คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2847/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ในกรณีนายจ้างลงโทษทางวินัยแก่ลูกจ้างที่มิได้เป็นกรรมการลูกจ้างและการลงโทษนั้นไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้นายจ้างต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานก่อนตามมาตรา 52 หรือให้ความคุ้มครองตามมาตรา 121 ถึงมาตรา 123 ดังนั้นศาลแรงงานจะเข้าไปตรวจสอบดุลพินิจการลงโทษของนายจ้างในกรณีนี้ได้ก็ต่อเมื่อเป็นการใช้ดุลพินิจลงโทษที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ทำผิดวินัยจริง จำเลยจึงลงโทษตัดเงินเดือนโจทก์ร้อยละ 10 มีกำหนด1 เดือน ซึ่งเป็นโทษที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของจำเลยโดยไม่ปรากฏว่ามีการใช้ดุลพินิจลงโทษที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงเป็นการปฏิบัติถูกต้องตามข้อบังคับของจำเลยแล้วไม่ใช่กรณีที่ศาลแรงงานจะเข้าไปตรวจสอบดุลพินิจการลงโทษของจำเลยได้ศาลแรงงานจึงไม่มีอำนาจลดโทษโจทก์เป็นภาคทัณฑ์

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้พิจารณารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 3

โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างจำเลยทำหน้าที่เป็นนายท่ารับผิดชอบปล่อยรถให้เป็นไปตามระเบียบของจำเลยเพื่อให้เกิดความเรียบร้อย ต่อมาเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2543 นายสมบูรณ์ ชนรุจิวงศ์ พนักงานขับรถของจำเลยได้ขับรถโดยสารประจำทางสาย ปอ.13 หมายเลขรถ 3-6680 ชนรถโดยสารประจำทางสาย 23หมายเลขรถ 3-44038 เสียหาย จำเลยได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้วได้ลงโทษไล่นายสมบูรณ์ออกจากงานและให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย พร้อมกันนี้จำเลยมีคำสั่งลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2543 ลงโทษตัดเงินเดือนโจทก์ทั้งสามร้อยละ 10มีกำหนดคนละ 1 เดือน โดยกล่าวหาว่าโจทก์ทั้งสามกระทำผิดวินัยฐานประมาทเลินเล่อจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยทำให้จำเลยเสียหายร้ายแรงอันเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบเพราะความเสียหายจากการชนอยู่นอกเหนือหน้าที่ของโจทก์ทั้งสามที่จะควบคุมรับผิดชอบร่วมกับพนักงานขับรถ ทำให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาว่าคำสั่งลงโทษโจทก์ทั้งสามเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ให้จำเลยเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวและคืนสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับแก่โจทก์ทั้งสาม

จำเลยทั้งสามสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งสามมีหน้าที่ควบคุมการเดินรถโดยสารปรับอากาศสาย ปอ.13 แต่ได้ละเลยไม่ปฏิบัติตามแผนการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุระยะสั้น 14 มาตรการ ข้อ 1.3 โดยระหว่างวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2543 ถึงวันที่ 9 เมษายน2543 โจทก์ทั้งสามปล่อยปละละเลยไม่นำพาต่อการทำงานที่ตนมีหน้าที่รับผิดชอบปล่อยให้พนักงานขับรถขับรถด้วยความเร็วและแซงกันในเส้นทางถึง 90 ครั้ง แต่โจทก์ทั้งสามไม่เคยทำรายงานเสนอเพื่อพิจารณาลงโทษพนักงานขับรถที่ฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยเป็นเหตุให้นายสมบูรณ์ ชนรุจิวงศ์ ขับรถโดยสารประจำทางสาย ปอ.13 แข่งกับรถโดยสารประจำทางสาย ปอ.140 เป็นเหตุให้ชนท้ายรถโดยสารประจำทางสาย 23 ที่จอดเสียอยู่ข้างทางอย่างแรงทำให้เกิดความเสียหายเป็นเงิน 2,211,842 บาท และมีผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บ 16 คน จำเลยสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยแก่โจทก์ทั้งสาม การกระทำของโจทก์ทั้งสามผิดข้อบังคับจำเลยว่าด้วยวินัยพนักงาน ข้อ 4.3 ฐานไม่ตั้งใจปฏิบัติตามข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง แบบแผนและวิธีปฏิบัติของจำเลย จำเลยได้มีคำสั่งตัดเงินเดือนโจทก์ทั้งสามเพื่อกระตุ้นการทำงานให้มีประสิทธิภาพต่อไป ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงตามที่คู่ความแถลงรับพร้อมนำส่งเอกสารว่าโจทก์ทั้งสามทำหน้าที่เป็นนายท่าประจำกองเดินรถที่ 2 เขตการเดินรถ 3 รับผิดชอบควบคุมการเดินรถโดยสารประจำทางปรับอากาศสาย ปอ.13 มีหน้าที่และงานที่ต้องปฏิบัติตามเอกสารหมาย จล.1 จำเลยมีมาตรการป้องกันอุบัติเหตุระยะสั้น 14 มาตรการตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 4 และแผ่นที่ 6 ถึง 9 เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2543 นายสมบูรณ์ ชนรุจิวงศ์ พนักงานขับรถได้ขับรถโดยสารประจำทางสาย ปอ.13 ด้วยความประมาทชนรถโดยสารประจำทางสาย 23 ซึ่งจอดอยู่เสียหายและมีผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บ16 คน ค่าเสียหายจำนวน 2,211,842 บาท จำเลยมีคำสั่งตามเอกสารหมาย จล.4(ตรงกับเอกสารหมาย ล.2) ให้พักงานนายสมบูรณ์และแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและทางแพ่ง ต่อมาจำเลยได้มีคำสั่งที่ 180/2543 ตามเอกสารหมาย ล.1(ตรงกับเอกสารหมาย จล.2) ไล่นายสมบูรณ์ออกจากการเป็นลูกจ้างและให้ชดใช้ค่าเสียหายพร้อมทั้งลงโทษตัดเงินเดือนโจทก์ทั้งสามร้อยละ 10 มีกำหนดคนละ 1 เดือนโจทก์ทั้งสามยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และคำร้องทุกข์ของจำเลย คณะกรรมการดังกล่าวพิจารณาแล้วเห็นว่าข้ออ้างของโจทก์ทั้งสามไม่มีเหตุผลอันควรรับฟัง ให้ยกอุทธรณ์โจทก์ทั้งสามและจำเลยตรวจสอบใบเที่ยวของพนักงานขับรถโดยสารประจำทางหรือใบทำงานของพนักงานขับรถโดยสารประจำทางสาย ปอ.13ในกลุ่ม 3 ซึ่งโจทก์ทั้งสามมีหน้าที่ควบคุมจำนวน 30 คัน ในช่วงตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์2543 ถึงวันที่ 9 เมษายน 2543 ปรากฏว่ามีรถโดยสารประจำทางแซงกันจำนวน 53 ครั้งจากรถโดยสารที่แล่นประมาณ 10,000 เที่ยว ตามเอกสารหมาย จล.5 ในวันเกิดเหตุไม่ปรากฏว่านายสมบูรณ์ขับรถแซงรถคันอื่นในสายเดียวกันและศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสามได้จัดทำใบเที่ยวเพื่อตรวจสอบตามแผนการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุเอกสารหมาย ล.2 หน้า 6 แต่จากเอกสารหมาย จล.5 มีพนักงานขับรถโดยสารประจำทางหลายคนขับรถแซงคันอื่นมากกว่า 1 ครั้ง แต่โจทก์ทั้งสามเพียงแต่ตักเตือนด้วยวาจา ไม่ได้ทำบันทึกรายงานให้ผู้จัดการสายทราบตามแผนการรณรงค์ดังกล่าวข้อ 3.2 การกระทำของโจทก์ทั้งสามเป็นการไม่ตั้งใจปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยตามข้อบังคับจำเลยเอกสารหมายจล.3ข้อ 4.3 และ 4.5 แต่รถโดยสารประจำทางสาย ปอ.13 ที่แล่นแซงกันเพียง 53 ครั้งจากรถโดยสารจำนวน 30 คัน ที่แล่นประมาณ 10,000 เที่ยว เป็นสัดส่วนที่ไม่มาก และตามเอกสารหมาย จล.5 ซึ่งเป็นรายชื่อพนักงานขับรถโดยสารประจำทางแซงรถคันอื่นไม่ปรากฏว่านายสมบูรณ์เคยกระทำดังกล่าว การเกิดอุบัติเหตุคดีนี้จึงมิใช่ผลโดยตรงจากการกระทำของโจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างจำเลยประมาณคนละ 20 ปีไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยมาก่อนและคำสั่งลงโทษอ้างความผิดว่าโจทก์ทั้งสามปล่อยให้รถโดยสารประจำทางแซงกันในช่วงเวลาที่ตรวจสอบจำนวน 90 ครั้ง จึงลงโทษตัดเงินเดือน แต่คู่ความตรวจสอบร่วมกันพบว่ามีรถโดยสารประจำทางแซงกันเพียง 53 ครั้งพฤติการณ์แห่งความผิดจึงเปลี่ยนไป ประกอบกับเป็นความผิดครั้งแรก มีเหตุลดหย่อนซึ่งไม่ถึงกับจะต้องถูกลงโทษตัดเงินเดือนตามข้อบังคับของจำเลยเอกสารหมาย จล.3ข้อ 10 วรรคสอง ข้อบังคับดังกล่าวข้อ 7 ระบุโทษไว้ 5 สถาน คือ ไล่ออก ให้ออก ลดขั้นเงินเดือน ตัดเงินเดือนและภาคทัณฑ์ เมื่อโทษตัดเงินเดือนมีเหตุลดหย่อนจึงควรลดโทษเหลือเพียงภาคทัณฑ์และให้จำเลยคืนเงินเดือนที่จำเลยตัดไว้แก่โจทก์ทั้งสาม พิพากษาให้จำเลยเปลี่ยนแปลงคำสั่งลงโทษโจทก์ทั้งสามจากตัดเงินเดือนคนละร้อยละสิบมีกำหนดหนึ่งเดือนเป็นเพียงลงโทษภาคทัณฑ์โจทก์ทั้งสามและคืนประโยชน์ต่าง ๆ ที่โจทก์ทั้งสามเสียไปเพราะถูกตัดเงินเดือนแก่โจทก์ทั้งสามด้วย

จำเลยทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาได้ความว่า โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยกระทำผิดโดยไม่ทำบันทึกรายงานการที่พนักงานขับรถโดยสารประจำทางขับรถแซงกันจำนวน 53 ครั้ง และมีพนักงานขับรถโดยสารประจำทางหลายคนขับรถแซงคันอื่นมากกว่า 1 ครั้ง ต่อผู้จัดการสายของจำเลยทราบ มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ศาลแรงงานกลางมีอำนาจลดโทษให้โจทก์ทั้งสามจากตัดเงินเดือนเป็นโทษภาคทัณฑ์ได้หรือไม่ เห็นว่า ในกรณีนายจ้างลงโทษทางวินัยแก่ลูกจ้างที่มิได้เป็นกรรมการลูกจ้างและการลงโทษนั้นไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 หมวด 9 นั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้นายจ้างต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานก่อนตามมาตรา 52หรือให้ความคุ้มครองตามมาตรา 121 ถึงมาตรา 123 ดังนั้น ศาลแรงงานจะเข้าไปตรวจสอบดุลพินิจการลงโทษของนายจ้างในกรณีนี้ได้ก็ต่อเมื่อเป็นการใช้ดุลพินิจลงโทษที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นต้นว่าขัดต่อระเบียบข้อบังคับอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างไม่สุจริต กลั่นแกล้ง หรือไม่สมเหตุผลอย่างชัดแจ้ง ในคดีนี้ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสามทำผิดวินัยจริง จำเลยลงโทษตัดเงินเดือนโจทก์ทั้งสามร้อยละ 10 มีกำหนดคนละ1 เดือน ซึ่งเป็นโทษที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของจำเลยตามเอกสารหมาย จล.3 ข้อ 7ข้อย่อย 7.4 โดยไม่ปรากฏว่ามีการใช้ดุลพินิจลงโทษที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติถูกต้องตามข้อบังคับของจำเลยแล้ว ไม่ใช่กรณีที่ศาลแรงงานกลางจะเข้าไปตรวจสอบดุลพินิจการลงโทษของจำเลยได้ดังกล่าวข้างต้น ศาลแรงงานกลางจึงไม่มีอำนาจลดโทษโจทก์ทั้งสามเป็นภาคทัณฑ์ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามสำนวนฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสาม

Share