คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5587-5599/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมที่สั่งตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ให้ลูกจ้างของผู้ร้องที่นัดหยุดงานกลับเข้าทำงาน ให้ผู้ร้องซึ่งสั่งปิดงานให้เปิดงานและรับลูกจ้างของผู้ร้องทั้งหมดกลับเข้าทำงาน และมอบให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณาชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ระหว่างผู้ร้องกับลูกจ้างของผู้ร้องที่ยื่นข้อเรียกร้อง เป็นคำสั่งที่แก้ไขข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ซึ่งมีการนัดหยุดงานหรือมีการปิดงานที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศ หรืออาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน หรืออาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ หรืออาจขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน อันเป็นการยกเลิกการนัดหยุดงานและการปิดงานที่ดำเนินการอยู่ แล้วมอบข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เป็นผู้ชี้ขาด คำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อการกระทำใดในระหว่างการนัดหยุดงานหรือการปิดงานของนายจ้างหรือลูกจ้างที่กระทำผิดต่อกฎหมายหรือละเมิดสิทธิของอีกฝ่ายหรือต่อบุคคลภายนอก คำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม จึงไม่มีผลทำให้อำนาจในการดำเนินคดีนี้ของผู้ร้องที่ร้องขออนุญาตเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสิบสาม ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 สิ้นสุดลง

ย่อยาว

คดีทั้งสิบสามสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเข้าด้วยกันกับสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 5448/2543 และ 5450/2543 ของศาลแรงงานกลาง โดยเรียกผู้คัดค้านตามลำดับสำนวนว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 15 ระหว่างพิจารณาผู้ร้องทั้งสองสำนวนดังกล่าวขอถอนคำร้อง คดีจึงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีสิบสามสำนวนนี้
ผู้ร้องทั้งสิบสามสำนวนยื่นคำร้องขออนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสิบสามนับแต่วันที่ยื่นคำร้อง
ผู้คัดค้านทั้งสิบสามสำนวนยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง และสั่งให้ผู้ร้องรับผู้คัดค้านทั้งสิบสามกลับเข้าเป็นลูกจ้างของผู้ร้องต่อไปในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างเดิม
ศาลแรงงานกลาง มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสิบสามสำนวน
ผู้คัดค้านทั้งสิบสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อแรกของผู้คัดค้านทั้งสิบสามว่า ผู้ร้องมีอำนาจดำเนินคดีนี้ต่อไปได้หรือไม่ โดยผู้คัดค้านทั้งสิบสามอุทธรณ์ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมได้มีคำสั่งกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมที่ 233/2543 ให้ลูกจ้างของผู้ร้องทั้งหมดกลับเข้าทำงานกับผู้ร้อง และมอบเรื่องให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ระหว่างผู้ร้องกับลูกจ้างที่ยื่นข้อเรียกร้อง จึงมีผลทำให้การดำเนินคดีนี้ที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลางเพื่อขออนุญาตเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสิบสามเป็นอันสิ้นสุด ไม่สามารถดำเนินคดีต่อไปได้นั้น เห็นว่า คำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมที่สั่งตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ให้ลูกจ้างของผู้ร้องที่นัดหยุดงานกลับเข้าทำงาน ให้ผู้ร้องซึ่งสั่งปิดงานให้เปิดงานและรับลูกจ้างของผู้ร้องทั้งหมดกลับเข้าทำงาน และมอบให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณาชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ระหว่างผู้ร้องกับลูกจ้างของผู้ร้องที่ยื่นข้อเรียกร้อง เป็นคำสั่งที่แก้ไขข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ซึ่งมีการนัดหยุดงานหรือมีการปิดงานที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศ หรืออาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน หรืออาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ หรืออาจขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน อันเป็นการยกเลิกการนัดหยุดงานและการปิดงานที่ดำเนินการอยู่ แล้วมอบข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เป็นผู้ชี้ขาด คำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อการกระทำใดในระหว่างการนัดหยุดงานหรือการปิดงานของนายจ้างหรือลูกจ้างที่กระทำผิดต่อกฎหมายหรือละเมิดสิทธิของอีกฝ่ายหรือต่อบุคคลภายนอก ฉะนั้น คำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม จึงไม่มีผลทำให้อำนาจในการดำเนินคดีนี้ของผู้ร้องที่ร้องขออนุญาตเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสิบสามตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 สิ้นสุดลง ผู้ร้องจึงมีอำนาจดำเนินคดีนี้ต่อไปได้ อุทธรณ์ของผู้คัดค้านทั้งสิบสามฟังไม่ขึ้น…
พิพากษายืน.

Share