คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2267/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 60 ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติเกี่ยวกับหน้าที่นำสืบในการกระทำความผิดดังกล่าวไว้โดยเฉพาะ โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบเพื่อให้รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้กระทำความผิดจริง เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองก่อนถูกจับกุมว่า จำเลยทั้งสองมีพฤติการณ์จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจนมีรายได้นำไปซื้อทรัพย์สินของกลาง ลำพังจากการสอบสวนพบว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ประกอบอาชีพ และจำเลยที่ 2 ประกอบอาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง จะสันนิษฐานว่าจำเลยทั้งสองไม่มีรายได้เพียงพอที่จะซื้อทรัพย์สินของกลาง ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ย่อมเป็นผลร้ายแก่จำเลยทั้งสอง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยทั้งสองรับโอนหรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยทั้งสองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3, 5, 60 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เพิ่มโทษจำเลยทั้งสองตามกฎหมายและนับโทษจำเลยทั้งสองในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4876/2544 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ และเคยต้องโทษและพ้นโทษมาแล้วตามฟ้องจริง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 (1), 60 จำคุกคนละ 3 ปี เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุกคนละ 4 ปี นับโทษต่อจากโทษของจำเลยทั้งสองในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4876/2544 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง ร้อยตำรวจเอกเดชากับพวกจับกุมจำเลยทั้งสองพร้อมยึดได้เมทแอมเฟตามีน 45,800 เม็ด เงินจำนวน 21,000 บาท โทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง รถยนต์หมายเลขทะเบียน ฐฉ 1161 กรุงเทพมหานคร โทรทัศน์สี 1 เครื่อง เครื่องปรับอากาศ 1 เครื่อง และตู้เย็น 1 ตู้ เป็นของกลาง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานโอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 60 ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติเกี่ยวกับหน้าที่นำสืบในการกระทำความผิดดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะ เมื่อคดีนี้เป็นคดีอาญาโจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบ เพื่อให้รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้กระทำความผิดจริง แต่โจทก์มีเพียงร้อยตำรวจเอกเดชาผู้ร่วมจับกุมเบิกความเป็นพยานว่า เหตุที่ยึดทรัพย์สินของกลางเพราะฐานะของจำเลยทั้งสองไม่น่าที่จะมีทรัพย์สินของกลางได้ และสันนิษฐานว่าเงินจำนวน 21,000 บาท เป็นเงินที่จำเลยทั้งสองได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ซึ่งเป็นเพียงความเข้าใจของพยานโจทก์เอง แม้จ่าสิบตำรวจกิติศักดิ์ผู้ร่วมจับกุม และพันตำรวจโทณรงค์พนักงานสอบสวนเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองรับว่าใช้เงินที่ได้จากการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษซื้อทรัพย์สินของกลางก็ตาม แต่ร้อยตำรวจเอกเดชาก็มิได้เบิกความถึงคำรับของจำเลยทั้งสองและไม่มีการบันทึกคำรับของจำเลยทั้งสองไว้ในบันทึกการตรวจยึดทรัพย์สินเพื่อตรวจสอบเพื่อใช้เป็นหลักฐานดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง ส่วนพันตำรวจโทณรงค์ก็เบิกความลอย ๆ โดยโจทก์มิได้อ้างส่งบันทึกคำให้การของจำเลยทั้งสองเป็นพยาน คำเบิกความของจ่าสิบตำรวจกิติศักดิ์และพันตำรวจโทณรงค์จึงไม่มีน้ำหนักรับฟัง เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองก่อนถูกจับกุมว่า จำเลยทั้งสองมีพฤติการณ์จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจนมีรายได้นำไปซื้อทรัพย์สินของกลางและเป็นเหตุให้มีการไปตรวจค้นจับกุมจำเลยทั้งสองในวันเกิดเหตุ ลำพังจากการสอบสวนพบว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ประกอบอาชีพและจำเลยที่ 2 ประกอบอาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง จะสันนิษฐานว่าจำเลยทั้งสองไม่มีรายได้เพียงพอที่จะซื้อทรัพย์สินของกลาง ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ย่อมเป็นผลร้ายแก่จำเลยทั้งสอง ทั้งจำเลยทั้งสองก็นำสืบว่าจำเลยทั้งสองมีรายได้จากการขายข้าวแกง การเล่นแชร์ การให้ผู้อื่นกู้ยืมเงิน รับจำนำรถยนต์และกู้ยืมเงินจากบุคคลอื่น พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยทั้งสองรับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง.

Share