ร้อง ทั้งปรากฏว่าผู้ร้องกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อทำโครงการดังกล่าวโดยจดทะเบียนจำนองที่ดินของโครงการเป็นประกัน แม้ต่อมามีการแบ่งแยกที่ดินโครงการเพื่อหลีกเลี่ยงข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารชุดของโครงการในภายหลังและโอนขายแก่นางสาวโสภาพรรณ 6 แปลง แต่ก็ปรากฏว่ายังมีการนำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองประกันหนี้ของผู้ร้อง มีการโอนที่ดิน 3 แปลง แก่การไฟฟ้านครหลวงเพื่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อยจ่ายไฟให้แก่โครงการของผู้ร้องโดยใต้ถุนอาคารของสถานีไฟฟ้าย่อยยังจดทะเบียนเป็นทางภาระจำยอมแก่โครงการของผู้ร้อง และมีการใช้ที่ดิน 2 แปลง ทำเป็นทางเข้าออกโครงการโดยตรง และใช้ที่ดินพิพาทอีก 1 แปลง เป็นระยะร่นจากแนวรั้วโรงพยาบาลอันเป็นที่ดินข้างเคียงโครงการ ซึ่งล้วนเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่โครงการของผู้ร้องทั้งสิ้น ทั้งเมื่อนางสาวโสภาพรรณโอนที่ดินพิพาทขายให้แก่จำเลยที่ 3 แล้ว ก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ก็ยังได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาททั้งสามแปลงเป็นประกันหนี้ของผู้ร้องเช่นเดิม ในส่วนของนางสาวโสภาพรรณก็ปรากฏว่ามีการแจ้งการปลอดจำนองและการค้ำประกันให้หลุดพ้นจากความผูกพันในหนี้ของผู้ร้องที่มีจำนวนสูงกว่าหนึ่งพันล้านบาทมากกว่าราคาประเมินของที่ดินพิพาททั้งสามแปลง ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ยึดประเมินไว้รวมกันไม่ถึงเจ็ดล้านบาท พยานหลักฐานของผู้ร้องเท่าที่นำสืบมาจึงมีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ ส่วนการที่ผู้ร้องให้บุคคลอื่นถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนผู้ร้องเพื่อหลีกเลี่ยงข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครจะต้องรับผิดทางอาญาและถูกเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารรวมถึงต้องรื้อถอนอาคารในภายหลังหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องยอมรับความเสี่ยงจากการกระทำของผู้ร้องเองไม่ถึงกับเป็นเหตุให้พยานหลักฐานของผู้ร้องรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ไม่ได้ถือกรรมสิทธิ์แทนผู้ร้องดังที่โจทก์อ้าง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท 3 แปลง แทนผู้ร้อง แต่เมื่อผู้ร้องยอมให้จำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของผู้ร้องทำการออกนอกหน้านำที่ดินพิพาททั้งสามแปลงไปทำประโยชน์ในการดำเนินกิจการโครงการของผู้ร้อง ผู้ร้องซึ่งอยู่ในฐานะตัวการที่ไม่ได้เปิดเผยชื่อจึงหาอาจทำให้เสื่อมเสียแก่สิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่มีต่อจำเลยที่ 3 ผู้เป็นผู้แทน และโจทก์ขวนขวายได้มาแต่ก่อนที่จะรู้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 806 ดังนี้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอให้ปล่อยที่ดินพิพาททั้งสามแปลงที่โจทก์นำยึดได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ