คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10239/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยที่ 2 จดทะเบียนหย่ากับจำเลยที่ 1 แล้ว โดยมีข้อตกลงกันว่าให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์อยู่ในอำนาจปกครองของจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 2 จึงไม่มีอำนาจปกครองเพื่อจัดการดูแลบุตรผู้เยาว์ตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป การที่จำเลยที่ 3 ไปกระทำละเมิดต่อผู้อื่น จะนำ ป.พ.พ. มาตรา 429 มาปรับใช้บังคับในส่วนที่เกี่ยวกับการที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ ไม่ได้
หลังจากจดทะเบียนหย่าแล้ว จำเลยที่ 2 ไม่ได้พักอาศัยอยู่กับจำเลยที่ 1 และที่ 3 แม้จำเลยที่ 2 ยังมีชื่อในทะเบียนบ้านร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 และภายหลังเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 ได้ไปเจรจาค่าเสียหายกับโจทก์หรือไปดูแลจำเลยที่ 3 เป็นครั้งคราว พฤติการณ์เหล่านี้ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับดูแลจำเลยที่ 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 430 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 339,097 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 200,697 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์เท่าที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2539 จำเลยที่ 3 บุตรของจำเลยที่ 1 และที่ 2 อายุ 19 ปี ซึ่งเป็นผู้เยาว์ได้ขับรถจักรยานยนต์โดยประมาทเลินเล่อเฉี่ยวชนโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัส ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนหย่ากับจำเลยที่ 1 แล้ว โดยจดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2539 มีข้อตกลงกันว่า ให้จำเลยที่ 3 และเด็กชายอิทธิพล สมบัติแก้ว ซึ่งเป็นบุตรอยู่ในอำนาจปกครองของจำเลยที่ 1 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการทำละเมิดของจำเลยที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงจดทะเบียนหย่ากัน โดยให้จำเลยที่ 1 มีอำนาจปกครองจำเลยที่ 3 แต่เพียงผู้เดียวเช่นนี้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีอำนาจปกครองเพื่อจัดการดูแลบุตรผู้เยาว์ตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป การที่จำเลยที่ 3 ไปกระทำละเมิดต่อผู้อื่น จะนำมาตรา 429 มาปรับใช้บังคับในส่วนที่เกี่ยวกับการที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ ไม่ได้ แม้ข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานของโจทก์ในคดีนี้ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ยังมีชื่อในทะเบียนบ้านร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 และภายหลังเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 ได้ไปเจรจาค่าเสียหายกับโจทก์ในวันที่ 27 สิงหาคม 2540 ก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็เบิกความยืนยันว่า หลังจากจดทะเบียนหย่าแล้วก็ไม่ได้อยู่ร่วมบ้านเดียวกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยไปเช่าบ้านพักบริเวณถนนพหลโยธิน แต่ไม่ได้แจ้งย้ายชื่อออกจากทะเบียนบ้าน จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ดูแลบุตร ส่วนจำเลยที่ 2 ไปดูแลจำเลยที่ 3 เป็นครั้งคราวเท่านั้น พฤติการณ์เหล่านี้ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับดูแลจำเลยที่ 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 430 จำเลยที่ 2 จึงหาต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 3 นั้นไม่
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share