แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ ปรากฏว่าลูกหนี้เป็นหนี้ค่าภาษีบำรุงท้องที่ต่อโจทก์ เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์จึงได้แจ้งการประเมินไปยังจำเลยเพื่อให้ชำระค่าภาษีดังกล่าวดังนี้ การแจ้งการประเมินจึงเป็นการปฏิบัติตามวิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 มาตรา 48 ไม่ใช่เรื่องการขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายมาตรา 91 การที่จำเลยมีหนังสือไปถึงผู้อำนวยการเขตลาดกระบังแจ้งว่าหนี้ค่าภาษีบำรุงท้องที่เป็นหนี้ไม่อาจขอรับชำระได้นั้นเป็นเรื่องที่นอกเหนืออำนาจตามกฎหมาย เท่ากับเป็นเพียงการแจ้งความคิดเห็นของจำเลยไปให้ผู้อำนวยการเขตลาดกระบังทราบเท่านั้นถือไม่ได้ว่าจำเลยมีคำวินิจฉัยในเรื่องคำขอรับชำระหนี้ จึงไม่มีผลผูกพันใด ๆ ต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่ต้องร้องคัดค้านความเห็นของจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 146 ก่อน ฉะนั้น การที่จำเลยไม่ชำระค่าภาษีบำรุงท้องที่แก่โจทก์จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง จำเลยเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของลูกหนี้เนื่องจากลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และได้จัดให้เช่าที่ดินของลูกหนี้ จำเลยจึงมีหน้าที่ชำระภาษีบำรุงท้องที่ ตามมาตรา 35 วรรคสอง หนี้เงินภาษีดังกล่าวเป็นหนี้ที่กฎหมายบังคับให้ต้องชำระ แม้จะเกิดขึ้นภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว จำเลยก็ยังมีหน้าที่ชำระหนี้แทนลูกหนี้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เฉลิมโลก จำกัด ลูกหนี้ ผู้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่ 725 หมู่ที่ 4 แขวงคลองสามประเวศ เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร โดยให้ผู้อื่นเช่าประกอบกสิกรรม จำเลยจึงมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินและชำระภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินแปลงดังกล่าว แต่จำเลยหาได้ยื่นแบบแสดงรายการตามกฎหมายไม่ เจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งการประเมินให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยไม่ยอมชำระ ขอบังคับให้จำเลยชำระเงินค่าภาษีบำรุงท้องที่และเงินเพิ่มรวม 2,050.46 บาทแก่โจทก์ และชำระเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 24 ต่อปีของเงินค่าภาษีที่ค้าง 1,934.40 บาทนับแต่เดือนสิงหาคม 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า หนี้ค่าภาษีเกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้ โจทก์มิได้ยื่นคำคัดค้านต่อศาลภายใน 14 วัน นับแต่วันได้รับคำวินิจฉัยของจำเลย และนำคดีมาฟ้องศาลเมื่อเกิน 14 วัน ขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 146ศาลภาษีอากรกลางจึงไม่มีอำนาจพิจารณาคดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลางโดยไม่ต้องร้องคัดค้านคำสั่งของจำเลยต่อศาลแพ่งภายใน 14 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือตามเอกสารหมาย ล.2 หรือไม่ เห็นว่า การที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินไปยังจำเลยเพื่อให้ชำระค่าภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ. 2532 ของลูกหนี้ตามเอกสารหมาย ล.1 นั้น เป็นการปฏิบัติตามวิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่พ.ศ. 2508 มาตรา 48 เพื่อให้จำเลยซึ่งมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ อุทธรณ์โต้แย้งการประเมินต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ตามมาตรา 49 ในกรณีที่เห็นว่าการประเมินไม่ถูกต้อง ไม่ใช่เป็นเรื่องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 91ดังนั้นการที่จำเลยมีหนังสือตามเอกสารหมาย ล.2 ไปยังผู้อำนวยการเขตลาดกระบังแจ้งว่าหนี้ภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ. 2532ไม่อาจขอรับชำระได้ เป็นคำสั่งของจำเลยที่นอกเหนืออำนาจตามกฎหมายเท่ากับเป็นเพียงการแจ้งความคิดเห็นของจำเลยไปให้ผู้อำนวยการเขตลาดกระบังทราบเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าจำเลยมีคำวินิจฉัยในเรื่องคำขอรับชำระหนี้ จึงไม่มีผลผูกพันใด ๆ ในทางกฎหมายต่อโจทก์ดังนี้โจทก์จึงไม่จำต้องร้องคัดค้านความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามเอกสารหมาย ล.2 ต่อศาลแพ่ง ซึ่งเป็นศาลในคดีล้มละลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 146 การที่จำเลยไม่ชำระค่าภาษีบำรุงท้องที่แก่โจทก์ตามกฎหมายเป็นการโต้แย้งสิทธิ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลางโดยไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย มาตรา 146 ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยยกฟ้องโจทก์จึงไม่ต้องด้วยความเห็นศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
ที่จำเลยแก้อุทธรณ์ว่า หนี้ภาษีบำรุงท้องที่ปี พ.ศ. 2532มูลหนี้เกิดขึ้นหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว เป็นหนี้ที่ไม่อาจขอรับชำระได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 94จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องนั้น เห็นว่า ลูกหนี้ผู้ถูกสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ 725 หมู่ที่ 4แขวงคลองประเวศ เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 40 ไร่ 2 งาน90 ตารางวา อยู่ในวันที่ 1 มกราคม 2532 โดยให้ผู้อื่นเช่าประกอบกสิกรรมประเภทไม้ล้มลุกมาแต่เดิม เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2530 แล้ว จำเลยเป็นผู้เข้าไปจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งหมดโดยมิได้บอกเลิกสัญญาการเช่าที่ดินแปลงดังกล่าวแสดงว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จัดการที่ดินของลูกหนี้แปลงดังกล่าวโดยการให้ผู้เช่าเช่าประกอบกสิกรรมประเภทไม้ล้มลุกต่อไป จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2532 ด้วย จำเลยจึงมีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 มาตรา 24 ที่จะต้องยื่นแบบแสดงรายการที่ดินเป็นรายแปลงตามแบบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดแทนลูกหนี้ เมื่อจำเลยมิได้ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินเจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจแจ้งการประเมินไปยังจำเลยได้ตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 มาตรา 48 จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าภาษีบำรุงท้องที่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 มาตรา 35 วรรคสองเมื่อไม่ชำระในเวลาที่กำหนดจึงต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละยี่สิบสี่ต่อปีของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ตามที่พระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 มาตรา 45(4) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2529 มาตรา 5 บัญญัติไว้ การที่จำเลยเข้าจัดการให้เช่าที่ดินของลูกหนี้แทนลูกหนี้ แล้วเกิดมีหนี้เงินที่กฎหมายบังคับให้ต้องชำระเกิดขึ้น จำเลยก็มีหน้าที่ต้องเอาเงินที่ได้รับจากการให้เช่าที่ดินหรือทรัพย์สินของลูกหนี้ชำระแทนลูกหนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น
พิพากษากลับให้จำเลยชำระค่าภาษีบำรุงท้องที่ปี พ.ศ. 2532จำนวน 1,934.40 บาท พร้อมด้วยเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 24 ต่อปีนับแต่เดือนพฤษภาคม 2532 จนกว่าจำเลยจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์เศษของเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือน.