คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5099/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า ฮ. เป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์โดยมีสำเนาหนังสือมอบอำนาจแนบมาท้ายฟ้องซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมี ป. และ จ. ร่วมกันลงลายมือชื่อเป็นผู้กระทำการแทนโจทก์ จำเลยให้การเพียงว่าขณะยื่นฟ้องคดี ป. มิได้เป็นรองประธานธนาคารโจทก์และ จ. มิได้เป็นเลขานุการผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์แล้ว จึงถือว่าจำเลยทั้งสองรับว่าบุคคลทั้งสองยังมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์อยู่ในขณะที่ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว และเมื่อในขณะฟ้องคดีนี้โจทก์ยังมิได้มีหนังสือเพิกถอนการมอบอำนาจดังกล่าว การมอบอำนาจดังกล่าวจึงยังสมบูรณ์อยู่และใช้บังคับได้ตามกฎหมาย แม้หากจะมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหรือเปลี่ยนตัวผู้มีอำนาจกระทำกิจการแทนโจทก์จาก ป. และ จ. ไปเป็นบุคคลอื่นภายหลังจากที่ทั้งสองคนลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจไว้โดยชอบแล้ว ก็หาทำให้กิจการของโจทก์ที่ได้กระทำไปแล้วโดยบุคคลทั้งสองต้องเสียไป หรือไม่สมบูรณ์แต่อย่างใด โจทก์ไม่จำต้องนำพยานหลักฐานมาสืบว่าขณะฟ้องคดีนี้บุคคลทั้งสองยังคงมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์อยู่
จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งว่า โจทก์ไม่ได้นำพยานหลักฐานมาสืบแสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินตราต่างประเทศ ดังนั้นการทำสัญญาและธุรกรรมเกี่ยวกับการซื้อขายเงินตราต่างประเทศของโจทก์ตามฟ้องจึงตกเป็นโมฆะ ปัญหาที่ว่าโจทก์ได้รับอนุญาตดังกล่าวหรือไม่นั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าการทำธุรกรรมดังกล่าวขัดต่อกฎหมายหรือไม่ แต่จำเลยไม่ได้ยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง อุทธรณ์ข้อนี้จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคแรก
จำเลยจำนำตั๋วแลกเงินเป็นประกันหนี้แก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้รับจำนำโดยเป็นผู้ทรงที่ได้รับสลักหลังและรับมอบตั๋วแลกเงินไว้ในครอบครอง ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 926 และ 766 นั้น เมื่อมีการสลักหลังเพื่อจำนำตั๋วแลกเงิน ผู้ทรงย่อมใช้สิทธิทั้งปวงอันเกิดแต่ตั๋วนั้นได้ทั้งสิ้น และผู้รับจำนำตั๋วแลกเงินก็มีสิทธิเรียกเก็บเงินตามตั๋วนั้นในวันถึงกำหนดได้โดยไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวบังคับจำนำ ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเก็บเงินตามตั๋วแลกเงินเฉพาะที่ถึงกำหนดนำเงินมาหักชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้ โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวบังคับจำนำแก่จำเลยที่ 1 ก่อน
ในกรณีจำนำทรัพย์สินตามปกติทั่วไปนั้น หากผู้รับจำนำจะบังคับจำนำก็ต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ให้ชำระหนี้และอุปกรณ์ในเวลาอันควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้นเสียก่อน ถ้าลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าวผู้รับจำนำจึงชอบที่จะนำทรัพย์สินซึ่งจำนำออกขายทอดตลาดได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 764 วรรคหนึ่งและวรรคสอง โดยหากมีการตกลงให้จัดการแก่ทรัพย์สินนั้นเป็นประการอื่นนอกจากบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับจำนำ ข้อตกลงเช่นนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 756 และแม้เฉพาะในกรณีการบังคับชำระหนี้จากตั๋วแลกเงินที่ผู้จำนำนำมาจำนำเป็นประกันหนี้นั้น ผู้รับจำนำมีสิทธิเรียกเก็บเงินตามตั๋วแลกเงินนั้นได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวบังคับจำนำก่อนก็ตาม แต่ก็ต้องเรียกเก็บเงินตามตั๋วแลกเงินในวันถึงกำหนดชำระเงินด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 766 การที่โจทก์ใช้วิธีการบังคับชำระหนี้จากตั๋วแลกเงินที่รับจำนำไว้ดังกล่าวโดยการนำไปไถ่ถอนก่อนครบกำหนดชำระเงินตามตั๋วแลกเงินนั้น ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ทั้งการไถ่ถอนหรือขอรับเงินตามตั๋วแลกเงินก่อนวันครบกำหนดชำระเงินตามตั๋วนี้ ผู้จ่ายก็ชอบที่จะไม่จ่ายเงินได้จนกว่าจะถึงวันครบกำหนดชำระ แต่กรณีนี้ผู้จ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินนั้นยอมจ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินให้แก่โจทก์ โดยมีการหักลดเงินตามตั๋วไว้ ทำให้ผู้จ่ายเงินได้ประโยชน์จากส่วนลดนั้น ขณะที่โจทก์ก็ได้ประโยชน์ได้รับเงินมาชำระหนี้ แต่จำเลยที่ 1 กลับเป็นฝ่ายต้องเสียประโยชน์จากการที่มีการนำเงินที่ได้จากการไถ่ถอนตั๋วแลกเงินก่อนวันครบกำหนดน้อยกว่าจำนวนเงินตามตั๋วซึ่งนำไปหักชำระหนี้ได้น้อยลง จำเลยที่ 1 ย่อมได้รับความเสียหายจากการกระทำอันมิชอบของโจทก์ดังกล่าว จึงมีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ใช้เงินส่วนที่ขาดไปนั้น หรือคิดหักชำระหนี้เสียให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้จำนวน 21,423,906.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และร่วมกันชำระหนี้จำนวน 763,930.15 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.0975 ต่อปี โดยคิดดอกเบี้ยจากต้นเงินทั้งสองจำนวนนับตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้นให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันขอให้ยกฟ้องและจำเลยที่ 1 แก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งขอบังคับให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการที่โจทก์ผิดสัญญากู้ยืมเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐแก่จำเลยที่ 1 จำนวน 193,029,516.16 บาท ให้โจทก์คืนหลักประกันเงินฝากในบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เลขที่ 5-600623-003 และตั๋วแลกเงินจำนวน 22 ฉบับ หรือชำระเงินจำนวน 533,996,156.20 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 21,423,906.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ร่วมกันชำระเงิน 763,930.15 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.0975 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ ในกรณีที่จำเลยทั้งสองจะชำระเป็นเงินบาท ให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ (อัตราอ้างอิง) ที่ขายให้ลูกค้าในวันที่ใช้เงินจริง ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันใช้เงินจริง ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราเช่นว่านั้นให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในลำดับแรกว่า นายโฮมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ตามหนังสือมอบอำนาจหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า หนังสือมอบอำนาจไม่สมบูรณ์และใช้บังคับตามกฎหมายไม่ได้ เพราะโจทก์มิได้นำพยานหลักฐานมาสืบให้เห็นว่า นายปีเตอร์และนายจอร์จผู้ร่วมกันลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจมีตำแหน่งในธนาคารโจทก์ และมีอำนาจลงลายมือชื่อกระทำกิจการแทนโจทก์ได้นั้น เห็นว่า ตามคำฟ้อง โจทก์บรรยายฟ้องว่า นายโฮเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ โดยมีสำเนาหนังสือมอบอำนาจแนบมาท้ายคำฟ้องซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง ตามหนังสือมอบอำนาจนี้ปรากฏว่า ทำขึ้นเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2540 นายปีเตอร์และนายจอร์จร่วมกันลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจฉบับนี้ซึ่งเป็นฉบับเดียวกับที่โจทก์อ้างส่งเป็นพยานหลักฐานในชั้นพิจารณา จำเลยที่ 1 ให้การเพียงว่า ขณะยื่นฟ้องคดีนี้วันที่ 17 กันยายน 2541 นายปีเตอร์มิได้เป็นรองประธานธนาคารโจทก์ และนายจอร์จมิได้เป็นเลขานุการผู้รับมอบอำนาจของธนาคารโจทก์แล้ว โดยจำเลยที่ 1 รวมทั้งจำเลยที่ 2 มิได้ให้การว่าผู้ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจทั้งสองคนนี้ไม่ได้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ในวันที่บุคคลทั้งสองลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจนี้ จึงถือว่าจำเลยทั้งสองรับว่าบุคคลทั้งสองมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์อยู่ในขณะลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว โจทก์จึงไม่ต้องนำสืบพยานหลักฐานในข้อเท็จจริงนี้อีกแต่อย่างใด จึงฟังได้ว่าโจทก์มอบอำนาจให้นายโฮซึ่งเป็นผู้จัดการสาขาให้มีอำนาจกระทำกิจการใด ๆ แทนโจทก์ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งการฟ้องร้องดำเนินคดีแทนโจทก์ ต่อมาเมื่อในขณะฟ้องคดีนี้โจทก์ยังมิได้มีหนังสือเพิกถอนการมอบอำนาจดังกล่าว การมอบอำนาจดังกล่าวจึงยังสมบูรณ์อยู่และใช้บังคับได้ตามกฎหมายต่อไป แม้หากจะมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหรือเปลี่ยนตัวผู้มีอำนาจกระทำกิจการแทนโจทก์จากนายปีเตอร์และนายจอร์จไปเป็นบุคคลอื่นภายหลังจากที่บุคคลทั้งสองลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจไว้โดยชอบแล้ว ก็หามีผลทำให้กิจการของโจทก์ที่ได้กระทำไปแล้วโดยบุคคลทั้งสองต้องเสียไป หรือไม่สมบูรณ์แต่อย่างใด โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องนำพยานหลักฐานมาสืบว่า ขณะฟ้องคดีนี้บุคคลทั้งสองก็ยังคงมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์อยู่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ฉบับดังกล่าวสมบูรณ์และใช้บังคับได้ตามกฎหมายนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อไปว่า การทำธุรกรรมซื้อขายเงินตราต่างประเทศระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์จะสามารถประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินตราต่างประเทศดังกล่าวได้ โจทก์จะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดังที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ.2485 ข้อ 3 แต่โจทก์มิได้นำพยานหลักฐานมาสืบแสดงให้เห็นว่า โจทก์ได้รับใบอนุญาตดังกล่าว การทำสัญญาและธุรกรรมเกี่ยวกับการซื้อขายเงินตราต่างประเทศของโจทก์ตามฟ้องจึงตกเป็นโมฆะ ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมายนั้น เห็นว่า ปัญหาว่าโจทก์ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินตราต่างประเทศหรือไม่ เป็นปัญหาข้อเท็จจริงอันเป็นข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าการทำธุรกรรมดังกล่าวขัดต่อกฎหมายหรือไม่ แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวจำเลยทั้งสองมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง อุทธรณ์ข้อนี้จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคแรก จึงไม่รับวินิจฉัย
ในวันครบกำหนดชำระหนี้อันเป็นวันชำระบัญชีซึ่งโจทก์ต้องส่งมอบเงินดอลลาร์สหรัฐแก่จำเลยที่ 1 ดังกล่าวนั้น จำเลยที่ 1 ก็มีหนี้ที่ต้องส่งมอบเงินบาทแก่โจทก์ด้วยเช่นกันตามธุรกรรมการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ และจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระหนี้โดยส่งมอบเงินบาทแก่โจทก์ จึงมีหนี้เงินบาทค้างชำระแก่โจทก์ในขณะที่โจทก์มีตั๋วแลกเงิน 22 ฉบับ ที่มีการนำมาจำนำและวางประกันหนี้ดังกล่าวไว้ โจทก์มีสิทธิที่จะเรียกเก็บเงินตามตั๋วแลกเงินดังกล่าวนำเงินมาชำระบัญชีหักชำระหนี้เงินบาทที่ค้างชำระดังกล่าวได้หรือไม่ เห็นว่า ในส่วนตั๋วแลกเงินที่ถึงกำหนดใช้เงินแล้วนั้น ปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้รับจำนำโดยเป็นผู้ทรงที่ได้รับสลักหลังและรับมอบตั๋วแลกเงินนั้นไว้ในครอบครอง ซึ่งตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเกี่ยวกับการจำนำตั๋วเงินนั้นเมื่อมีการสลักหลังเพื่อจำนำตั๋วแลกเงิน ผู้ทรงย่อมใช้สิทธิทั้งปวงอันเกิดแต่ตั๋วนั้นได้ทั้งสิ้น และผู้รับจำนำตั๋วแลกเงินนี้ก็มีสิทธิเรียกเก็บเงินตามตั๋วนั้นในวันถึงกำหนดได้โดยไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวบังคับจำนำ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 926 และมาตรา 766 ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเก็บเงินตามตั๋วแลกเงินเฉพาะที่ถึงกำหนดนำเงินมาหักชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้ โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวบังคับจำนำแก่จำเลยที่ 1 ก่อน ทั้งการบังคับชำระหนี้จากตั๋วแลกเงินที่จำนำดังกล่าวนี้ก็ไม่ใช่การหักกลบลบหนี้ จึงไม่จำต้องพิจารณาว่ากรณีที่ผู้จ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินเป็นบุคคลภายนอกจะทำการหักกลบลบหนี้กันได้หรือไม่ดังที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ นอกจากนี้แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า โจทก์หักกลบลบหนี้โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเชื่อมโยงวงเงินสินเชื่อและการหักกลบลบหนี้ก็ตาม แต่ก็ยังได้บรรยายฟ้องถึงสิทธิตามสัญญากู้เงินและสัญญาจำนำในการหักชำระหนี้และได้นำสืบโดยอ้างส่งหนังสือสัญญากู้เงินและหนังสือสัญญาจำนำ หนังสือสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นพยานหลักฐานด้วย ศาลย่อมรับฟังว่าโจทก์ใช้สิทธิหักชำระหนี้จากหลักประกันที่เป็นตั๋วแลกเงินโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเชื่อมโยงวงเงินสินเชื่อและการหักกลบลบหนี้ สิทธิในฐานะผู้ทรงที่ได้รับสลักหลังจำนำและสิทธิตามสัญญาและธุรกรรมซื้อขายเงินตราต่างประเทศได้ การชำระบัญชีของโจทก์โดยใช้สิทธิเรียกเก็บเงินตามตั๋วแลกเงินเฉพาะที่ถึงกำหนดแล้วนำมาหักชำระหนี้จึงชอบแล้วเช่นกัน แต่กรณีที่โจทก์นำตั๋วแลกเงินที่จำเลยที่ 1 จำนำประกันหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาจำนำรวม 11 ฉบับ ไปไถ่ถอนก่อนตั๋วแลกเงินแต่ละฉบับถึงกำหนดชำระทำให้ได้เงินจากการไถ่ถอนน้อยกว่าจำนวนเงินตามตั๋วแลกเงิน แล้วนำเงินที่ได้ไปหักชำระหนี้นั้น ปรากฏว่าโจทก์ได้ดำเนินการดังกล่าวจริงดังปรากฏในรายการหักชำระหนี้วันที่ 23 ธันวาคม 2540 รวม 6 ฉบับ ไปไถ่ถอนก่อนกำหนดและนำเงินมาหักชำระหนี้ในวันนั้น ในรายการหักชำระหนี้วันที่ 9 มกราคม 2541 โจทก์นำตั๋วแลกเงินรวม 2 ฉบับ ไปไถ่ถอนก่อนกำหนดและนำเงินมาหักชำระหนี้ในวันนั้น ในรายการหักชำระหนี้วันที่ 23 มกราคม 2541 โจทก์นำตั๋วแลกเงินไปไถ่ถอนก่อนกำหนดแล้วนำเงินมาหักชำระหนี้ในวันนั้น และในรายการหักชำระหนี้วันที่ 7 พฤษภาคม 2541 โจทก์นำตั๋วแลกเงินรวม 2 ฉบับ ไปไถ่ถอนก่อนกำหนดแล้วนำเงินมาหักชำระหนี้ในวันนั้น ซึ่งตั๋วแลกเงินที่มีการไถ่ถอนก่อนกำหนด 11 ฉบับนี้ เมื่อคำนวณจากจำนวนเงินตามที่ระบุในตั๋วแลกเงิน กับจำนวนเงินที่ได้จากการไถ่ถอนก่อนกำหนดแล้ว จำนวนเงินที่ได้จากการไถ่ถอนดังกล่าวน้อยกว่าจำนวนเงินตามตั๋วแลกเงินรวมเป็นเงินจำนวน 2,467,433.16 บาท กรณีดังกล่าวนี้ เห็นว่า ในกรณีจำนำทรัพย์สินตามปกติทั่วไปนั้น หากผู้รับจำนำจะบังคับจำนำก็ต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ให้ชำระหนี้และอุปกรณ์ในเวลาอันควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้นเสียก่อน ถ้าลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนำจึงชอบที่จะนำทรัพย์สินซึ่งจำนำออกขายทอดตลาดได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 764 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง โดยหากมีการตกลงให้จัดการแก่ทรัพย์สินนั้นเป็นประการอื่นนอกจากบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับจำนำ ข้อตกลงเช่นนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 756 และแม้เฉพาะในกรณีการบังคับชำระหนี้จากตั๋วแลกเงินที่ผู้จำนำนำมาจำนำเป็นประกันหนี้นั้น ผู้รับจำนำมีสิทธิเรียกเก็บเงินตามตั๋วแลกเงินนั้นได้ โดยไม่จำต้องบอกกล่าวบังคับจำนำก่อนก็ตาม แต่ก็ต้องเรียกเก็บเงินตามตั๋วแลกเงินในวันถึงกำหนดชำระเงินด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 766 การที่โจทก์ใช้วิธีการบังคับชำระหนี้จากตั๋วแลกเงินที่รับจำนำไว้ดังกล่าวโดยการนำไปไถ่ถอนก่อนครบกำหนดชำระเงินตามตั๋วแลกเงินนั้น ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาข้างต้น ทั้งการไถ่ถอนหรือขอรับเงินตามตั๋วแลกเงินก่อนวันครบกำหนดชำระเงินตามตั๋วนี้ผู้จ่ายก็ชอบที่จะไม่จ่ายเงินได้ จนกว่าจะถึงวันครบกำหนดชำระ แต่กรณีนี้บริษัทซิตี้ คอร์ป ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินนั้นยอมจ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินให้แก่โจทก์ โดยมีการหักลดเงินตามตั๋วไว้ ทำให้ผู้จ่ายเงินได้ประโยชน์จากส่วนลดนั้น ขณะที่โจทก์ก็ได้ประโยชน์ได้รับเงินมาชำระหนี้ แต่จำเลยที่ 1 กลับเป็นฝ่ายต้องเสียประโยชน์จากการที่มีการนำเงินที่ได้จากการไถ่ถอนตั๋วแลกเงินก่อนวันครบกำหนดน้อยกว่าจำนวนเงินตามตั๋วซึ่งนำไปหักชำระหนี้ได้น้อยลง จำเลยที่ 1 ย่อมได้รับความเสียหายจากการกระทำอันมิชอบของโจทก์ดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ใช้เงินส่วนที่ขาดไปนั้นคืนหรือคิดหักชำระหนี้เสียให้ถูกต้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 763,930.15 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.0975 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจะชำระเป็นเงินบาทให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง แต่หากมีเหตุให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้ ให้ใช้อัตราขายเงินดอลลาร์สหรัฐของธนาคารพาณิชย์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 19,115,602.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2541 ถึงวันที่ 27 พฤษภาคม 2541 แก่โจทก์ โดยให้นำเงินจำนวน 159,130 บาท มาหักชำระดอกเบี้ยที่คิดได้ดังกล่าว เหลือเท่าใดให้หักชำระหนี้ต้นเงิน แล้วให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ต้นเงินคงเหลือนี้พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินคงเหลือดังกล่าวนับแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ.

Share