แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
นายจ้างลงโทษทางวินัยแก่ลูกจ้างที่มิได้เป็นกรรมการลูกจ้างและการลงโทษนั้นไม่เป็นการกระทำอัน ไม่เป็นธรรม ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้นายจ้างต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานก่อนตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 52 หรือให้ความคุ้มครองตามมาตรา 121 ถึงมาตรา 123 ดังนั้นศาลแรงงานจะเข้าไปตรวจสอบ ดุลพินิจการลงโทษของนายจ้างในกรณีนี้ได้ก็ต่อเมื่อนายจ้างใช้ดุลพินิจลงโทษไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ทั้งสามทำผิดวินัยจริง จำเลยลงโทษตัดเงินเดือนโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นโทษที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของจำเลยโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยใช้ดุลพินิจลงโทษไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลแรงงานกลางจึงไม่มีอำนาจลดโทษโจทก์ ทั้งสามเป็นภาคทัณฑ์
ย่อยาว
คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้พิจารณารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ ๑ ถึงโจทก์ที่ ๓
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องทำนองเดียวกัน ขอให้พิพากษาว่าคำสั่งลงโทษโจทก์ทั้งสามเป็น คำสั่งไม่ชอบ ให้จำเลยเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และคืนสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับแก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยทั้งสามสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยเปลี่ยนแปลงคำสั่งลงโทษโจทก์ทั้งสามจากตัดเงินเดือนคนละร้อยละสิบมีกำหนดหนึ่งเดือนเป็นเพียงลงโทษภาคทัณฑ์โจทก์ทั้งสามและคืนประโยชน์ต่าง ๆ ที่โจทก์ทั้งสามเสียไปเพราะถูก ตัดเงินเดือนแก่โจทก์ทั้งสามด้วย
จำเลยทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาได้ความว่า โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็น ลูกจ้างจำเลยกระทำความผิดวินัยโดยไม่ทำบันทึกรายงานการที่พนักงานขับรถโดยสารประจำทางขับรถแซงกันจำนวน ๕๓ ครั้ง และมีพนักงานขับรถโดยสารประจำทางหลายคนขับรถแซงคันอื่นมากกว่า ๑ ครั้ง ต่อผู้จัดการสายของจำเลยทราบ มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ศาลแรงงานกลางมีอำนาจลดโทษให้โจทก์ทั้งสามจากตัดเงินเดือนเป็นโทษภาคทัณฑ์ได้หรือไม่ เห็นว่า ในกรณีนายจ้างลงโทษทางวินัยแก่ลูกจ้างที่มิได้เป็นกรรมการลูกจ้างและการลงโทษนั้นไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ หมวด ๙ นั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้นายจ้างต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานก่อนตามมาตรา ๕๒ หรือให้ความคุ้มครองตามมาตรา ๑๒๑ ถึงมาตรา ๑๒๓ ดังนั้นศาลแรงงานจะเข้าไปตรวจสอบดุลพินิจการลงโทษของนายจ้างในกรณีนี้ได้ก็ต่อเมื่อเป็นการใช้ดุลพินิจลงโทษที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นต้นว่า ขัดต่อระเบียบข้อบังคับชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง ไม่สุจริต กลั่นแกล้ง หรือไม่สมเหตุสมผลอย่างชัดแจ้ง ในคดีนี้ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสามทำผิดวินัยจริง จำเลยลงโทษตัดเงินเดือนโจทก์ทั้งสามร้อยละ ๑๐ มีกำหนดคนละ ๑ เดือน ซึ่งเป็นโทษที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของจำเลยตามเอกสารหมาย จล. ๓ ข้อ ๗ ข้อย่อย ๗.๔ โดยไม่ปรากฏว่ามีการใช้ดุลพินิจลงโทษที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว จึงเป็นการปฏิบัติถูกต้อง ตามข้อบังคับของจำเลยแล้ว ไม่ใช่กรณีที่ศาลแรงงานกลางจะเข้าไปตรวจสอบดุลพินิจการลงโทษของจำเลยได้ดังกล่าวข้างต้น ศาลแรงงานกลางจึงไม่มีอำนาจลดโทษโจทก์ทั้งสามเป็นภาคทัณฑ์อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามสำนวนฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสาม