คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 638/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ถูกจับหาว่าวิวาทชกต่อยกัน ตำรวจเปรียบเทียบสั่งปรับไปแล้ว จำเลยซึ่งเป็นนายอำเภอได้สั่งให้ควบคุมตัวโจทก์ไว้ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 21 อีก 30วัน โดยมิได้มีการสอบสวนเกี่ยวกับพฤติการณ์บุคคลอันธพาลแต่อย่างใด ดังนี้ ย่อมเป็นการแสดงว่า ไม่มีการสอบสวนในข้อหาข้อใดแก่โจทก์อีก อำนาจควบคุมตัวโจทก์ 30 วันจึงไม่เกิด จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องจำเลยว่า เมื่อ 8 เมษายน 2505 เวลากลางคืน โจทก์ทั้งสองถูกตำรวจแจ้งหาว่า วิวาททำร้ายร่างกายกันไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตราย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 จำเลยเป็นนายอำเภอบ้านแหลม มีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์ ได้ปฏิบัติหน้าที่มิชอบทำรายงานเท็จว่าโจทก์เป็นบุคคลอันธพาล สั่งโดยพลการให้ควบคุมโจทก์ไว้ 30 วัน โดยอ้างประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 21 ความจริงโจทก์มิใช่บุคคลอันธพาล ตามพฤติการณ์แห่งคดีที่ถูกกล่าวหาไม่มีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมตัวโจทก์ไว้ โจทก์ต้องถูกควบคุมตัวไว้ 30 วัน ระหว่าง 30 วันนั้น จำเลยหรือพนักงานสอบสวนมิได้ทำการสอบสวนใด ๆ เกี่ยวกับความผิดที่โจทก์ถูกกล่าวหา โดยเจตนาหน่วงเหนี่ยวกักขังโจทก์ให้ปราศจากเสรีภาพ เหตุเกิดที่ตำบลและอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 310, 91

จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้ว่า โจทก์ประพฤติตนเป็นบุคคลอันธพาลและกระทำการอันเป็นการละเมิดต่อกฎหมาย จำเลยเป็นพนักงานสอบสวนมีอำนาจควบคุมตัวโจทก์ไว้ ทำการสอบสวนได้ไม่เกิน 30 วัน ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 21

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 310 ให้กำหนดโทษตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 1 ปี รอการลงโทษไว้ 3 ปี

นายเจือโจทก์กับจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกาว่า พนักงานสอบสวนมีอำนาจสั่งควบคุมบุคคลประพฤติตนเป็นอันธพาลตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 21 ได้

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว พนักงานสอบสวนจะมีอำนาจควบคุมบุคคลตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 21 ข้อ 1 ได้ ก็จะต้องปรากฏว่าบุคคลนั้นประพฤติตนเป็นอันธพาลหรือดำรงชีพด้วยการกระทำผิดต่อกฎหมายและได้กระทำการอันใดซึ่งเป็นการละเมิดต่อกฎหมาย แล้วจัดดำเนินการต่อไป เพื่อการนี้ถ้าปรากฏมีความจำเป็นต้องจับตัวมาควบคุมไว้เพื่อทำการสอบสวนในข้อหาใด ก็ให้ดำเนินการไปโดยเคร่งครัด เมื่อดังนี้พนักงานสอบสวนก็จะมีอำนาจควบคุมตัวไว้ทำการสอบสวนได้ไม่เกิน30 วันนับแต่วันเริ่มควบคุม คดีนี้ ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทั้งสองวิวาทชกต่อยกันไม่ถึงบาดเจ็บ ตำรวจจับตัวโจทก์ส่งร้อยตำรวจโทเต็ม ร้อยตำรวจโทเต็มสั่งปรับโจทก์คนละ 100 บาท ต่อมาจำเลยสั่งให้ร้อยตำรวจโทเต็มบันทึกเสนอจำเลย ร้อยตำรวจโทเต็มจึงบันทึกให้โดยมิได้มีความเห็นหรือเจตนาบันทึกขอให้จำเลยสั่งควบคุมโจทก์ในข้อหาอันธพาล ร้อยตำรวจโทเต็มบันทึกมีใจความเพียงว่าโจทก์วิวาทชกต่อยกันเนื่องจากหึงหวงแม่ค้า ทางสืบสวนได้ความว่านายมาลัยโจทก์มีความประพฤติไม่ค่อยจะดี จำเลยได้เขียนสั่งว่า”ให้ควบคุมไว้ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 21″ ดังนั้น โจทก์ทั้งสองจึงถูกควบคุมตัวไว้คนละ 30 วัน และฟังได้ว่าไม่มีหลักฐานอันแสดงว่าโจทก์เป็นบุคคลอันธพาล ภายหลังที่โจทก์ถูกจับมาในข้อหาว่าวิวาททำร้ายร่างกาย ก็มิได้มีการสอบสวนเกี่ยวกับพฤติการณ์ที่โจทก์เป็นบุคคลอันธพาล

ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวปรากฏว่า เมื่อโจทก์ถูกจับหาว่าวิวาทชกต่อยกันไม่ถึงบาดเจ็บเวลา 2 น. ร้อยตำรวจโทเต็มก็ได้สั่งปรับไปแล้ว ต่อมาจำเลยจึงควบคุมตัวโจทก์ไว้แต่ 8 เมษายน 2505 ถึง7 พฤษภาคม 2505 เป็นเวลา 30 วัน และในระหว่างนั้นก็มิได้มีการสอบสวนเกี่ยวกับพฤติการณ์ของบุคคลอันธพาลแต่อย่างใด ดังนี้จึงเป็นการแสดงว่า ไม่มีการสอบสวนในข้อหาข้อใดแก่โจทก์อีกและดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นต้องควบคุมตัวโจทก์ไว้เพื่อทำการสอบสวน และเมื่อคดีไม่มีหลักฐานว่า โจทก์เป็นบุคคลอันธพาล ดังนั้น อำนาจที่จะควบคุมตัวโจทก์ไว้ 30 วันจึงไม่เกิดขึ้น แม้จำเลยจะเป็นพนักงานสอบสวน แต่เมื่อไม่มีอำนาจควบคุมโจทก์ 30 วันดังกล่าวแต่จำเลยควบคุมโจทก์ไว้ 30 วันเช่นนี้ ย่อมชื่อว่าเป็นเจ้าพนักงานได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบต่อประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 21 ข้อ 1 เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ศาลล่างพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดมีเหตุสมควร

พิพากษายืน

Share