คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 645/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จะวินิจฉัยว่า ได้มีการเลียนแบบเครื่องหมายการค้ากันนั้น ไม่ใช่ว่าเครื่องหมายการค้าจะต้องเหมือนกันทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ต้องวินิจฉัยด้วยว่าเครื่องหมายการค้านั้นชวนให้เห็นว่ามีลักษณะทำนองเดียวกัน อันอาจทำให้ประชาชนหลงผิดได้หรือไม่ด้วย เมื่อเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นรูปลิงขี่ควาย แตกต่างกับรูปคนขี่ควายของโจทก์เพียงลิงกับคนซึ่งอยู่บนหลังควาย แต่ขนาดลักษณะท่าทางของลิงและคนบนหลังควายคล้ายคลึงกันมาก มองดูแล้วเห็นได้ว่า ลักษณะเกือบเหมือนกัน บุคคลธรรมดาทั่วๆ ไปอาจหลงเข้าใจผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ได้ การกระทำของจำเลยเป็นการเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์แล้ว
การที่จำเลยแสดงให้ปรากฏในเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ยังมิได้จดทะเบียนว่าจดทะเบียนแล้ว อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 มาตรา 45 นั้น เป็นความผิดต่อรัฐ โจทก์ซึ่งถูกจำเลยเลียนเครื่องหมายการค้าจึงมิได้เสียหายเป็นพิเศษเนื่องจากการกระทำผิดของจำเลยที่ฝ่าฝืนมาตรานี้แต่อย่างใด จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบการค้าทำโรงงานย้อมผ้าและตัดเย็บเสื้อกางเกงสำเร็จรูป จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “คนขี่ควาย” เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2504 ถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2504 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยบังอาจเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยใช้รูปลิงขี่ควายเป็นเครื่องหมายการค้ากำกับสินค้าของจำเลยในสินค้าจำพวกเดียวกับของโจทก์ นำออกจำหน่ายโดยเจตนาทุจริตหลอกลวงให้พ่อค้าประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ก่อให้เกิดสับสนและหลงผิด ทำให้โจทก์เสียหาย และตามวันเวลาเดียวกันจำเลยได้เสนอขายสินค้าใช้เครื่องหมายการค้าต่อนายทะเบียนว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้ว โดยบังอาจใช้อักษรจีนว่า “จือแฉะเซี่ยงเพียว” แปลเป็นไทยว่า “เครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้ว” โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นเครื่องหมายเท็จที่มิได้จดทะเบียน เหตุเกิดตำบลบางมัญ ตำบลในเมืองอำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90, 91, 272, 274, 275 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 3, 4, 27, 42 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2504 มาตรา 45ริบของกลาง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลจังหวัดสิงห์บุรีเห็นว่า จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งจดทะเบียนแล้ว เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยได้แสดงด้วยอักษรจีนในเครื่องหมายการค้าของจำเลยซึ่งยังมิได้จดทะเบียนว่าเป็นเครื่องหมายที่จดทะเบียนแล้ว มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 274 กระทงหนึ่งและพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 45 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2504 มาตรา 9 อีกกระทงหนึ่ง จำคุกกระทงละ 2 เดือน

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษให้หนัก จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่มีผิดและโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาได้พิเคราะห์เครื่องหมายการค้าที่พิพาทนี้แล้วเห็นพ้องกับศาลล่างทั้งสองว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับจำเลยมีลักษณะเหมือนคล้ายกัน โดยเฉพาะลักษณะควายมีหัว เขาหางและทำการเดินเหมือนคล้ายเกือบจะเป็นควายตัวเดียวกัน คงแตกต่างกันแต่ลิงกับคนซึ่งอยู่บนหลังควาย แต่ขนาด ลักษณะท่าทางของลิงและคนที่นั่งอยู่บนหลังควายคล้ายคลึงกันมาก เมื่อมองดูแล้วจะเห็นได้ว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยมีลักษณะเกือบเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์บุคคลธรรมดาทั่ว ๆ ไปอาจหลงเข้าใจผิดไปได้ว่าสินค้าใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 274 ที่จำเลยยกข้อแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าของจำเลยกับของโจทก์ขึ้นอ้างนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการที่จะวินิจฉัยว่า ได้มีการเลียนแบบเครื่องหมายการค้ากันนั้นไม่ใช่ว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองจะต้องเหมือนกันทุกสิ่งทุกอย่างหามิได้ แต่ต้องวินิจฉัยด้วยว่า เครื่องหมายการค้านั้นชวนให้เห็นว่ามีลักษณะทำนองเดียวกันอันอาจทำให้ประชาชนหลงผิดได้หรือไม่ด้วยฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น

ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 45 เพราะโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายนั้น มาตรา 45 มีความว่า “ผู้ใดแสดงเครื่องหมายการค้าซึ่งมิได้จดทะเบียนว่าเป็นเครื่องหมายการค้าแล้วก็ดี หรือขาย หรือเสนอขายสินค้าซึ่งมีเครื่องหมายที่ตนรู้อยู่ว่าเท็จเช่นว่ามานี้ก็ดีท่านว่าผู้นั้นมีความผิด ฯลฯ”

ศาลฎีกาเห็นว่า ความในมาตรานี้ ทางราชการมุ่งหมายจะควบคุมเครื่องหมายการค้า จึงได้บัญญัติความผิดไว้โดยเฉพาะ อันเป็นความผิดต่อรัฐ โจทก์มิได้เสียหายเป็นพิเศษเนื่องจากการกระทำผิดของจำเลยที่ฝ่าฝืนมาตรานี้แต่อย่างใด จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เทียบได้นัยฎีกาที่ 125/2485 ฎีกาจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น

พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 45 นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share