แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 56 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติให้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนและประสงค์จะขอรับประโยชน์ทดแทนให้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทน แต่ก็มิได้บัญญัติว่าหากไม่ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายในเวลาดังกล่าวจะมีผลทำให้สิทธิที่จะได้รับประโยชน์ทดแทนระงับสิ้นไป ดังนั้นระยะเวลาการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายในหนึ่งปีจึงเป็นเพียงกำหนดระยะเวลาเร่งรัดให้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนใช้สิทธิโดยเร็วเท่านั้นไม่ใช่บทบัญญัติตัดสิทธิ ซึ่งต่างจากมาตรา 56 วรรคสอง อันเป็นกรณีที่ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทน และสำนักงานประกันสังคมได้แจ้งให้บุคคลดังกล่าวมารับประโยชน์ทดแทนที่เป็นตัวเงินแล้ว แต่บุคคลดังกล่าวไม่มารับภายในสองปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ประโยชน์ทดแทนที่เป็นตัวเงินนั้นจึงจะตกเป็นของกองทุนประกันสังคม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 ที่ รง 0622/ปย.42261 ลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2546 และเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 214/2547 ลงวันที่ 9 เมษายน 2547 กับให้จำเลยมีคำสั่งจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพให้แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 ที่ รง 0622/ปย.42261 ลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2546 และเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 214/2547 ลงวันที่ 9 เมษายน 2547 กับให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2537 แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การที่โจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนต่อสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทน ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 56 วรรคหนึ่ง จำเลยต้องจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้ตามมาตรา 56 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติให้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนและประสงค์จะขอรับประโยชน์ทดแทนให้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็มิได้บัญญัติว่าหากผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนไม่ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายในเวลาดังกล่าว จะมีผลทำให้สิทธิที่จะได้รับประโยชน์ทดแทนระงับสิ้นไป ดังนั้นระยะเวลาการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายในหนึ่งปีดังกล่าวจึงเป็นเพียงกำหนดระยะเวลาเร่งรัดให้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนใช้สิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนโดยเร็วเท่านั้น ไม่ใช่บทบัญญัติตัดสิทธิแต่อย่างใด ซึ่งต่างกับกรณีที่ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจะไม่ได้รับประโยชน์ทดแทนจะต้องเป็นไปตามมาตรา 56 วรรคสอง อันเป็นกรณีที่ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทน และสำนักงานประกันสังคมได้แจ้งให้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนมารับประโยชน์ทดแทนที่เป็นตัวเงินแล้ว แต่บุคคลดังกล่าวไม่มารับภายในสองปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักงานประกันสังคม ประโยชน์ทดแทนที่เป็นตัวเงินนั้นจึงจะตกเป็นของกองทุนประกันสังคม กรณีของโจทก์เพียงแต่ได้รับแจ้งจากสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 ให้ไปยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนต่อสำนักงานประกันสังคมภายในหนึ่งปีตามมาตรา 56 วรรคหนึ่ง อันเป็นชั้นขอใช้สิทธิเท่านั้น มิใช่กรณีได้รับแจ้งให้ไปรับประโยชน์ทดแทนที่เป็นตัวเงินตามมาตรา 56 วรรคสอง ดังที่กล่าวมา ดังนั้น แม้โจทก์จะไม่ได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนต่อสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 ภายในหนึ่งปีก็ไม่ถูกตัดสิทธิที่จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน.