คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 363/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การพิจารณาว่าการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมอันเป็นเหตุให้นายจ้างต้องใช้ค่าเสียหายแก่ลูกจ้าง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯมาตรา 49 หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาที่เหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุจริงหรือไม่ และเหตุนั้นเป็นเหตุสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างหรือไม่ ซึ่งเหตุดังกล่าวอาจเป็นเหตุที่เกิดขึ้นจากการกระทำของลูกจ้างหรือเหตุอื่นที่ไม่ใช่ความผิดของลูกจ้างก็ได้ มิใช่ว่าเมื่อฟังว่าโจทก์ไม่ได้ทุจริตยักยอกทรัพย์ของบริษัทจำเลยผู้เป็นนายจ้างแล้วจะต้องถือว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมอยู่ในตัว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ถือโอกาสที่เป็นตัวแทนของผู้บริหารจำเลยขอเบิกและอนุมัติจ่ายเงินเดือนล่วงหน้าให้ตัวเองทุกเดือนรวม52 ครั้ง เป็นเงินกว่าล้านบาท ทั้ง ๆ ที่ทราบดีว่าจำเลยกำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินจนทำให้กิจการของจำเลยเสียหาย นับว่ามีเหตุผลเพียงพอที่ทำให้จำเลยไม่ไว้วางใจให้โจทก์บริหารกิจการของจำเลยต่อไป การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงมีเหตุอันสมควรและไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างที่ค้างค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ซึ่งจำเลยให้การว่าโจทก์ยักยอกเงินของจำเลยไปและตกลงจะผ่อนชำระคืน แต่ไม่ยอมชำระ จึงฟ้องแย้งให้โจทก์ชำระเงินที่ยักยอกไปคืนพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งสภาพแห่งข้อหาคือเหตุที่จำเลยมีสิทธิเหนือโจทก์เกิดจากการที่โจทก์ยักยอกเงินจำเลยไป โจทก์มีหน้าที่ต้องคืนเงินดังกล่าวแก่จำเลย ฟ้องแย้งดังกล่าวจึงแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ อีกทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯมาตรา 31 แล้ว ฟ้องแย้งจำเลยไม่เคลือบคลุม
การที่โจทก์จะยกเรื่องอำนาจศาลว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแรงงานหรือไม่นั้น โจทก์จะต้องยกเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การแก้ฟ้องแย้งเพื่อให้เป็นประเด็นข้อพิพาท เพื่อจะได้ส่งปัญหาดังกล่าวไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยก่อนที่ศาลแรงงานจะพิพากษาคดี ซึ่งคำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางนั้น พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 9วรรคสอง บัญญัติให้เป็นที่สุด เมื่อโจทก์มิได้ยกข้อต่อสู้ดังกล่าวไว้ในคำให้การแก้ฟ้องแย้งแสดงว่าโจทก์ยอมรับอำนาจของศาลแรงงานกลางที่จะวินิจฉัยเกี่ยวกับฟ้องแย้งของจำเลยได้ การที่โจทก์เพิ่งยกปัญหานี้ขึ้นมาในชั้นอุทธรณ์จึงล่วงเลยเวลาที่จะพิจารณาปัญหานี้แล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า วันที่ 11 ธันวาคม 2540 จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 123,000 บาท วันที่ 28 เมษายน2542 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า อ้างว่าโจทก์กระทำผิดกฎระเบียบและทุจริตนำเงินของจำเลยจำนวนประมาณ 500,000 บาท ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวโจทก์ไม่ได้กระทำผิดตามข้ออ้างดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมต่อโจทก์โจทก์ไม่ประสงค์จะทำงานกับจำเลยอีกต่อไป จำเลยค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 26กุมภาพันธ์ 2542 ถึงวันที่ 27 เมษายน 2542 ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 131,200 บาท ค่าจ้างค้าง 231,200 บาท ค่าชดเชย 369,000 บาทและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 369,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านับแต่วันฟ้องและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมนับแต่วันเลิกจ้าง ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีของค่าจ้างค้างและค่าชดเชยนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ กระทำผิดอาญาต่อจำเลยผู้เป็นนายจ้าง จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งของจำเลยกรณีร้ายแรง ความผิดเหล่านั้นคือการเบียดบังยักยอกทรัพย์ของจำเลยไปมากกว่า 500,000 บาท จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์โดยชอบ ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ชำระเงินที่เบียดบังยักยอกไปเป็นเงินต้น 653,952 บาท กับดอกเบี้ยถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2542 รวมเป็นเงิน 685,292 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 653,952 บาท นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ได้รับความยินยอมจากจำเลยให้มีอำนาจเบิกยืมเงินทดรองไปใช้ในกิจการงานของจำเลย จึงกระทำไปตามอำนาจหน้าที่มิใช่เป็นการละเมิดหรือผิดสัญญาจ้างต่อจำเลย จำเลยใช้สิทธิไม่สุจริตกลั่นแกล้งฟ้องแย้งโจทก์ฟ้องแย้งเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทุจริต และไม่เข้ากรณีใดกรณีหนึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(1) ถึง(5) โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากจำเลยเป็นเงิน 369,000 บาท แต่การที่โจทก์ซึ่งเป็นตัวแทนผู้บริหารงานของจำเลยทราบว่าจำเลยประสบปัญหาทางด้านการเงินมาโดยตลอดจนต้องขอรับเงินสนับสนุนจากบริษัทแม่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาโอนเงินผ่านธนาคารกสิกรไทย จำกัด เข้ามาเป็นรายวัน เฉลี่ยครั้งละประมาณ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ แทนที่โจทก์จะทุ่มเทบริหารงานเพื่อแก้ไขปัญหาขาดสภาพคล่องทางด้านการเงินของจำเลยโจทก์กลับเป็นผู้ขอเบิกและอนุมัติจ่ายเงินเดือนล่วงหน้าให้ตัวเองทุกเดือนรวม 52 ครั้งเป็นเงินถึง 1,039,500 บาท จึงเป็นการกระทำอันไม่สมกับการปฏิบัติหน้าที่และการได้รับมอบความไว้วางใจในฐานะผู้บริหารอันพึงกระทำให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตเป็นสาเหตุเพียงพอที่จะทำให้จำเลยไม่ไว้วางใจที่จะให้โจทก์ทำงานกับจำเลยต่อไป อีกทั้งไม่ใช่เป็นการกลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์ถือได้ว่ามีเหตุสมควรที่จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582และไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ จำเลยไม่ได้ค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ฟ้องแย้งของจำเลยแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับจึงเป็นฟ้องแย้งที่ไม่เคลือบคลุม โจทก์ค้างชำระหนี้แก่จำเลยทั้งสิ้นเป็นเงินรวม 1,039,500 บาท เมื่อหักเงินที่โจทก์ชำระคืนให้จำเลยแล้ว 473,491 บาทโจทก์จึงต้องชดใช้เงินคืนจำเลยอีก 566,009 บาท ตามเอกสารหมาย ล.8 และ ล.8/1พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์เป็นเงิน 369,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 28 เมษายน 2542) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้โจทก์ชำระหนี้แก่จำเลยเป็นเงิน 566,009 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย คำขออื่นนอกจากนี้ตามฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งจำเลยให้ยกเสียทั้งสิ้น

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์อุทธรณ์ในข้อ 2.1 พอสรุปได้ว่าหนี้ตามใบสำคัญจ่ายเอกสารหมาย ล.4 (ที่ถูกคือเอกสารหมาย ล.3) ฉบับลงวันที่ 3 มิถุนายน2541 จำนวน 67,925 บาท นั้น เป็นเงินที่โจทก์กู้จากจำเลยเป็นกรณีพิเศษ จำเลยคิดดอกเบี้ยเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ และหนี้จำนวนนี้เป็นหนี้อย่างอื่นมิใช่หนี้ตามสัญญาจ้างแรงงานนั้น ปรากฏว่าศาลแรงงานกลางก็พิพากษาให้โจทก์ชำระหนี้ตามใบสำคัญจ่ายดังกล่าวจำนวน 65,000 บาท ตามเอกสารหมาย ล.8 ซึ่งตรงกับต้นเงิน 65,000 บาท ในใบสำคัญจ่ายเอกสารหมาย ล.3 ฉบับลงวันที่ 3 มิถุนายน2541 ไม่ได้พิพากษาให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยในเงินจำนวนนี้ อุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นอุทธรณ์ที่มิได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นอ้างโดยชัดแจ้ง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีระเบียบให้พนักงานเบิกเงินเดือนล่วงหน้าเมื่อได้รับความเดือดร้อนในกรณีฉุกเฉินได้ นับแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2541 ถึงเดือนมีนาคม 2542 โจทก์เบิกเงินล่วงหน้ารวม 52 ครั้ง เป็นเงินรวม 1,039,500 บาท ตามเอกสารหมาย ล.3 เท่ากับศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าเงินที่โจทก์เบิกล่วงหน้าตามเอกสารหมาย ล.3 เป็นเงินเดือนที่โจทก์เบิกล่วงหน้าในกรณีฉุกเฉินตามระเบียบของจำเลยนั่นเอง ดังนั้นที่โจทก์อุทธรณ์ว่าเงิน65,000 บาท ซึ่งรวมอยู่ในเอกสารหมาย ล.3 เป็นเงินอื่น ไม่ใช่เงินตามสัญญาจ้างแรงงานจึงเป็นอุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมา ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน

ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อ 2.2 ที่ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นธรรมนั้น เห็นว่าการพิจารณาว่าการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมอันเป็นเหตุให้นายจ้างต้องใช้ค่าเสียหายให้แก่ลูกจ้างตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 49 หรือไม่ ต้องพิจารณาที่เหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุจริงหรือไม่ และเหตุนั้นเป็นเหตุสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างหรือไม่ ซึ่งเหตุดังกล่าวอาจเป็นเหตุที่เกิดขึ้นจากการกระทำของลูกจ้างหรือเหตุอื่นที่ไม่ใช่ความผิดของลูกจ้างก็ได้ มิใช่ว่าเมื่อฟังว่าโจทก์ไม่ได้ทุจริตยักยอกทรัพย์ของจำเลยไปแล้วจะต้องถือว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมอยู่ในตัวดังที่โจทก์อ้าง เมื่อปรากฏว่าโจทก์ถือโอกาสที่เป็นตัวแทนของผู้บริหารของจำเลยขอเบิกและอนุมัติจ่ายเงินเดือนล่วงหน้าให้ตัวเองทุกเดือนติดต่อกันรวม 52 ครั้ง เป็นเงินถึง 1,039,500 บาท ทั้ง ๆ ที่ทราบดีว่าจำเลยกำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินจนทำให้กิจการของจำเลยเสียหาย นับว่ามีเหตุผลเพียงพอที่ทำให้จำเลยไม่ไว้วางใจให้โจทก์บริหารกิจการของจำเลยต่อไป การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควรและไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

อุทธรณ์ของโจทก์ข้อ 2.3 ที่ว่าฟ้องแย้งของจำเลยเคลือบคลุมนั้น ได้ความจากคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยว่าตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2541 ถึงเดือนมีนาคม 2542โจทก์อาศัยความไว้วางใจที่จำเลยมอบหมายให้มีอำนาจบริหารงานของจำเลยเบียดบังยักยอกเงินของจำเลยไปมากกว่า 500,000 บาท และตกลงจะผ่อนชำระเงินดังกล่าวคืนแต่ไม่ยอมชำระ จำเลยจึงฟ้องแย้งให้โจทก์ชำระเงินที่เบียดบังยักยอกไป 653,952 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี เห็นว่า สภาพแห่งข้อหาซึ่งก็คือเหตุที่จำเลยมีสิทธิเหนือโจทก์เกิดจากการที่โจทก์เบียดบังยักยอกเงินของจำเลยไป 653,952บาท โจทก์มีหน้าที่ต้องคืนเงินดังกล่าวให้จำเลยจึงเป็นคำฟ้องแย้งที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับอีกทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 แล้ว ส่วนข้อเท็จจริงอื่นที่โจทก์อ้างว่าจำเลยต้องกล่าวมาในฟ้องแย้งด้วยนั้นเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณาฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เคลือบคลุม อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อ 2.4 ที่ว่าแม้โจทก์จะเบิกเงินเดือนล่วงหน้าไปจากจำเลยจริงศาลแรงงานก็ไม่มีอำนาจพิจารณาฟ้องแย้งของจำเลยนั้น เห็นว่า การที่โจทก์จะยกข้อต่อสู้เรื่องอำนาจศาลว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแรงงานหรือไม่นั้นโจทก์จะต้องยกเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การแก้ฟ้องแย้งเพื่อให้เป็นประเด็นข้อพิพาทจะได้ส่งปัญหาดังกล่าวไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยก่อนที่ศาลแรงงานจะพิพากษาคดี ซึ่งคำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางนั้นพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 9 วรรคสอง บัญญัติให้เป็นที่สุด เมื่อโจทก์มิได้ยกปัญหาเรื่องศาลแรงงานกลางไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับฟ้องแย้งของจำเลยไว้ในคำให้การแก้ฟ้องแย้งแสดงว่าโจทก์ยอมรับอำนาจของศาลแรงงานกลางที่จะวินิจฉัยเกี่ยวกับฟ้องแย้งของจำเลยได้ โจทก์เพิ่งยกปัญหานี้ขึ้นมาในชั้นอุทธรณ์ซึ่งล่วงเลยเวลาที่จะพิจารณาปัญหานี้แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”

พิพากษายืน

Share