คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4300/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การจัดสรรที่ดิน ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 1 หมายความว่า การจัดจำหน่ายที่ดินติดต่อกันเป็นแปลงย่อยมีจำนวนตั้งแต่สิบแปลงขึ้นไปไม่ว่าด้วยวิธีใด โดยมิได้มีข้อกำหนดว่าผู้จัดสรรที่ดินที่ทำการจัดสรรที่ดินต้องเป็นบุคคลคนเดียวกันกับผู้ที่ทำการแบ่งแยกที่ดินที่นำมาจัดสรร แม้เจ้าของที่ดินเดิมเป็นผู้รังวัดแบ่งแยกที่ดินออกเป็นแปลงย่อย แล้วต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ซื้อที่ดินที่เจ้าของเดิมแบ่งแยกไว้ทั้งหมดนำมาจัดจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไป ก็หาทำให้การดำเนินการขายที่ดินของห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ไม่เป็นการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวไม่ ส่วนที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. จะได้ขออนุญาตจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก
การดำเนินการขายที่ดินของห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. เป็นการจัดสรรที่ดิน ทางเท้า ท่อระบายน้ำใต้ทางเท้าและถนนคอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งเป็นสาธารณูปโภคในที่ดินพิพาทย่อมตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินที่จัดสรรตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินที่สาธารณูปโภคดังกล่าวก่อสร้างในที่ดินย่อมตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินในโครงการทุกแปลง แม้จำเลยจะซื้อที่ดินพิพาทจากบริษัท ซ. ซึ่งซื้อที่ดินดังกล่าวมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลในคดีที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลาย ตามที่จำเลยนำสืบอันเป็นทำนองอ้างว่าจำเลยซื้อที่ดินพิพาทดังกล่าวมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนก็ไม่ทำให้ภาระจำยอมนั้นสิ้นไป จำเลยจึงต้องรับภาระตามกฎหมายดังกล่าวด้วย
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่สาธารณูปโภคก่อสร้างในที่ดินเป็นภาระจำยอมตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 โจทก์ซึ่งซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ในที่ดินจัดสรรดังกล่าวย่อมมีสิทธิใช้ประโยชน์แห่งภาระจำยอม และเมื่อมีการกั้นรั้วสังกะสี บนถนนคอนกรีตเสริมเหล็กที่ก่อสร้างในที่ดินพิพาทแล้วต่อมาได้สร้างเป็นกำแพงคอนกรีตยาวตลอดแนวทำให้ถนนคอนกรีตเสริมเหล็กดังกล่าวแคบลง ก็เป็นกรณีที่ถือได้ว่าจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของภารยทรัพย์ทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก โจทก์ในฐานะเจ้าของสามยทรัพย์ย่อมเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องให้ปลดเปลื้องความเสียหายดังกล่าวได้ โดยมิต้องคำนึงว่ายังมีผู้อื่นทำให้โจทก์เสื่อมประโยชน์ในการใช้ภารยทรัพย์และโจทก์ได้ฟ้องบุคคลเหล่านั้นหรือไม่
ป.พ.พ. มาตรา 1477 ได้บัญญัติให้สามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิฟ้องต่อสู้หรือดำเนินคดีเกี่ยวกับการสงวนบำรุงรักษาสินสมรสหรือเพื่อประโยชน์แก่สินสมรสได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น ที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ แม้จะเกี่ยวด้วยการจัดการสินสมรส โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องคดีโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของคู่สมรส

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนกำแพงคอนกรีต รั้วไม้ ขนกองหินตลอดจนสิ่งกีดขวางอื่น ๆ ออกจากที่ดินซึ่งเป็นภาระจำยอมและปรับที่ดินให้อยู่ในสภาพเดิมเพื่อให้โจทก์ทั้งสิบสี่และประชาชนได้ใช้เป็นทางเข้าออกโดยสะดวกเช่นเดิม และพิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 4858 และที่ดินโฉนดเลขที่ 88964, 88965 ตำบลลาดยาว (บางซื่อฝั่งเหนือ) อำเภอบางเขน (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร บางส่วนซึ่งเป็นของจำเลยตกเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินโจทก์ทั้งสิบสี่ โดยให้จำเลยนำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสิบสี่ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนในการจดทะเบียนภาระจำยอมกับให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสิบสี่ เดือนละ 140,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและสิ่งของที่กีดขวางทางภาระจำยอมกับปรับที่ดินให้อยู่ในสภาพเดิมและจัดการจดทะเบียนภาระจำยอมแก่โจทก์ทั้งสิบสี่แล้วเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ที่ 14 ขอถอนฟ้องศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 4858 ตำบลลาดยาว (บางซื่อฝั่งเหนือ) อำเภอบางเขน (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ให้จำเลยรื้อถอนกำแพงคอนกรีตกับขนย้ายวัสดุที่กองอยู่บนที่ดินดังกล่าวและปรับสภาพที่ดินให้กลับสู่สภาพเดิม ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 เดือนละ 50,000 บาทนับถัดจากวันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะรื้อถอนกำแพงกับขนย้ายวัสดุและปรับสภาพที่ดินโฉนดเลขที่ 4858 ให้กลับสู่สภาพเดิม คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 12 กับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาล
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ค่าเสียหายที่ให้จำเลยชำระแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 ให้ยกเสีย และระหว่างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 12 กับจำเลยให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความแต่ละฉบับท้ายคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เดิมที่ดินตามโฉนดเลขที่ 4858 ตำบลลาดยาว (บางซื่อฝั่งเหนือ) อำเภอบางเขน (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร เอกสารหมาย จ.11 เป็นที่ดินแปลงใหญ่ของนายเอก เมื่อปี 2520 นายเอกได้ขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกเป็นแปลงย่อย 158 แปลง เพื่อแบ่งขายโดยเว้นที่ไว้ตรงกลางเพื่อทำเป็นตลาดผ้าและตลาดสด รอบตลาดสดและตลาดผ้ามีถนนกว้าง 16 เมตร 1 สาย กว้าง 12 เมตร 1 สาย ล้อมรอบ ที่ดินของโจทก์ที่ 7 ตามโฉนดเลขที่ 88826 เอกสารหมาย จ.45 ของโจทก์ที่ 9 ตามโฉนดเลขที่ 88842, 88843 และ 88844 เอกสารหมาย จ.14 ถึง 16 ของโจทก์ที่ 10 และที่ 11 ซึ่งเป็นสามีภริยากันตามโฉนดเลขที่ 88931 เอกสารหมาย จ. 35 และของโจทก์ที่ 13 ตามโฉนดเลขที่ 88903 เอกสารหมาย จ. 23 เป็นที่ดินที่แบ่งแยกจากที่ดินแปลงเอกสารหมาย จ.11 ต่อมานายเอกขายที่ดินที่แบ่งแยกทั้ง 158 แปลง ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอน.เอส. คอนสทรัคชั่น ห้างดังกล่าวได้ทำโครงการศูนย์การค้า โดยปลูกสร้างอาคารพาณิชย์บนที่ดินที่นายเอกแบ่งแยกไว้เพื่อขายอาคารพาณิชย์พร้อมที่ดินแก่บุคคลทั่วไป และทำทางเท้าหน้าอาคารพาณิชย์ ท่อระบายน้ำใต้ทางเท้าและถนนคอนกรีตเสริมเหล็กหน้าอาคารพาณิชย์ทุกคูหาในที่ดินพิพาทแปลงโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.11 ที่เหลือจากการแบ่งแยกโดยถนนดังกล่าวทางด้านทิศตะวันออก ทิศตะวันตกและทิศใต้ กว้างประมาณ 12 เมตร ทางด้านทิศเหนือกว้างประมาณ 16 เมตร เมื่อปี 2527 จำเลยซื้อที่ดินพิพาทแปลงโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.11 ที่เหลือจากการแบ่งแยกดังกล่าวต่อจากบริษัทอาเซียนพัฒนาการ จำกัด ต่อมาปี 2534 และ 2535 จำเลยได้กั้นรั้วสังกะสีบนถนนคอนกรีตเสริมเหล็กที่อยู่ในที่ดินพิพาทแปลงโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.11 แล้วต่อมาสร้างเป็นกำแพงคอนกรีตยาวตลอดแนวห่างจากกำแพงอาคารพาณิชย์ประมาณ 8 เมตร
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อแรกว่า ที่ดินพิพาทแปลงโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.11 ซึ่งเป็นที่ดินที่มีทางเท้า ท่อระบายน้ำใต้ทางเท้าและถนนคอนกรีตเสริมเหล็กตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ที่ 7 ที่ 9 ถึงที่ 11และ ที่ 13 ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 นั้น มีใจความสำคัญว่า “ข้อ 1… “การจัดสรรที่ดิน” หมายความว่าการจัดจำหน่ายที่ดินติดต่อกันเป็นแปลงย่อย มีจำนวนตั้งแต่สิบแปลงขึ้นไปไม่ว่าด้วยวิธีใด โดยได้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมเป็นค่าตอบแทน และมีการให้คำมั่นหรือการแสดงออกโดยปริยายว่าจะจัดให้มีสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะ หรือปรับปรุงให้ที่ดินนั้นเป็นที่อยู่อาศัยที่ประกอบการพาณิชย์หรือที่ประกอบอุตสาหกรรม… “ผู้จัดสรรที่ดิน” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน… “ข้อ 30 สาธารณูปโภคซึ่งผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาต เช่น ถนน สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่นให้ถือว่าตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไปที่จะบำรุงรักษากิจการดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นโดยตลอดไป และจะกระทำใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้…” คดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอน. เอส. คอนสทรัคชั่น ซึ่งได้ซื้อที่ดินที่นายเอกแบ่งแยกไว้จำนวน 158 แปลง แล้วได้ทำโครงการศูนย์การค้าโดยปลูกสร้างอาคารพาณิชย์บนที่ดินที่นายเอกแบ่งแยกเพื่อขายพร้อมที่ดินแก่บุคคลทั่วไปตามใบโฆษณาและผังอาคารพาณิชย์ ซึ่งตามใบโฆษณาและผังอาคารพาณิชย์ดังกล่าวได้เว้นที่ไว้ตรงกลางเป็นตลาดผ้าและตลาดสด รอบตลาดผ้าและตลาดสดมีถนนล้อมรอบจึงเป็นกรณีที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอน.เอส.คอนสทรัคชั่นได้จัดจำหน่ายที่ดินติดต่อกันเป็นแปลงย่อยมีจำนวนเกินกว่าสิบแปลงโดยการขายแก่บุคคลทั่วไป และให้คำมั่นโดยการประกาศในใบโฆษณาและผังอาคารพาณิชย์ ว่า จะจัดให้มีสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะโดยให้มีน้ำ ไฟ และถนนคอนกรีตเสริมเหล็กหน้าอาคารพาณิชย์ทุกคูหา การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามคำนิยามของคำว่า การจัดสรรที่ดิน ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 1 ดังกล่าวข้างต้น การดำเนินการขายที่ดินของห้างหุ้นส่วนจำกัด เอน. เอส. คอนสทรัคชั่น จึงเป็นการจัดสรรที่ดิน ทั้งตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวเพียงแต่บัญญัติว่า การจัดสรรที่ดินหมายความว่า การจัดจำหน่ายที่ดินติดต่อกันเป็นแปลงย่อยมีจำนวนตั้งแต่สิบแปลงขึ้นไปไม่ว่าด้วยวิธีใด โดยมิได้มีข้อกำหนดว่าผู้จัดสรรที่ดินที่ทำการจัดสรรที่ดินต้องเป็นบุคคลคนเดียวกันกับผู้ที่ทำการแบ่งแยกที่ดินที่นำมาจัดสรร ดังนี้ แม้นายเอกเจ้าของที่ดินเดิมเป็นผู้รังวัดแบ่งแยกที่ดินออกเป็นแปลงย่อยจำนวน 158 แปลง แล้วต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัด เอน. เอส. คอนสทรัคชั่น ซื้อที่ดินที่นายเอกแบ่งแยกไว้ทั้งหมดนำมาจัดจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไป ก็หาทำให้การดำเนินการขายที่ดินของห้างห้นุส่วนจำกัด เอน.เอส.คอนสทรัคชั่น ตามที่กล่าวมาข้างต้นไม่เป็นการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับไม่ ส่วนที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเอน.เอส.คอนสทรัคชั่น จะได้ขออนุญาตจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก หากห้างหุ้นส่วนจำกัด เอน.เอส.คอนสทรัคชั่น จะดำเนินการฝ่าฝืนโดยไม่ได้ขออนุญาตจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวก็ไม่ทำให้การดำเนินการขายที่ดินของห้างหุ้นส่วนจำกัด เอน. เอส. คอนสทรัคชั่น กลับไม่เป็นการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวแต่อย่างใดเช่นกัน เมื่อการดำเนินการขายที่ดินของห้างหุ้นส่วนจำกัด เอน. เอส. คอนสทรัคชั่น เป็นการจัดสรรที่ดินดังวินิจฉัยมาแล้ว ทางเท้า ท่อระบายน้ำใต้ทางเท้าและถนนคอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งเป็นสาธารณูปโภคในที่ดินพิพาทแปลงโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.11 ย่อมตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 30วรรคหนึ่ง ฉะนั้น ที่ดินพิพาทแปลงโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.11 ซึ่งเป็นที่ดินที่สาธารณูปโภคดังกล่าวก่อสร้างในที่ดินย่อมตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินในโครงการทุกแปลงรวมทั้งที่ดินของโจทก์ที่ 7 ที่ 9 ถึงที่ 11 และที่ 13 แปลงโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.45 จ.14 ถึง จ.16 จ.35 และ จ.23 โดยผลแห่งกฎหมายตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว แม้จำเลยจะซื้อที่ดินพิพาทแปลงโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.11 จากบริษัทอาเซียนพัฒนาการ จำกัด ซึ่งซื้อที่ดินดังกล่าวมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลในคดีที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอน.เอส.คอนสทรัคชั่น ถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลาย ตามที่จำเลยนำสืบอันเป็นทำนองอ้างว่าจำเลยซื้อที่ดินพิพาทดังกล่าวมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ก็ไม่ทำให้ภาระจำยอมนั้นสิ้นไป จำเลยจึงต้องรับภาระตามกฎหมายดังกล่าวด้วย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อต่อไปมีว่า จำเลยกระทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกหรือไม่ และโจทก์ทั้งสิบสี่ที่ 7 ที่ 9 ถึงที่ 11 และที่ 13 มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อที่ดินพิพาทแปลงโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.11 ซึ่งเป็นที่ดินที่สาธารณูปโภคก่อสร้างในที่ดินเป็นภาระจำยอมตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 โจทก์ที่ 7 ที่ 9 ถึงที่ 11 และที่ 13 ซึ่งซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ในที่ดินจัดสรรดังกล่าวย่อมมีสิทธิใช้ประโยชน์แห่งภาระจำยอม และเมื่อมีการกั้นรั้วสังกะสีบนถนนคอนกรีตเสริมเหล็กที่ก่อสร้างในที่ดินพิพาทแปลงโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.11 แล้วต่อมาได้สร้างเป็นกำแพงคอนกรีตยาวตลอดแนวตามเส้นสีแดงในแผนที่สังเขปเอกสารหมาย จ.13 ทำให้ถนนคอนกรีตเสริมเหล็กดังกล่าวแคบลงไม่ว่าจะเหลือเพียงประมาณ 6 เมตร ตามที่ฝ่ายโจทก์นำสืบ หรือประมาณ 8 เมตร ตามที่จำเลยนำสืบ ก็เป็นกรณีที่ถือได้ว่าจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของภารยทรัพย์ทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก โจทก์ที่ 7 ที่ 9 ถึงที่ 11 และที่ 13 ในฐานะเจ้าของสามยทรัพย์ย่อมเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องให้ปลดเปลื้องความเสียหายดังกล่าวได้ โดยมิต้องคำนึงว่ายังมีผู้อื่นทำให้โจทก์ทั้งหมดดังกล่าวเสื่อมประโยชน์ในการใช้ภารยทรัพย์และโจทก์ทั้งหมดดังกล่าวได้ฟ้องบุคคลเหล่านั้นตามที่จำเลยอ้างในฎีกาหรือไม่
ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ที่ 9 และที่ 13 ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรสนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1477 ได้บัญญัติให้สามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิฟ้องต่อสู้หรือดำเนินคดีเกี่ยวกับการสงวนบำรุงรักษาสินสมรสหรือเพื่อประโยชน์แก่สินสมรสได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น ที่โจทก์ที่ 9 และที่ 13 ฟ้องคดีนี้แม้จะเกี่ยวด้วยการจัดการสินสมรสตามที่จำเลยอ้างโจทก์ที่ 9 และที่ 13 ก็มีอำนาจฟ้องคดีได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรส …
พิพากษายืน.

Share